สไตล์คืนสู่อียิปต์ กระแสที่มาแรงในปารีส จากนโปเลียนสู่สถาปัตย์และการตกแต่งอย่างอียิปต์โบราณ
- แม้การยกทัพไปบุกยึดอียิปต์ในช่วง ค.ศ.1798-1801 ภายใต้การนำของ นโปเลียน โบนาปาร์ต จะพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่เขานำกลับมายังประเทศฝรั่งเศสคือความรู้และความเข้าใจในวัฒนธรรมและอารยธรรมอียิปต์โบราณจนนำไปสู่กระแส “สไตล์คืนสู่อียิปต์”
- สไตล์คืนสู่อียิปต์ มีอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งในประเทศฝรั่งเศสโดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และยังคงปรากฏร่องรอยอยู่จนทุกวันนี้
- นิทรรศการเกี่ยวกับฟาโรห์รามเสสที่ 2 มหาราช จัดแสดงที่กรุงปารีสตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566
แม้การยกทัพไปบุกยึดอียิปต์ในช่วง ค.ศ.1798-1801 ภายใต้การนำของ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte ภาษาฝรั่งเศสออกเสียงว่า “นโปเล-อง”) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายพลและเป็นผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสที่เรียกขานกันว่า ลาร์เม เดอ ลอ–รี–ย็อง (L’armé de l’Orient) หรือ กองทัพแห่งตะวันออก จะประสบกับความพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่ทางกองทัพของนโปเลียนนำกลับมายังประเทศฝรั่งเศสคือ อารยธรรมแบบอียิปต์โบราณ และนำไปสู่ความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนเกิดกระแสที่เรียกว่า Le Style Retour d’Egypte หรือแปลเป็นไทยได้ว่า สไตล์คืนสู่อียิปต์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งที่ยังคงปรากฏร่องรอยในฝรั่งเศสโดยเฉพาะในปารีสจนถึงทุกวันนี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือของ สไตล์คืนสู่อียิปต์ คือ ทางเข้า พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ที่ออกแบบเป็นรูปทรงพีระมิดแก้วและทางปีกทางทิศตะวันตก La Cour Carré ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ยังประดับตกแต่งด้วยรูปแกะสลักผู้คนแห่งลุ่มน้ำไนล์ เทพีไอซิสและรูปปั้นพระนางคลีโอพัตรา รวมไปถึงการตั้งชื่อถนนบางสายตามชื่อเมืองของอียิปต์ การสร้างทางเข้าอาคารบางแห่งเลียนแบบทางเข้าวิหารอียิปต์และประดับทางเดินเชื่อมอาคารด้วยรูปเทพีและภาพแกะสลักอักษรเฮียโรกลิฟิก
นอกจากนี้หนึ่งในแลนด์มาร์กของปารีสที่โดดเด่นด้วย สไตล์คืนสู่อียิปต์ คือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัส ปลัส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) มาจากเมืองลักซอร์ (Luxor) ซึ่งทางการอียิปต์ได้มอบเป็นของขวัญให้แก่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสและ ฌ็อง-ฟร็องซัว ช็องปอลียง (Jean-François Champollion) บุคคลสำคัญผู้เป็นคนแรกที่แปลอักษรเฮียโรกลิฟิกเป็นภาษาฝรั่งเศส
พ่ายแพ้ทางทหาร แต่ได้ชัยชนะในการสำรวจอารยธรรมอียิปต์โบราณ
กองทัพแห่งตะวันออกของนโปเลียนมีภารกิจเพื่อครอบครองดินแดนฝั่งตะวันออกและตัดเส้นทางการค้าของอังกฤษที่จะไปยังดินแดนแถบนั้น เพราะในขณะนั้นอังกฤษมีอิทธิพลเหนืออินเดีย หนึ่งในเคมเปญที่สำคัญคือ L’Expédition d’Egypte (ค.ศ. 1798-1801) เพื่อเป้าหมายทางทหารและทางการค้าและมุ่งหวังสำรวจความรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และอารยธรรมของอียิปต์โบราณไปในตัวด้วย
ในการเดินทัพครั้งนั้นมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา พฤกษศาสตร์ โบราณคดี และจิตรกรรม ร่วมเดินทางไปด้วยกว่า ร้อยคน ซึ่งคนฝรั่งเศสเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า เลส์ ซาฟว็องต์ (Les savants) แม้ว่าโดยหลักๆ แล้วเคมเปญทางทหารจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ถ้าเป็นการรบทางบกกองทัพของนโปเลียนจะเป็นผู้กำชัย แต่เมื่อไรที่เป็นการสู้รบทางเรือชัยชนะจะตกเป็นของฝ่ายกองทัพอังกฤษโดยเฉพาะการรบทางเรือที่เมืองอะบูกีร์ (Aboukir) ที่เรียกกันว่าสงครามแห่งลุ่มน้ำไนล์ (La bataille du Nil) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1798 ฝรั่งเศสกลายเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าจะเป็นผู้แพ้ทางการทหาร แต่นโปเลียนถือได้ว่าได้รับชัยชนะในการสำรวจและศึกษาอารยธรรมอียิปต์โบราณซึ่งฝรั่งเศสได้มีการค้นพบศิลปวัตถุและศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ ของอารยธรรมอียิปต์เป็นอย่างมาก จนก่อให้เกิดคำว่า อียิปต์วิทยา (L’égyptologie) ที่มุ่งเน้นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และอารยธรรม จนเรียกได้ว่าในช่วงของนโปเลียนนั้นเป็นต้นกำเนิดของอียิปต์วิทยาและเกิดเป็นกระแสของ อียิปต์มาเนีย (L’égyptomanie) ซึ่งเป็นความนิยมหลงใหลในทุกอย่างที่เป็นอียิปต์ โดยเฉพาะในด้านแฟชั่น สถาปัตยกรรม การออกแบบตกแต่งประดับประดาที่เฟื่องฟูสุดๆ จนเรียกขานกันว่าเป็นยุคทองของ สไตล์คืนสู่อียิปต์ ( Le Style Retour d’Egypte) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18
สไตล์คืนสู่อียิปต์ คืออะไร
สถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งแบบอียิปต์โบราณมักมีการประดับประดาอาคารทั้งภายในและภายนอกด้วยรูปปั้นของเทพเจ้าหรือเทพีของชาวอียิปต์โบราณ มีการสร้างทางเข้าอาคารเลียนแบบทางเข้าวิหารอียิปต์ ตกแต่งด้วยลวดลายแบบพีระมิด สฟิงซ์ หรืออักษรเฮียโรกลิฟิก เป็นต้น ส่วนสีที่ใช้ในการตกแต่งลวดลายต่างๆ นิยมใช้สีทองเป็นหลัก
ทุกอย่างเกี่ยวกับอียิปต์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกรุงปารีสในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตกแต่งอาคารสถานที่หรืออนุสรณ์สถานสำคัญๆ หลายแห่งก็ได้รับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมอียิปต์โบราณ แม้แต่ชื่อถนนก็ยังมีการตั้งชื่อตามเมืองของอียิปต์ด้วย อาทิ Rue du Caire, Rue Aboukir, Rue Alexandrie, Rue du Nil ที่อยู่ในเขต 2
Sarakadee Lite ขอแปะพิกัดสถานที่ที่น่าสนใจซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลอารยธรรมอียิปต์โบราณในเมืองปารีสพร้อมกับพาไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับฟาโรห์รามเสสที่ 2 มหาราชผู้สร้างพระราชวังและอนุสรณ์สถานมากมายซึ่งจัดแสดงที่ La Grande Halle de La Villette ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566
01 Passage du Caire
คำว่า ปาสซาส (passage) ถ้าจะแปลตรงๆแล้วก็คือ ทางเดินที่เชื่อมติดกันสามารถเดินทะลุจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งได้ ไม่ใช่ทางตัน แต่มีทางเข้าออกได้หลายทาง และถ้าหากด้านบนมีหลังคาซึ่งส่วนใหญ่จะทำด้วยกระจกหรือแก้วจะเรียกว่า ปาสซาส กูฟร์แวต์ (passage couvert) แต่ถ้าไม่มีหลังคาจะเรียกว่า ปาสซาส
ปาสซาส ดู แกร์ (Passage du Caire) เป็นปาสซาส กูฟร์แวต์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งสร้างเมื่อ ค.ศ. 1798 และยาวถึง 370 เมตร นับว่าเป็นปาสซาส กูฟร์แวต์ที่ยาวที่สุดในปารีส ในอดีตที่นี่เป็นศูนย์รวมของโรงพิมพ์และร้านปักสกรีนลงบนวัสดุต่างๆ รวมทั้งลงบนแผ่นหิน ปัจจุบันเป็นแหล่งรวมร้านขายส่งเสื้อผ้าและร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บ แม้ว่าจะยังมีร้านปักสกรีนหรือโรงพิมพ์บางแห่งยังคงเปิดดำเนินกิจการอยู่ แต่ก็ไม่คึกคักและมีจำนวนไม่มากเหมือนเช่นในอดีต ชื่อ “ปาสซาส ดู แกร์” นี้ถูกตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์ของชัยชนะของทัพนโปเลียนเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1798 ที่เมืองไคโรซึ่งภาษาฝรั่งเศสออกเสียงเมืองนี้ว่า “แกร์” (Caire) ซุ้มด้านหน้าของอาคารทางเข้าตกแต่งด้วยรูปจำลองของเทพี Hathor ที่เป็นเทพีแห่งความรัก ความงาม และความสุข และยังมีภาพแกะสลักอักษรเฮียโรกลิฟิกบริเวณทางเข้าด้านจัตุรัส Place du Caire ที่แกะสลักไว้เมื่อ ค.ศ. 1828
พิกัด : 2 Place du Caire, 16 rue du Caire, 239 rue Saint-Denis 75002 Paris
02 Fontaine du Fellah
น้ำพุเฟลล่าห์ (Fontaine du Fellah) ออกแบบโดย ฟร็องซัวส์ ฌ็อง บราล (François Jean Bralle) และแกะสลักโดย ปิแยร์–นิโกล่าส์ โบวาเล่ต์ (Pierre-Nicolas Beauvalet) ใน ค.ศ. 1806 โครงสร้างของน้ำพุแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวิหารสไตล์อียิปต์และตกแต่งด้วยรูปปั้นของชายหนุ่มที่มีทรงผมแบบชาวอียิปต์กำลังยืนรินน้ำจากเหยือกอยู่บนฐานหิน กล่าวกันว่ารูปปั้นนี้จำลองมาจากรูปปั้นของอันติโนส (Antinoos) ชายหนุ่มผู้ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิแฮเดรียน (Hadrian) แห่งจักรวรรดิโรมันในช่วงประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 ส่วนบนของน้ำพุแทนที่จะเป็นรูปวงกลมพระอาทิตย์แบบมีปีกสองข้างเหมือนวิหารในอียิปต์ แต่กลับประดับด้วยรูปของนกอินทรีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนโปเลียน ปัจจุบันน้ำพุแห่งนี้เป็นน้ำพุแค่ชื่อเท่านั้น เพราะไม่มีน้ำไหลออกมาจากเหยือกอีกแล้ว
พิกัด : 42 rue de Sèvre 75007 Paris
03 Fontaine du Palmier/Fontaine du Châtelet
น้ำพุปาล์มมิเย่ร์ หรืออีกชื่อคือ น้ำพุชาเตอเล่ต์ (Fontaine du Palmier/Fontaine du Châtelet) สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1808 โดยมี ฟร็องซัวส์ ฌ็อง บราล (François Jean Bralle) เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ส่วน หลุยส์–ซิมง บัวโซต์ (Louis-Simon Boizot) เป็นผู้แกะสลัก วัตถุประสงค์หลักในการสร้างเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภคฟรีสำหรับชาวปารีสในสมัยนั้น และเป็นอนุสรณ์ของชัยชนะทางสงครามของนโปเลียนด้วย ตัวของน้ำพุจะเป็นเสาหินสูง 22 เมตร ตกแต่งประดับด้วยใบไม้ และมีการสลักชื่อสถานที่ที่นโปเลียนยกทัพไปทำสงครามและได้รับชัยชนะทั้งในอิตาลี อียิปต์ และที่อื่นๆ เช่น Lodi, Pyramides Marengo, Ulm และ Dantzick เป็นต้น ด้านบนยอดเสาเป็นรูปเทพีแห่งชัยชนะสีทองมีปีกสองข้าง ในมือถือมงกุฎที่ทำจากใบกระวานที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ รูปปั้นเทพีแห่งชัยชนะนี้เป็นรูปปั้นที่ทำขึ้นมาใหม่ ส่วนของจริงนั้นปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์การ์นาวาเล่ต์ (Musée Carnavalet) ตรงบริเวณฐานของน้ำพุมีรูปปั้นของสฟิงซ์อารักขาแอ่งน้ำอยู่ทั้ง 4 ทิศ
พิกัด : Place du Chatelet 75001 Paris
04 La Cour Carré
ปีกทางทิศตะวันตกของ ลานกา (La Cour Carré) ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ปรากฏให้เห็นร่องรอยของอารยธรรมอียิปต์โบราณด้วยเช่นกัน เมื่อมองขึ้นไปด้านบนจะเห็นว่ามีรูปแกะสลักของผู้คนแห่งลุ่มน้ำไนล์ที่เป็นรูปชายหนุ่มผมยาวยืนเหยียบบนหัวจระเข้และในมือถือเหยือกที่มีน้ำไหลออกซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ฟิลิปป์-โลคร็องต์ โครล็องด์ (Philippe-Laurent Roland) ใน ค.ศ. 1806
ถัดไปทางด้านซ้ายมือมีรูปสลักของเทพีไอซิสที่สวมมงกุฎเขาวัวและมีวงกลมที่เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ที่มีดอกบัวผุดขึ้นมาตรงกลาง แต่งกายด้วยผ้านุ่งสไตล์อียิปต์ ในมือถือเครื่องดนตรีของอียิปต์มีลักษณะคล้ายพิณ ที่บริเวณไหล่ซ้ายมีเหยี่ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าฮอรัส (Horus) ที่เป็นบุตรของพระนางเกาะอยู่ รูปแกะสลักนี้เป็นผลงานของ ฌ็อง-กิโยม มวตต์ (Jean-Guillaume Moitte) และใกล้ๆ กันมีรูปปั้นของพระนางคลีโอพัตราที่ในมือถืองูเห่า บนศีรษะสวมมงกุฎที่มีงูเห่าพันอยู่รอบอันเป็นผลงานของ แฟร์ดิน็องด์ แฟฟเวอร์ (Ferdinand Faivre) ตกแต่งเพิ่มเติมขึ้นมาใน ค.ศ. 1902
พิกัด : Cour Carrée, Musée du Louvre 75001 Paris
05 Obélisque de Louxor
เสาหินโอเบลิสต์ (Obélisque de Louxor) เป็นเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัสปลาส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) มีความสูง 23 เมตร และหนักถึง 222 ตัน ตามประวัติกล่าวว่าเสาหินแท่งนี้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวิหารเทพอามุน (หรืออามงในภาษาฝรั่งเศส) ในเมืองลักซอร์ (หรือลุกซอร์ตามการออกเสียงแบบฝรั่งเศส) ซึ่งทางรัฐบาลอียิปต์ในขณะนั้นโดยสุลต่านและผู้สำเร็จราชการ เมเฮเม่ต์ อาลี (Méhémet Ali) ได้มอบเป็นของขวัญเพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสที่ให้ความช่วยเหลือแก่อียิปต์ในด้านต่างๆ และเพื่อแสดงความขอบคุณ ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ช็องปอลียง (Jean-François Champollion) ที่สามารถแปลอักษรเฮียโรกลิฟิกเป็นภาษาฝรั่งเศสได้คนแรก
เสาหินนี้มีน้ำหนักมากถึง 230 ตัน และมีความสูง 22 เมตร ทำให้ฝรั่งเศสต้องต่อเรือขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะและตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า ลุกซอร์ (Louxor) การขนย้ายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีและอีก 9 เดือน กว่าจะสามารถนำเสาหินแท่งนี้กลับมาที่ปารีส หลังจากนั้นอีก 3 ปีถึงจะมีการนำเสาหินนี้มาตั้งไว้ที่ Place de la Concorde ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1836 ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 1 (Louis-Philippe 1er)
แม้ว่าทางอียิปต์จะมอบเสาหินทั้งสองต้นที่ตั้งอยู่หน้าวิหาร แต่ด้วยความยากลำบากในการขนย้ายทำให้ทางการฝรั่งเศสได้มอบเสาหินต้นที่เหลืออยู่คืนให้กับทางการอียิปต์ไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1981 อย่างเป็นทางการในสมัยของประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ มิตเตคร็องด์ (François Mitterrand) และเสาหินที่เป็นคู่แฝดของเสาหินสีชมพูที่ปารีสนี้ปัจจุบันก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิมในประเทศอียิปต์
พิกัด : Place de la Concorde 75008 Paris
06 Monument des droits de l’Homme du jardin du Champ-de-Mars
อนุสาวรีย์สิทธิมนุษยชน สวนฌ็อง เดอ มาร์ส (Monument des droits de l’Homme du jardin du Champ-de-Mars) สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 200 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1989 ทางกรุงปารีสได้มอบหมายให้ อิว็องต์ เตเมอร์ (Ivan Theimer) สถาปนิกชาวเช็กเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิมนุษยชนขึ้นที่บริเวณถนนชาร์ล-รีส์เลอ (L’avenue Charles-Risler) ที่มีการออกแบบคล้ายๆ กับวิหารขนาดเล็กของอียิปต์ที่มีบันไดทางขึ้นสองด้านของฝั่งถนน แต่ละด้านของตัววิหารยังมีการสลักชื่อและสัญลักษณ์ของเมืองหลวงของประเทศในสหภาพยุโรปในสมัยนั้น รวมถึงข้อความที่แสดงถึงสิทธิมนุษยชนไว้อีกด้วย
พิกัด : Avenue Charles Risler 75007 Paris
07 Le cinéma Louxor
โรงภาพยนตร์ลุกซอร์ (Le cinéma Louxor) สร้างขึ้นใน ค.ศ.1920-1921 โดยมี อองครี ซิปซี่ (Henri Zipcy) เป็นผู้ออกแบบ บริเวณด้านหน้าของโรงภาพยนตร์ตกแต่งสไตล์นีโออียิปต์และประดับด้วยโมเสกหลากสีหลากลวดลายทั้งลายดอกไม้ ลายแมลงทับ ลายงู และลวดลายวงกลมขนาดใหญ่มีปีกสองข้างที่แสดงถึงสัญลักษณ์แห่งดวงอาทิตย์ บริเวณด้านหน้าและตัวหลังคาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1986-1988 โรงภาพยนตร์ลุกซอร์ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นดิสโกเทก และ ค.ศ. 2003 ทางกรุงปารีสได้ซื้อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้และทำการปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. 2013
พิกัด : 170 boulevard de Magenta 75010 Paris
08 Pyramide du Louvre
เมื่อ ค.ศ. 1981 ประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ มิตเตคร็องด์ (François Mitterrand) เป็นผู้เริ่มเมกะโปรเจ็คที่เรียกว่า Le Grand Louvre เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนโฉม และปรับทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ให้มีความทันสมัยพร้อมทั้งเป็นการขยายขนาดพื้นที่ในการจัดแสดงศิลปวัตถุในคอลเลกชันถาวรให้มีขนาดพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่รองรับผู้เข้าชมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นอะไรที่ผู้คนสามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดและเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของตัวคอมเพล็กซ์ที่ต้องยิ่งใหญ่และสวยงาม
สถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง คือ เอียวหมิงเป่ย (Ieoh Ming Pei) สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนซึ่งได้รับการมอบหมายงานอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีมิเตอร์ครองเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1983 เขาได้วางแปลนของทางเข้าหลักของลูฟวร์ที่อยู่บริเวณชั้นใต้ดินโซนของลานนโปเล-อง (Cour Napoléon) ให้เป็นจุดเชื่อมและเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางที่ให้ผู้ที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้วสามารถเข้าตัวอาคารทั้งสามฝั่งอันได้แก่ Denon, Sully และ Richelieu ได้โดยตรง
เอีย หมิงเป่ย ได้ให้ความสำคัญกับทุกแกน ทุกมุม เรียกได้ว่าเคารพหลักเรขาคณิตของตัวอาคารอย่างมากที่สุด เหนือสิ่งอื่นใดเขาได้ออกแบบให้มีโครงสร้างที่โปร่งแสงซึ่งจะทำให้ตัวอาคารด้านล่างมีแสงสว่างส่องเข้าไปด้านในและให้ความรู้สึกโปร่งสบายให้มากที่สุด ในที่สุดแบบของทางเข้านี้ก็ออกมาในรูปของพีระมิดแก้วแบบอียิปต์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1989 ประธานาธิบดีมิตเตครองค์เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้ในวันรุ่งขึ้น
ปัจจุบันพีระมิดนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปมากเป็นอันดับที่ 3 ของพิพิธภัณฑ์รองจากภาพโมนาลิซา และรูปปั้นวีนัส เดอ มิโล พีระมิดแก้วนี้มีทั้งหมดห้าพีระมิดด้วยกัน แต่หากมองจากด้านบนหรือด้านนอกของตัวอาคารคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าสถาปนิกได้สร้างแค่สี่พีระมิด อย่างไรก็ตามหากคุณลงไปภายในตัวอาคารด้านล่างของ Cour Napoléon คุณจะพบพีระมิดที่ 5 ที่วางแบบกลับหัวกลับหางอยู่
สำหรับผู้ที่สนใจและหลงใหลในอารยธรรมอียิปต์โบราณสามารถต่อยอดความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, Aile Sully ชั้น 0 และ 1 โซน Antiquité Égypte
พิกัด : Musée du Louvre 75001 Paris
09 นิทรรศการย้อนรอยฟาโรห์รามเสสที่ 2
จากกระแส สไตล์คืนสู่อียิปต์ ตอนนี้วัฒนธรรมอียิปต์โบราณได้เดินทางสู่ปารีสตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ ลา กรองด์ อาลล์ เดอ ลาวิลแลต (La Grande Halle de La Villette) มีการจัดแสดงนิทรรศการ “RAMSES & L’OR DES PHARAONS” (ครามเสส & ลอร์ เดส์ ฟาครา-องส์) ซึ่งจะเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติของฟาโรห์รามเสสที่ 2 หรือรามเสสมหาราช ( Ramsès Le Grand) ที่มิใช่แค่นักรบผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นนักการทูตผู้เจรจาสันติภาพของสนธิสัญญาสันติภาพฉบับแรกของโลกระหว่างอียิปต์กับฮิตไตท์ (Hittite) และยังเป็นมหาราชผู้สร้างพระราชวังและอนุสรณ์สถานมากมาย อาทิ วิหารเทพเจ้าเมืองลักซอร์ (Temple de Louxor) บางส่วนของวิหารที่เมืองคาร์นัก (Temple de Karnak) และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือวิหารอะบูซิมเบล (Temple d’Abou Simbel)
นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่ชีวิตของพระองค์ เหตุการณ์สำคัญในช่วงรัชสมัย รวมถึงผู้สืบทอดรุ่นต่อๆ มาผ่านข้าวของเครื่องใช้และหลักฐานทางศิลปวัตนธรรม อาทิ หีบศพ มัมมีสัตว์ต่างๆ หน้ากากทองคำ เครื่องประดับ รูปปั้น รูปแกะสลัก และเครื่องรางของขลังต่างๆ จำนวนถึง 180 ชิ้น รวมถึงจัดโซนเสมือนจริง (Virtual Reality) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและต้องการสัมผัสกับประสบการณ์ในการเยี่ยมชมวิหารอะบูซิมเบลและหลุมศพของพระนางเนเฟอร์ตารี (Néfertari) มเหสีคนโปรด
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ค่าเข้าชมเริ่มต้นที่ 20 ยูโร และเด็กอายุไม่เกิน 4 ขวบเข้าชมฟรี หากเข้าชมในโซน Virtual Reality จ่ายเพิ่มอีก 15 ยูโร สามารถสำรองบัตรล่วงหน้าได้ที่ https://www.ticketmaster.fr/en/liste/ramses/idtier/33206473 และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการ https://www.expo-ramses.com/lexposition/ (ภาษาฝรั่งเศส)
พิกัด : La Grande Halle de la Villette, Parc de la Villette 211 Avenue Jean Jaurès 75019 Paris เมโทรสาย 5 สถานี Porte de Pantin
อ้างอิง
- Le journal de l’exposition « RAMSES & L’OR DES PHARAONS », Double 8 media SAS, Paris, Mars 2023.
- Louvre édition, Beaux Arts, Tout le Louvre : Les chefs-d’œuvre/L’histoire du palais/L’architecture, édition en Français
- Archives d’Architecture Modern Éditions, Le Louxor Palais Du Cinéma, Bruxelles 2013.
- https://www.cirkwi.com/fr/point-interet/164688-la-fontaine-du-palmier
- https://www.unjourdeplusaparis.com/paris-reportage/histoire-obelisque-louxor-paris
- https://www.pariszigzag.fr/insolite/lieux-insolites/legypte-a-paris-sur-les-traces-des-vestiges-egyptiens-qui-peuplent-la-capitale
- https://www.parissurunfil.com/egypte-a-paris-influences-architecturales-et-symboliques/
- https://www.lumni.fr/article/le-style-retour-d-egypte-l-influence-dans-l-art-de-l-expedition-de-bonaparte
- https://www.paris.fr/pages/deambulations-egyptiennes-a-paris-18797
- https://www.pariszigzag.fr/insolite/histoire-insolite-paris/le-voyage-de-lobelisque-de-la-concorde