เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ : บทกวีจิ๊กซอว์แห่งอภิปรัชญาของ เฮราไคลตัส
- เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ (Fragments) เป็นหนังสือรวบรวมเสี้ยวข้อความที่เหลืออยู่จากนิพนธ์ของ เฮราไคลคัส (Heraclitus) ปรัชญาเมธียุคก่อน โสกราตีส โดดเด่นด้วยข้อเสนอเชิงอภิปรัชญาที่มุ่งเน้นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง
- เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ เป็นผลงานหนังสือของสำนักพิมพ์สมมติ โดดเด่นด้วยการออกแบบและคัดเลือกต้นฉบับที่น่าสนใจชวนขบคิด
เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ หรือชื่อต้นฉบับ Fragments หนังสือรวบรวมเสี้ยวข้อความที่เหลืออยู่จากนิพนธ์ของ เฮราไคลตัส (Heraclitus) ปรัชญาเมธียุคก่อน โสกราตีส โดย เฮราไคลตัส มีชีวิตอยู่ระหว่าง 536-475 ปีก่อนคริตสกาล เป็นผู้ที่โดดเด่นด้วยข้อเสนอเชิงอภิปรัชญาเพื่อมุ่งเน้นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง โดยในยุคเดียวกันนั้นมีนักปรัชญาเมธีคนสำคัญร่วมสมัยที่เป็นที่รู้จักอย่าง พิทาโกรัส (Pythagoras) ปาร์เมนิเดส (Parmenides) และ อะแนกซิเมนีส (Anaximenes)
ยุคสมัย ก่อนโสกราตีส เป็นการจัดระเบียบประวัติศาสตร์เพื่อย้ำว่า โสกราตีส (Socratic) ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตกเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางความคิดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในยุคสมัยนั้นจนทำให้เกิดยุคก่อนและหลังการปรากฏตัวของ โสกราตีส ผู้เลื่องชื่อในแขนงทางปรัขญาที่ว่าด้วยศาสนธรรม จริยธรรม การเมือง และวิธีวิทยาแบบวิภาษวิธี อันเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาปรัชญาตะวันตกหรือปรัชญากรีกในยุคหลัง โสกราตีส ต่อมา
ด้วยความเลื่องชื่อของ โสกราตีส นี้เองทำให้เกิดการแบ่งช่วงยุคก่อนและหลัง โสกราตีส และนำมาเป็นเกณฑ์การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ปรัชญาในประวัติศาสตร์นิพนธ์เชิงปรัชญาหลายฉบับ โดยในยุคก่อน โสกราตีส นั้นครอบคลุมการจัดระเบียบถึงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ปรัชญากรีกบริเวณ ไอโอเนีย (Ionia) ที่รุ่งเรืองทั้งวิทยาการและเศรษฐกิจ และก็ชัดเจนว่าวิทยาการและเศรษฐกิจเติบโตขึ้นจากผู้คนที่เป็นผู้อิ่มท้อง ปลอดภัย จนสามารถแสวงหาคิดวิเคราะห์สิ่งที่ไกลกว่าการดำรงชีวิตพื้นฐานได้ และนั่นก็เป็นปัจจัยสำคัญของบ่อเกิดทางความคิดในมนุษย์
ในยุคก่อนโสกราตีส ก่อเกิดปรัชญาเมธีจำนวนหนึ่งที่ถือเรียกเอาภายหลังว่าผู้ศึกษา “อภิปรัชญา” โดยคำนี้ใช้เรียกปรัชญาที่มุ่งเน้นพินิจปัญหาพื้นฐานของ การมีอยู่ (being) อาทิ อะไรคือธรรมชาติ? อะไรคือเสรีภาพ? อะไรคือความจริง? อะไรคือพระเจ้า? และมีจริงหรือไม่? โดยปัญหาพื้นฐานที่ไม่อาจสรุปเหล่านี้ถูกเรียกรวมๆ เป็นปัญหาของ อภิปรัชญา ซึ่ง เฮราไคลตัส ก็คือผู้ที่เสนอเรื่องนี้เช่นกัน โดยมรดกทางความคิดของ เฮราไคลตัสถ่ายทอดอยู่ในงานเขียนชิ้นสำคัญ ว่าด้วยธรรมชาติ (On Nature) ที่บรรจุแนวคิดเกี่ยวกับจักรวาล การเมือง จริยธรรม และทฤษฎีอื่นๆ ไว้ ซึ่งในปัจจุบันงานเขียนอันลือเลื่องชิ้นนี้กระจายสูญหายตกหล่นไปตามกาลเวลา แต่โชคดีที่บางส่วนได้รับการรวบรวมเป็น เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ (Fragments) หนังสือเล่มที่เป็นหลักฐานทางความคิดชิ้นสำคัญเล่มหนึ่งของยุคก่อนโสกราตีส เป็นการรวบรวมเศษเสี้ยวเท่าที่เหลือของตัวบทเต็มที่รอดมาจากการเดินทางในกาลเวลาของ เฮลาไคลตัส ที่มีอายุนับพันปีสู่ผู้อ่านในยุคปัจจุบัน
ความน่าสนใจของ เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ ในฐานะวรรณกรรมทางปรัชญาคือ การที่มันเป็นเสี้ยวประโยคที่เหลือรอดมาให้ผู้อ่านได้คิด ปะติดปะต่อ ค้นคว้า รวมทั้งการพยายามทำความเข้าใจกับข้อเสนอ แนวคิดของ เฮราไคลตัส ที่หลงเหลือเพียงถ้อยคำสั้นๆ อันกระจัดกระจาย ทั้งยังเป็นการอ่านที่ชวนย้อนไปทำความเข้าใจในบริบททางยุคสมัยและกรอบคิดอภิปรัชญายุคนั้น หรือผูกกับกรอบความคิดจากประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลัก หรือใครจะอ่านแบบทำความเข้าใจจากบริบทส่วนตนโดยไม่ผูกมัดกับยุคสมัยก็ย่อมได้ซึ่งนี่คือความสนุกของหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ เป็นทั้งวรรณกรรมเชิงบันทึกความคิดของ เฮราไคลตัส และเป็นบทกวีทางปัญญาที่หลุดยุคหลุดสมัยจนเดินทางมาสู่เสี้ยวความคิดของผู้อ่านในยุคปัจจุบัน
และแม้ชุดความคิดของ เฮราไคลตัส จะมีการเบลอเลือนอันเนื่องจากรูปแบบของหนังสือที่อาจมองได้ว่าเป็นการค้นพบต้นฉบับที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่อีกแง่ก็สะท้อนให้เห็นแนวคิดจากอีกมุมของความไม่ครบถ้วนที่ได้รับการเรียบเรียงตัวบทเท่าที่เหลือราวกับจิ๊กซอว์ที่มีตัวต่อไม่ครบ ทว่าความไม่ครบก็อาจถูกตีความเป็นความครบถ้วนในสายตาของการจัดวางรูปแบบใหม่จนได้บทกวีทางปรัชญามาหนึ่งเล่มที่อาจจะไม่ตรงกับความหมายทั้งหมดตามต้นฉบับดั้งเดิมอย่างที่ เฮราไคลตัส เขียนขึ้นก็ตาม เป็นเศษเสี้ยวจิ๊กซอว์ที่ยังทิ้งช่องว่างทางจินตนาการให้ผู้อ่านในปัจจุบันได้ปะติดปะต่อชิ้นส่วนซึ่งก็อาจจะร่วมหรือไม่ร่วมกับชุดความคิดของผู้อ่านในยุคสมัยนี้ก็ได้ แต่กลายเป็นว่า ความขัดแย้ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันที่วางเป็นเศษเสี้ยวอยู่ในหนังสือเล่มนี้กลับสะท้อนปรัชญาและแนวคิดของ เฮราไคลตัส ได้อย่างดีแม้จะได้พบเพียง เศษเสี้ยวของสัจจะ ก็ตาม
แนวคิดความขัดแย้งดังกล่าวเป็นข้อเสนอหนึ่งทางอภิปรัชญาของ เฮราไคลตัส ที่กล่าวว่า สรรพสิ่งที่ดูเสมือนว่าจะตรงข้ามกัน แท้จริงแล้วเป็นการเชื่อมต่อกันผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังรจนาบทที่ 78 ที่กล่าวว่า
“ชีวิต และ ความตาย
การตื่น และ การหลับ
วัยเยาว์ และ ชราภาพ
คือสิ่งเดียวกัน
เพียงภาวะเหล่านั้น
แปรธาตุซึ่งกันและกัน”
จะสังเกตได้ว่าการอุปมาด้วยการใช้รูปแบบการใช้คำที่มีความหมายเสมือนขั้วตรงข้าม หรือสิ่งที่มีความขัดแย้งกันมาวางไว้คู่กันโดยมีคำว่า “และ” กั้นกลางก็เพื่อให้เห็นรูปแบบที่เสมือนว่าทั้งสองคุณสมบัติเหล่านี้แยกจากกัน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ดูเสมือนแยกจากกันกลับกลายเป็นสิ่งเดียวกัน แปรธาตุซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ในงานของ เฮราไคลตัส มักกล่าวถึง ทฤษฎีปรัชญา ที่ว่าด้วยสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเสมอผ่านอุปลักษณ์ของ “ไฟ” เขาเชื่อว่าสรรพสิ่งเกิดจากไฟเป็นปฐมธาตุและไฟนั้นเองที่แปรธาตุไปสู่สรรพสิ่งต่างๆ โดยไฟในความหมายของเขาอาจไม่ใช่ไฟในกองเพลิงเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสื่อถึงความสว่าง พลังงาน อุณหภูมิ และอื่นๆ อีกมากมายที่มักเริ่มต้นที่มีไฟเป็นปฐมธาตุและสามารถแปรผันสู่สรรพสิ่งได้มากมาย แนวคิดของ เฮราไคลตัส จึงมุ่งเสนอความเปลี่ยนแปลงที่กลายเป็นเรื่องปกติ ความเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติแห่งสรรพสิ่ง และทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ดังกวีบทที่ 83 ที่มีเสี้ยวถ้อยคำสั้นๆ แต่พิสูจน์ด้วยกาลเวลาตั้งแต่ยุคสมัย เฮราไคลตัส ความว่า
“เพราะความเปลี่ยนแปลง
ผลของมันคือ
การมีใจที่สงบผ่อนคลาย”
Fact File
• เศษเสี้ยวแห่งสัจจะ
• ผู้เขียน : เฮราไคลตัส
• ผู้แปล : รัฐพล เพชรบดี
• สำนักพิมพ์ : สมมติ
• ราคา : 200 บาท