Oppenheimer ภาพยนตร์ที่พาไปไต่สวนชีวิตบิดาแห่งระเบิดปรมาณู “เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์”
- ความปรารถนาตั้งต้นของโนแลน ที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer มาจาก ความหวาดกลัว ที่กระทบจิตใจของนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คนที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Manhattan Project เพราะพวกเขาพยายามไขความลับสุดซับซ้อนของทฤษฎีอะตอมแตกตัวที่นำไปสู่การสร้าง ระเบิดปรมาณู
- เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับฉายาว่าเป็น บิดาแห่งระเบิดปรมาณู หลังจากเขานำทีมนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิสร้างระเบิดด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ สำเร็จ ระเบิดปรมาณูที่ถูกใช้ทำลายพลเมืองที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
Oppenheimer ภาพยนตร์กำกับและเขียนบทโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่งพาผู้ชมเข้าห้องไต่สวน ชีวิต ความคิด การงาน จุดยืนทางการเมือง ตัวตนที่แท้จริง และจิตวิทยาเบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับฉายาว่าเป็น บิดาแห่งระเบิดปรมาณู หลังจากเขานำทีมนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิสร้างระเบิดด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ สำเร็จ ระเบิดปรมาณูที่ถูกใช้ทำลายพลเมืองที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ มันทำให้เขากลายเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย
คริสโตเฟอร์ โนแลน บอกถึงความตั้งใจในการทำหนังอิงประวัติผู้สร้างระเบิดปรมาณูเรื่องนี้ไว้ว่า เสนอแนว “จิตวิทยาระทึกขวัญ” โดย 3 ชั่วโมงของภาพยนตร์ Oppenheimer พาคนดูไปสะสางข้อสงสัยว่า อะไรทำให้ออพเพนไฮเมอร์เดินหน้าสร้างระเบิด และเขารู้สึกอย่างไรกับผลลัพธ์ของการทำลายล้างรุนแรง และเปิดประวัติศาสตร์ช่วงเวลาสำคัญ นั้นโดยเล่าเหตุการณ์คู่ขนานระหว่างกระบวนการสร้างระเบิดปรมาณูในแคมป์ที่ลอสอะลามอส และการไต่สวนคดีออพเพนไฮเมอร์ต้องสงสัยเป็นสายลับโซเวียตในช่วงหลังสงคราม
การดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาและการเผชิญหน้าระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฉายภาพแง่มุมส่วนตัว ชีวิตรัก ครอบครัว และความเป็นคาสโนวาของออพเพนไฮเมอร์ สะท้อนความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดและมุ่งมั่น เป็นคนที่กล้าแสดงจุดยืนของตัวเอง ความสัมพันธ์ของเขากับนายจ้างจากกองทัพและรัฐบาลสหรัฐฯ และวิธีการจัดการกับนักวิทยาศาสตร์หลากหลายความคิดและบุคลิกภาพในทีม
หนังสื่อสารเบื้องลึกจิตวิทยาของออพเพนไฮเมอร์ อิงเนื้อหาความเชื่อทางศาสนาที่มีอิทธิพลและเชื่อมกับจิตวิญญาณของการเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะช่วงฉากบทสนทนาริมบึงระหว่างออพเพนไฮเมอร์กับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เพียงสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยนัยทางความคิดต่อชีวิตและตัวตน
“เหตุการณ์เหล่านั้นมันเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ ผมอยากให้ผู้ชมได้มาอยู่ในห้องนั้น เหมือนเราอยู่ตรงนั้น ฟังบทสนทนากับตัวละครนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น ขณะที่เรื่องราวสำคัญๆ มันกำลังเกิดขึ้นอยู่” โนแลนกล่าว
คำถามสำคัญที่ถูกเสนอในหนังคือประเด็นความโปร่งใสและจริยธรรม ทั้งจริยธรรมจากตัวตนออพเพนไฮเมอร์ เพื่อนทีมงานนักวิทยาศาสตร์ ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางการทหาร และอุดมการณ์ทางการเมือง หนึ่งในนั้นคือคำถามว่า “ถ้า” สหรัฐฯ ยอมเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสเกี่ยวกับการทดลอง และสาธิตให้เห็นความร้ายแรงของระเบิดปรมาณูให้กับโซเวียต (ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นฝ่ายเดียวกัน) และถ้าสหรัฐฯ ใช้การขู่ญี่ปุ่นด้วยการเปิดเผยข้อมูลระเบิดความร้ายแรงมหาศาลนี้ ญี่ปุ่นจะยอมจบสงครามโดยไม่ต้องโดนระเบิดไหม และการตัดสินใจโดยคนกลุ่มเดียวที่อ้างในนามรักษาความมั่นคงของประเทศ โดยปฏิเสธข้อเสนอแนะของฝ่ายวิทยาศาสตร์ แน่นอนพลเมืองธรรมดาแทบไม่รู้เรื่องราวการสร้างอาวุธนั้นอย่างสิ้นเชิง มันถูกต้องแล้วหรือ
ในแง่ของตัวตนบุคคล หนังชี้โพรงคำตอบไว้ที่บทบาท ออพเพนไฮเมอร์ และนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้สร้างระเบิด ส่วนผู้มีอำนาจใช้ระเบิดคือนักการเมืองและทหาร แต่บทบาทเหล่านั้นจะตอบคำถามจริยธรรมได้หรือไม่
เพราะดูเหมือนว่าวาทกรรมสร้างอาวุธร้ายแรงที่สุดเพื่อหยุดสงครามทั้งมวลเกิดขึ้นเพียงชั่วอึดใจเดียว และมันยังมี “ความเป็นไปได้” อย่างไม่สิ้นสุดที่จะมีอาวุธร้ายแรงขั้นกว่าได้อีก Sarakadee Lite ชวนไปชม Oppenheimer ผ่าน 10 เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงภาพยนตร์กับเรื่องราวจริงทั้งสงคราม วิทยาศาสตร์ และชีวิตบิดาแห่งระเบิดปรมาณู เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
01 ใครคือ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ : Oppenheimer เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่พูดถึงเหตุการณ์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยเล่าเรื่องของสมรภูมิดันเคิร์ก การต่อสู้ของสหราชอาณาจักรอังกฤษกับนาซีเยอรมันในภาพยนตร์เรื่อง Dunkirk โดยภาพยนตร์ Oppenheimer (2023) เสนอในแนวจิตวิทยาเขย่าขวัญ บทภาพยนตร์อิงจากเนื้อหาหนังสือรางวัล พูลิตเซอร์ชื่อ American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer เขียนโดย KAI BIRD and the late MARTIN J. SHERWIN ที่เขียนถึงประวัติชีวิตและงานของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์ที่เป็นหัวหน้าทีมสร้างระเบิดปรมาณู หรือระเบิดนิวเคลียร์ หรือระเบิดอะตอม ที่กองทัพสหรัฐฯ ส่งไปถล่มเมืองนางาซากิและฮิโรชิมาจนญี่ปุ่นต้องยอมแพ้ ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 และ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1945
02 ไทม์ไลน์เหตุการณ์จริง : เหตุการณ์ในเรื่อง Oppenheimer เล่าคู่ขนานเหตุการณ์ในชีวิตของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ระหว่างเหตุการณ์สร้างระเบิดปรมาณู ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กับกระบวนการไต่สวนคดีภัยความมั่นคง ที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับโซเวียตและฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ช่วงหลังจากสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดถล่มญี่ปุ่นที่ฮิโรชิมาและนางาซากิแล้ว
03 จริยธรรมการของนักวิทยาศาสตร์ : กระบวนการสร้างระเบิดปรมาณูภายใต้โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) โครงการลับสุดยอด โดยทางกองทัพและรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เลือกออพเพนไฮเมอร์เป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิเพื่อแปลงทฤษฎีอะตอมแตกตัวมาเป็นระเบิดอะตอมหรือระเบิดปรมาณู ที่ค่ายลอสอะลามอส เมืองกลางทะเลทราย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนกระทั่งหลังจากวันที่ทิ้งระเบิด แม้ภายในทีมจะมีข้อขัดแย้งและการท้วงถามถึงจริยธรรมการใช้ความรู้มาสร้างอาวุธ แต่สุดท้ายคำถามที่ท้าทายว่า มันเป็นไปได้ไหม ก็ถูกปลดล็อกออกมาในที่สุด
04 จุดยืนของออพเพนไฮเมอร์ : จุดยืนของออพเพนไฮเมอร์หลังสร้างระเบิดปรมาณูสำเร็จและเห็นผลลัพธ์ที่ร้ายแรง เขาแสดงจุดยืนเป็น “นักวิทยาศาสตร์” ที่เชื่อว่าเขาทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาจนสุดความสามารถและความรู้ที่พิสูจน์ได้ พร้อมทั้งกล่าวเตือนถึงข้อดีและข้อเสียของระเบิดปรมาณู และแสดงจุดยืนทางการเมือง ต้องการให้มีการควบคุมการพัฒนาและผลิตอาวุธ ชี้แนะทางการสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลระหว่างประเทศ บอกความจริงกับประชาชน แต่จุดยืนนี้ขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองและการทหารขณะนั้น อดีตของออพเพนไฮเมอร์ที่มีสัมพันธ์หรือแสดงท่าทีฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ในอเมริกาจึงถูกรื้อฟื้นกลับมาและถูกตั้งข้อสงสัยเป็นสายลับโซเวียต (รัสเซีย)
05 หรือแท้จริงออพเพนไฮเมอร์คือสายลับโซเวียต : ออพเพนไฮเมอร์ถูกตั้งข้อหาเป็นสายลับโซเวียต กระบวนการเข้าห้องไต่สวน คดีภัยความมั่นคง ใน ค.ศ. 1954 (9 ปีหลังสร้างระเบิดสำเร็จ) ซึ่งออพเพนไฮเมอร์ถูกกล่าวหาเป็นสายลับโซเวียต หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง นาซีเยอรมันแพ้สงคราม จักรวรรดิญี่ปุ่นแพ้ราบคาบจากระเบิดปรมาณู และสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตกลายเป็นสองขั้วมหาอำนาจโลก และเดินหน้าทำสงครามเย็น แข่งขันด้านเทคโนโลยีอาวุธ และขยายอุดมการณ์การเมืองเสรีประชาธิปไตย ปะทะกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
06 แอปเปิลเขียวของออพเพนไฮเมอร์ : วิทยาศาสตร์กับความเชื่อทางศาสนา ในการถ่ายทอดเรื่องราว ความขัดแย้งและการไต่สวน ความบริสุทธิ์ของตัวตนผู้สร้างระเบิดปรมาณู Oppenheimer อ้างอิงความคิดที่มาจากความเชื่อทางศาสนาคริสต์ ในภาพยนตร์มีฉาก “แอปเปิลเขียวใส่โพแตสเซียมไซยาไนด์” ที่ออพเพนไฮเมอร์แอบใส่ยาพิษไว้ในผลไม้ คนดูจะตีความอย่างไรก็ได้ แต่เกร็ดเบื้องหลังคือ แอปเปิลเป็นผลไม้ต้องห้ามในสวนสวรรค์ของพระเจ้า (สวนอีเดน) ซึ่งอดัม บรรพบุรุษของมนุษย์ ละเมิดกฎขโมยแอปเปิล ในขณะเดียวกันการค้นพบ “แรงโน้มถ่วงโลก” ของ ไอแซก นิวตัน นักฟิสิกส์ มาจากการสังเกตเห็นผลแอปเปิลร่วงจากต้น
07 แรงบันดาลใจจาก ภควัทคีตา : คำคมของออพเพนไฮเมอร์ที่ถูกกล่าวอ้างในภาพยนตร์ หลังจากเขาทำการทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรกสำเร็จ ที่ว่า “บัดนี้ข้าพเจ้ากลายเป็นความตาย เป็นผู้ทำลายล้างโลก” คำคมของออพเพนไฮเมอร์ที่อ้างอิงจาก ภควัทคีตา วรรณคดีภาษาสันสกฤตของศาสนาฮินดูซึ่งออพเพนไฮเมอร์โปรดปราน และเรียนสันสกฤตอย่างจริงจังในช่วงทำงานที่มหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนีย
08 จากความรู้บริสุทธิ์สู่ส่งอาวุธสงคราม : การปรากฏตัวของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไอคอนแห่งวงการฟิสิกส์ในหนัง Oppenheimer เป็นจังหวะของการ ตั้งคำถามและหาคำตอบในเชิงปรัชญาและจิตวิทยาของออพเพนไฮเมอร์ ในช่วงฉากการสนทนาริมบึงของท่านผู้เฒ่าไอน์สไตน์กับออพเพนไฮเมอร์ ช่วงที่เขาเริ่มต้นแมนฮัตตันโปรเจกต์ ซึ่งตามประวัติศาสตร์เกิดขึ้นช่วง 40 ปีหลังจากไอน์สไตน์พิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพ อันเป็นต้นทาง “ความรู้บริสุทธิ์” ให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังถอดรหัสความรู้และส่งให้ทหารพัฒนาเป็นอาวุธสงครามในที่สุด
09 ไอน์สไตน์และระเบิดปรมาณู : ข้อเท็จจริง ไอน์สไตน์ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการสร้างระเบิดปรมาณู ในช่วงบั้นปลาย เขาได้ร่วมกับออพเพนไฮเมอร์และนักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล อย่าง แบร์ทรองด์ รัสเซล ก่อตั้ง World Academy of Art and Science สถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ไปทั่วโลก
10 การถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX : ในหนังยาว 3 ชั่วโมงนี้จะพาผู้ชมเข้าออกห้องประชุม ชมการปะทะทางความคิดอย่างดุเดือด ทั้งเรื่องหลักการและข้อขัดแย้งส่วนตัว หนังเล่าแง่มุมทางประวัติศาสตร์ผ่านตัวบุคคล การสื่อสารด้วยการแสดงอารมณ์ความรู้สึกและมุมภาพที่จับใบหน้าและการแสดงออกของตัวละครต่างๆ หนังออกมาในแนวจิตวิทยาระทึกขวัญ ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์เป็นผลจากการถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX ขนาด 65 มม. และกล้องฟิล์มภาพยนตร์ Panavision ขนาดใหญ่ 65 มม. และเป็นครั้งแรกของการถ่ายทำภาพยนตร์ภาพขาว-ดำระบบแอนะล็อกในฟอร์แมตกล้อง IMAX คำถามว่าการถ่ายทำด้วยกล้องฟิล์ม IMAX มันสำคัญอย่างไร ผู้กำกับตอบว่า
“เพราะความคมชัดของภาพ มันเป็นฟอร์แมตที่จะทำให้ผู้ชมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว Oppenheimer เรื่องมันใหญ่ ประเด็นใหญ่ ผลกระทบใหญ่ และเรื่องราวมันขยายวงไปไกลมาก ผมอยากให้ผู้ชมได้รู้สึกเหมือนเข้ามาอยู่ในห้องต่างๆ เหมือนได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ตอนที่ตัวละครสนทนาและตัดสินใจทำสิ่งที่มันสำคัญๆ นั้นด้วย”
Fact File
- ภาพยนตร์ Oppenheimer อ้างอิงจากบทประพันธ์ชื่อ American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer โดย ไค เบิร์ด และ มาร์ติน เจ เชอร์วิน เขียนบทเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ และ กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน
- ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย คิลเลียน เมอร์ฟี รับบทเป็น เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์, กับ เอมิลี่ บลันท์ นักแสดงสาวเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ รับบทเป็น คิทตี้ ออพเพนไฮเมอร์ ภรรยาของเขาที่เป็นทั้งนักชีววิทยา และนักพฤกษศาสตร์, พร้อมด้วย แมตต์ เดมอน นักแสดงชายเจ้าของรางวัลออสการ์ รับบทเป็น เลสลี โกรฟ ผู้อำนวยการโครงการ Manhattan Project, โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ นักแสดงชายที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว รับบทเป็น ลูอิส สเตราส์ สมาชิกผู้ก่อตั้ง คณะกรรมการพลังงานปรมาณูแห่งชาติ ของ สหรัฐอเมริกา (U.S. Atomic Energy Commission)
- ใครอยากไปลิ้มรส “แอปเปิลเขียวใส่โพแทสเซียมไซยาไนด์” ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน Oppenheimer เปิดฉายในโรงภาพยนตร์ทั้งในระบบไอแมกซ์และระบบปกติ เริ่มวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.2023 เป็นต้นไป