หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์ เรื่องเบื้องหลังที่ไม่เคยเล่าของครูใหญ่แห่งวงการศิลปะ
Faces

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์ เรื่องเบื้องหลังที่ไม่เคยเล่าของครูใหญ่แห่งวงการศิลปะ

Focus
  • ธีระ วานิชธีระนนท์ ผู้ก่อตั้ง 333 Gallery และเก็บสะสมงาน archive ของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ จำนวนมากได้รีโนเวตแกลเลอรีสาขาถนนสุรศักดิ์ให้กลายเป็น หอจดหมายเหตุ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
  • เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ. 2453-2536) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ในเมืองไทยและอุทิศตนในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะงานอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก ที่วัดระฆังโฆสิตารามที่ใช้เวลาร่วม 20 ปี
  • ไฮไลต์ผลงานจัดแสดงประกอบด้วยงานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังบนกระดาษแก้วของวัดต่างๆ เอกสารและผลงานขณะใช้ชีวิตในค่ายกักกันที่อินเดีย และสมุดบันทึกการเดินทางไปดูงานศิลปะในยุโรปและอินเดียซึ่งเป็นช่วงที่ท่านเขียนภาพเลื่องชื่อจำนวนมาก

เป็นเวลาร่วม 13 ปีที่ ธีระ วานิชธีระนนท์ ผู้ก่อตั้ง 333 Gallery ที่กรุงเทพฯ ได้เก็บสะสมเอกสาร สมุดบันทึก สมุดสเกตช์ งานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังบนกระดาษแก้ว จดหมาย หนังสือ รูปถ่าย ฟิล์มกระจก ฟิล์มสไลด์ โล่รางวัล เกียรติบัตร และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มากมายของ เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ. 2453-2536) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูใหญ่ของวงการศิลปะ” จนกระทั่งเขาตัดสินใจรีโนเวตอาคารทั้งสามชั้นของแกลเลอรีสาขาถนนสุรศักดิ์ให้กลายเป็น หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์ และเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2566 ในวาระครบรอบ 113 ปีชาตกาลของอาจารย์เฟื้อ

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์
อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์
ธีระ วานิชธีระนนท์ ผู้ก่อตั้ง 333 Gallery

ก่อนหน้านี้ธีระเป็นนักสะสมงานศิลปินเวียดนามระดับ Old Masters ในยุค Indochina (ในช่วงค.ศ. 1925-1945) เช่น Bui Xuan Phai และ To Ngoc Van เพราะทำธุรกิจที่เวียดนามมานานกว่า 30 ปี และไม่รู้จักอาจารย์เฟื้อและผลงานของท่านมาก่อน จนกระทั่งใน พ.ศ.2552 มีพ่อค้าวัตถุโบราณเสนอขายตู้เหล็กสองใบที่อัดแน่นไปด้วยเอกสารเก่า สมุดบันทึก และสมุดสเกตช์ของอาจารย์เฟื้อในราคา 2 ล้านบาท ในที่สุดธีระตัดสินใจซื้อและเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาชีวิต ผลงาน แนวคิดในการทำงาน และลงลึกไปถึงชีวิตส่วนตัวในแง่มุมที่น้อยคนจะรู้ผ่านเอกสารและข้าวของต่างๆ จนนับได้ว่าปัจจุบันธีระเป็นผู้ที่รู้จักอาจารย์เฟื้อมากที่สุดคนหนึ่ง

“ก่อนหน้านี้ไม่มีความรู้เรื่องงานศิลปะของไทยและศิลปินไทยเลย เราก็ถามหลายคนว่าอาจารย์เฟื้อเป็นใคร สำคัญอย่างไร ลังเลพอสมควรก่อนจะตัดสินใจซื้อ ก่อนหน้านี้เราก็เก็บงาน archive ของศิลปินเวียดนามแล้วทำไมงาน archive ของศิลปินระดับมาสเตอร์ของไทยเราจะไม่เก็บไว้ หลังจากนั้นใช้เวลาหลายปีศึกษาเอกสารมากมายที่ได้มา ค่อยๆ แกะลายมืออาจารย์เฟื้อที่อ่านค่อนข้างยาก และแยกเอกสารเหล่านี้ให้เป็นหมวดหมู่เพื่อง่ายต่อการสืบค้น คัดชิ้นงานสำคัญที่มีประวัติและเอกสารอ้างอิง” ธีระกล่าว

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์
ตู้เหล็กสองใบ ราคา 2 ล้านบาท อัดแน่นไปด้วยเอกสารอาจาร์เฟื้อ

อาจารย์เฟื้อเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ในเมืองไทยและอุทิศตนในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะงานอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก ที่วัดระฆังโฆสิตารามที่ใช้เวลาร่วม 20 ปีและได้รับการยอมรับว่าเป็นงานบูรณะที่มีรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด ส่งผลให้ท่านเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อพ.ศ. 2526 สาขาบริการชุมชน และได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เมื่อพ.ศ. 2528

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์
งานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรีที่ของจริงเลือนหายไปมากแล้ว

ชุดงานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังเพื่อสืบทอดฝีมือครูช่างโบราณ

หลังจากได้งานเอกสารชุดแรกมาใน พ.ศ. 2522 ธีระมีงานชิ้นอื่นเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นเอกสารเก่า จนกระทั่งใน พ.ศ. 2557 มีผู้มาเสนอขายงานชุดสเกตช์ภาพวัดและโบราณสถานต่างๆ ของอาจารย์เฟื้อจำนวน 80 ภาพในราคาหลักล้านและเขาตัดสินใจซื้อเพราะเห็นว่าเป็นชุดงานที่สำคัญ หลังจากศึกษาชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อมาพอสมควรและมีผลงานเพียงพอที่จะเผยแพร่ ธีระจึงจัดงานเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ท่านในวาระครบรอบ 107 ปีชาตกาลในเดือนเมษายน พ.ศ.2560 ที่ 333 Gallery อาคารริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (ปิดกิจการไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2565)

แต่ก่อนงานจะเริ่มขึ้นเพียงแค่ 1 เดือน เขาได้รับการติดต่อจากญาติของ คุณสมถวิล หริพิทักษ์ (ภรรยาคนที่ 2 ของอาจารย์เฟื้อ) ให้ไปดูที่บ้านซึ่งมีเอกสารและข้าวของของอาจารย์อัดแน่นในตู้เหล็กสองใบและในกระเป๋าเดินทางใบใหญ่อีกหนึ่งใบซึ่งภายหลังทราบว่าเป็นกระเป๋าที่ท่านใช้บรรจุสิ่งของส่งกลับเมืองไทยหลังจากสำเร็จการศึกษาที่ประเทศอิตาลีใน พ.ศ.2499 ชุดเอกสารที่ได้มาเพิ่มจึงช่วยเติมจิ๊กซอว์ให้การจัดงานสมบูรณ์มากขึ้นอย่างที่เขาไม่คาดคิดมาก่อน

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์
งานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังกระดาษแก้วที่ยังไม่ได้ผ่านการอนุรักษ์

ผลงานชิ้นสำคัญที่ได้มาเพิ่มคือชุดงานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ด้วยกระดาษแก้วที่อาจารย์เฟื้อตระเวนคัดลอกภาพเขียนที่ชำรุดทรุดโทรมตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะในช่วงพ.ศ.2493-2495 เพื่อสืบทอดฝีมือครูช่างโบราณไม่ให้สูญหายและสามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการอนุรักษ์ได้ในภายหลังท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายคนที่ด้อยค่าว่าการคัดลอกเป็นการทำซ้ำที่ไม่เกิดการสร้างสรรค์ใดๆ แม้แต่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ซึ่งเห็นแววในตัวศิษย์เอกว่าสามารถเติบโตเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคตหากยึดมั่นในการทำงานศิลปะร่วมสมัยยังทัดทานในระยะแรก แต่ต่อมาได้ยอมรับในความมุ่งมั่นของ “การทำงานปิดทองหลังพระ” และฝีมือในการเขียนภาพไทยของอาจารย์เฟื้อจนสนับสนุนอย่างเต็มกำลังในที่สุด

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์
งานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนัง

“งานลอกลายด้วยกระดาษแก้วชำรุดเสื่อมสภาพมาก บางชิ้นกรอบเปราะตามรอยพับ บางชิ้นเกาะติดกันเหนียวเยิ้มและมีคราบกาว ผมต้องส่งชิ้นงานเหล่านี้รวมไปถึงกระเป๋าเดินทางใบใหญ่นั้นให้นักอนุรักษ์คืออาจารย์ขวัญจิต เลิศศิริ ช่วยซ่อมแซมเพื่อให้กลับฟื้นคืนสภาพแข็งแรงขึ้นและใช้เวลากว่า 1 ปีในการอนุรักษ์ กล่าวได้ว่าเงินที่ใช้ในการอนุรักษ์มากกว่าเงินที่ซื้องานมาเสียอีก แต่เราทำด้วยใจรักและอยากเก็บงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะงานคัดลอกลายของท่านมีคุณูปการต่อวงการศิลปะไทยและโบราณคดีเป็นอย่างมาก”

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์

ชีวิต ผลงาน เกียรติยศกับเรื่องราวที่ยังไม่ได้เล่า

บริเวณชั้น 1 ของหอจดหมายเหตุจัดแสดงงานคัดลอกลายบนกระดาษแก้วของจิตรกรรมฝาผนังที่วัดใหญ่สุวรรณารามในจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นภาพเขียนสมัยอยุธยาตอนปลาย งานคัดลอกประกอบด้วยภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม ภาพชุดมารผจญ และภาพทวารบาล สำหรับภาพทวารบาลเป็นงานร่วมคัดลอกโดย อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิษย์เอกของอาจารย์เฟื้อ โดยสองชิ้นที่จัดแสดงนี้เป็นการทำสำเนาแบบเหมือนจริงโดยผลงานจริงอยู่ที่ทายาทของท่านอังคาร นอกจากนี้ยังจัดแสดงหนังสือบันทึกลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เรื่องการขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการคัดลอกภาพเขียนที่วัดนี้ต่อจากที่ทำค้างไว้ (หยุดชะงักไปในช่วงที่อาจารย์เฟื้อไปศึกษาต่อที่อิตาลีระหว่าง พ.ศ. 2497-2499) และการว่าจ้าง อังคาร กัลยาณพงศ์ ให้เป็นผู้ช่วยในอัตราค่าจ้างวันละ 30 บาท

“งานอนุรักษ์ภาพเขียนที่วัดใหญ่สุวรรณารามถือเป็นอีกหนึ่งผลงานสำคัญของอาจารย์เฟื้อรองจากการอนุรักษ์หอไตร ที่วัดระฆังฯ รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมโดยช่างครูโบราณเป็นหนึ่งในรูปพระแม่ธรณีที่สวยที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้บริเวณชั้น 1 ซึ่งมีเพดานสูงผมยังได้นำงานคัดลอกลายชิ้นใหญ่ของจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ในจังหวัดเชียงใหม่มาจัดแสดงด้วย”

หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์

นอกจากนี้ยังมีตู้กระจกจัดแสดงภาพถ่ายรูปอาจารย์เฟื้อในวัยต่างๆ ภาพถ่าย หม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ กฤดากร (ภรรยาคนแรก) กับลูกชายคือ ทำนุ หริพิทักษ์ ในวัยเด็กซึ่งเรื่องราวความรักของอาจารย์เฟื้อและหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์คือตำนานของศิลปินไส้แห้งกับหญิงสูงศักดิ์ ภาพถ่ายอาจารย์เฟื้อกับคุณสมถวิล (ภรรยาคนที่ 2) ในงานแต่งงานและจดหมายรักของอาจารย์เฟื้อ รวมไปถึงโล่รางวัล เกียรติบัตรต่างๆ และสมุดบันทึกอีกหลายเล่ม

“หอจดหมายเหตุแห่งนี้ยังไม่สมบูรณ์ถ้าจะให้ดีต้องมีนักวิชาการเข้ามาช่วย ผมพยายามจะจัดเรียงเป็นไทม์ไลน์แต่ทำคนเดียวก็เลยทำเท่าที่ทำได้เพื่อเชิดชูอาจารย์เฟื้อ อยากให้คนเห็นความดี ความงาม ความพยายาม และความตั้งใจของท่านในการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทยเผื่อจะจุดประกายนำไปสานต่อว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง

“หอจดหมายเหตุของบุคคลสำคัญในไทยมีน้อย ที่ทำได้สมบูรณ์คือหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ โดยคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช ซึ่งท่านให้กำลังใจว่าให้ผมทำไปเลย ท่านยังเห็นฟิล์มสไลด์เก่ากว่า 100 กล่องที่อาจารย์เฟื้อถ่ายไว้เมื่อทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและขณะไปเรียนต่อที่อิตาลี ท่านบอกว่าฟิล์มเหล่านี้ต้องเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมและในเบื้องต้นสามารถไปเก็บไว้ที่ห้องควบคุมอุณหภูมิที่หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ ก่อนได้ ผมก็คิดว่าน่าสนใจและต่อไปอาจจะทำห้องฉายสไลด์เพิ่ม”

ผลงานสำคัญอีกหนึ่งชิ้นที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนักคือการออกแบบองค์พระศรีอริยเมตไตรยซึ่งประดิษฐานที่วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร จังหวัดชลบุรี โดยมีการเตรียมจัดสร้างตั้งแต่ปี 2507 และแล้วเสร็จเมื่อปี 2527 รวมระยะเวลาถึง 20 ปี และจากกองเอกสารมากมายที่ธีระครอบครองเขาได้พบภาพสเกตช์การออกแบบตั้งแต่เริ่มรวมไปถึงบันทึกด้วยลายมือถึงพิธีและขั้นตอนในการปั้นหุ่นองค์พระ

อาจารย์เฟื้อเยือนมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ที่ศานตินิเกตัน เป็นครั้งแรกในวัย 74 ปีหลังจากที่เคยไปศึกษาเมื่อ พ.ศ.2484

“ผมยังพบเอกสารสำคัญว่าอาจารย์เฟื้อได้เดินทางไปยังเมืองชัยปุระที่อินเดียในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2527 เพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการขอพระราชทานพระบรมธาตุจากองค์ดาไลลามะเพื่อนำมาบรรจุในองค์พระศรีอริยเมตไตรย หลังจากนั้นมีจดหมายตอบกลับว่าพระองค์ท่านไม่มีพระบรมธาตุในครอบครอง แต่การเดินทางไปอินเดียในครั้งนี้ท่านมีโอกาสกลับไปเยือนมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ที่ศานตินิเกตัน เป็นครั้งแรกในวัย 74 ปีหลังจากที่เคยไปศึกษาเมื่อ พ.ศ.2484 ในวัย 31 ปีดังปรากฏในรูปถ่ายหลายใบซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าท่านเคยกลับไป”

อาจารย์เฟื้อและท่านอังคาร : ความผูกพันของครูกับศิษย์

บริเวณชั้น 2 จัดแสดงกวีนิพนธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอาจารย์เฟื้อโดยจิตรกรและกวีเอก ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ (พ.ศ. 2469-2555) ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2532 สาขาวรรณศิลป์ และกวีซีไรต์พ.ศ. 2529 ผู้เป็นศิษย์เอกของอาจารย์เฟื้อและได้ร่วมทำงานในโครงการคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ

ท่านอังคารได้ประพันธ์บทกวีจำนวน 83 บทตามอายุของอาจารย์เฟื้อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของท่านสำหรับตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์เฟื้อในพ.ศ. 2537 และต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือของท่านอังคารเป็นส่วนหนึ่งของ archive ที่ธีระได้รับมอบมาจาก อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ลูกสาวของท่านอังคาร โดยเขาได้เก็บต้นฉบับเหล่านี้ในอัลบัมภาพที่สั่งทำเป็นพิเศษเพื่อรักษาเอกสารชุดสำคัญนี้

“ท่านอังคารมักกล่าวว่าท่านเกิดเป็นกวีตั้งแต่ชาติที่แล้วและจะเป็นกวีในทุกภพชาติ แต่ท่านคงเห็นความยากลำบากของอาจารย์เฟื้อมามากจนถึงกับเขียนบทหนึ่งในกวีนิพนธ์ว่าในภพหน้าอาจารย์เฟื้อไม่ต้องทำงานศิลปะแล้ว” ทั้งนี้บทกวีของท่านอังคารที่ธีระกล่าวถึงเขียนว่า

สายกว่าสายบ่ายแล้ว สยามขวัญ

สิ้นท่านสิ้นศิลป์สวรรค์ หยาดฟ้า

ภพหน้าอย่าผูกพัน ศิลปศาสตร์ ครูเอย

ตายอย่างยากไร้ท้า ป่าช้าหฤหรรษ์

นอกจากนี้ในหนังสืออนุสรณ์ในงานศพของคุณสมถวิล ภรรยาของอาจารย์เฟื้อ ท่านอังคารยังได้ประพันธ์กวีนิพนธ์เขียนด้วยลายมือ ชื่อ “สุมาลัยปรโลก แด่คุณแม่สมถวิล หริพิทักษ์”  และทายาทของท่านอังคารได้มอบต้นฉบับบทกวีให้ธีระและเขาได้นำมาใส่กรอบจัดแสดงในชั้นนี้ด้วย รวมไปถึงสมุดเซ็นเยี่ยมขณะที่อาจารย์เฟื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลาร่วม 3 ปีตั้งแต่พ.ศ.2533 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536

ในชั้นนี้ยังจัดแสดงภาพเขียน Jama Masjid ที่อินเดียของอาจารย์เฟื้อ และภาพเขียนที่ท่านวาดร่วมกับ มีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งลายเซ็นของทั้งสองศิลปินชั้นครูปรากฏอยู่ด้านหลังภาพ

ฉายา “ผีหอไตร” กับการทุ่มเทอนุรักษ์หอไตร วัดระฆังฯ

พื้นที่ชั้น 3 ถือเป็นส่วนจัดแสดงไฮไลต์โดยเฉพาะโครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ที่ถูกทิ้งร้างเป็นเวลาร่วม 100 ปี หอพระไตรปิฎกแห่งนี้เคยเป็นพระตำหนักของรัชกาลที่ 1 และสถานที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับปิดทอง นอกจากนี้จิตรกรรมฝาผนังยังเป็นผลงานของพระอาจารย์นาค บรมครูสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่ออาจารย์เฟื้อเห็นสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนักจึงทำเรื่องของบประมาณเร่งด่วนจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2500 แรกเริ่มท่านคิดจะอนุรักษ์แค่จิตรกรรมฝาผนัง แต่ท้ายสุดคือบูรณะทั้งหอไตร เรียกว่าท่านแทบจะสิงอยู่ที่นั่นตลอดโครงการบูรณะร่วม 20 ปีจนได้ฉายาว่า “ผีหอไตร” เพื่อให้การบูรณะเสร็จทันพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีใน พ.ศ.2525 จนกระทั่งล้มป่วย

“มีเอกสารสำคัญมากชิ้นหนึ่งที่ผมพบคือ แผนผังของหอไตรที่อาจารย์เฟื้อเขียนไว้ก่อนการบูรณะระบุตำแหน่งประตูหน้าต่างและลักษณะจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้านถือว่าเป็นมาสเตอร์แพลนของหอไตรเลยก็ว่าได้”

ชุดภาพคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังและทวารบาลของหอไตรที่ได้รับการอนุรักษ์แล้วยังได้นำมาจัดแสดงพร้อมกับงานชุดคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

ชีวิตที่หล่นหายในค่ายกักกันที่อินเดีย

สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติของอาจารย์เฟื้อย่อมทราบว่าท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อตั้งโดยปราชญ์และมหากวี รพินทรนาถ ฐากุร ตามคำแนะนำของอาจารย์ศิลป์ อาจารย์เฟื้อใช้ชีวิตที่อินเดียในช่วงระหว่างพ.ศ. 2484-2489 แต่เป็นการใช้ชีวิตนักศึกษาเพียงไม่กี่เดือน ที่เหลือเป็นการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในค่ายกักกัน เนื่องจากเมื่อสงครามแผ่ขยายมายังทวีปเอเชีย รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามสัญญากับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้นักเรียนไทยในอินเดียโดนจับกุมคุมขังในฐานะเชลยสงคราม เพราะอินเดียเป็นประเทศในกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตร

ชีวิตและผลงานในช่วงชีวิตที่อินเดียไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก แต่นับว่าเป็นโชคดีของธีระที่เขาได้รับการติดต่อจากเพื่อนซึ่งเป็นนักวิชาการชาวสิงคโปร์ว่ามีนักประวัติศาสตร์และคิวเรเตอร์ชาวอินเดียชื่อ Sushobhan Adhikary ที่ทำงานที่ศานตินิเกตันเก็บเอกสารของอาจารย์เฟื้อขณะที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

“อาจารย์ Sushobhan Adhikary เก็บเอกสารและผลงานไว้โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นงานของใคร แต่เพื่อนผมรู้ว่าเป็นงานของอาจารย์เฟื้อจึงบอกเขาว่าที่ไทยมีคนเก็บ archive ของอาจารย์เฟื้อและให้ผมเขียนจดหมายติดต่อไปหาอาจารย์ Sushobhan และใช้เวลาเกือบปีในการติดต่อหากันจนกระทั่งผมได้เรียนเชิญท่านให้นำงานของอาจารย์เฟื้อมาร่วมจัดแสดงในงาน 108 ปีชาตกาลอาจารย์เฟื้อที่ผมจัดในปี 2561 หลังจากนั้นท่านได้มอบผลงานชุดนี้ให้ผมเก็บรักษาไว้เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าถ้าเก็บไว้ที่นั่น นับว่าเป็นเอกสารและผลงานที่หายากเพราะในช่วงชีวิตเวลานั้นท่านทำอะไรบ้างไม่มีใครรู้เลย”

ในบรรดาเอกสารสำคัญประกอบด้วยสำเนาจดหมายที่อาจารย์ศิลป์เขียนถึง นันทลาล โบส (Nandalal Bose) ผู้อำนวยการศานตินิเกตันในขณะนั้นเพื่อแนะนำตัวอาจารย์เฟื้อ รวมถึงใบตอบรับอย่างเป็นทางการลงนามโดย นันทลาล โบส ให้ เฟื้อ ทองอยู่ (นามสกุลในขณะนั้น) เข้าเรียนที่นั่น นอกจากนี้ยังมีจดหมายต้นฉบับภาษาอังกฤษจำนวนสี่ฉบับของหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ กฤดากร ภรรยาคนแรกของท่านผู้ที่สนับสนุนด้านการเงินให้อาจารย์เฟื้อไปเรียนต่อที่นั่น รวมไปถึงสมุดบันทึกและภาพสเกตช์ธรรมชาติ บ้านเรือน และผู้คน และหนังสือจำนวนหนึ่งที่อาจารย์เฟื้อนำออกมาจากค่ายกักกันเพราะมีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นำออกจากค่ายได้  

เบื้องหลังการสร้างสรรค์งานศิลปะเลื่องชื่อ

หลังจากออกจากค่ายกักกันและกลับเมืองไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.2489 อาจารย์ศิลป์ช่วยเหลือให้อาจารย์เฟื้อรับราชการตำแหน่งครูช่างเขียน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ.2490 ระหว่างนั้นท่านก็เริ่มออกสำรวจภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ และได้คัดลอกลายด้วยเกรงว่างานทรงคุณค่าเหล่านี้จะเลือนหายหรือถูกทำลาย ต่อจากนั้นท่านได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอิตาลีให้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ Accademia di Belle Arti di Roma ที่กรุงโรมในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2497-2499

อีกหนึ่งเอกสารชิ้นสำคัญที่ธีระมีไว้ในครอบครองคือสมุดบันทึกการเดินทางไปยุโรปของอาจารย์เฟื้อในปี 2503 โดยในครั้งนั้นท่านได้ร่วมเดินทางไปกับอาจารย์ศิลป์เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการประชุมองค์กรศิลปินระหว่างชาติที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเสร็จงานประชุมแล้วอาจารย์เฟื้อได้เดินทางไปดูงานศิลปะต่างๆ ในฝรั่งเศส อังกฤษ และอินเดีย และถือเป็นช่วงที่ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเลื่องชื่อจำนวนมาก เช่น ภาพนครวาติกัน สะพานข้ามแม่น้ำในกรุงโรม นครเวนิส ตึกชาวประมงที่เกาะคาปรี ทัชมาฮาล และประตูนครฟาเตห์ปูร์ศิครี

“อาจารย์เฟื้อเขียนบันทึกอย่างละเอียดแบบวันต่อวันตลอดระยะกว่า 3 เดือนในยุโรปและอินเดียว่าท่านไปไหนและทำอะไรบ้าง เช่นบันทึกว่าได้ไปดูงานปิกัสโซที่ปารีสเป็นครั้งแรกสมกับที่ตั้งใจมานาน และสเกตช์ภาพ Le Déjeuner sur l’herbe ของโมเน่ต์ไว้ในสมุดบันทึก รวมถึงจดชื่อศิลปินที่ได้ไปชมงานตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆในปารีสและโน้ตว่าอิมเพรชชันนิสต์คือเขียนเร็ว จับชีวิต”

งาน archive ที่มีมูลค่าทางใจและทางประวัติศาสตร์

ในหอจดหมายเหตุยังมีเอกสารและผลงานอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ภาพสเกตช์ “ค่ายกักกันชาวญี่ปุ่นในป้อมโบราณ” ด้วยดินสอบนกระดาษชิ้นเล็กพับเป็นสี่ทบซึ่งธีระคาดว่าเป็นผลงานสเกตช์ของภาพต้นฉบับที่ได้รับรางวัลในการประกวดงานศิลปะขณะอยู่ในค่ายกักกันที่อินเดีย ภาพสเกตช์ชุดเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อัลบัมเล่มใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับการไปรับรางวัลแมกไซไซเมื่อพ.ศ. 2526 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และจดหมายรักจำนวนมากด้วยสำนวนการเขียนที่หวานหยดย้อยจากอาจารย์เฟื้อถึงคุณสมถวิล

“งาน archive เหล่านี้มีมูลค่าทางใจและทางประวัติศาสตร์ ถ้าเรามีโอกาสเก็บและไม่สานต่อให้เป็นกิจจะลักษณะก็ไม่มีใครทำแล้ว จากการศึกษาเกี่ยวกับอาจารย์เฟื้อผ่านเอกสารและผลงานมาเป็นเวลา 10 กว่าปีผมพบว่าอาจารย์เฟื้อท่านเป็นคนเอาจริงเอาจังกับชีวิต พูดคำไหนคำนั้น และเป็นคนโรแมนติกจากจดหมายที่เขียนโต้ตอบคนรัก”

Fact File

  • หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์ ถนนสุรศักดิ์ กรุงเทพฯ (ตรงข้ามอาคารจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์) เปิดให้เข้าชมฟรีโดยการนัดหมายล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-845-1371 333 Gallery
  • เนื่องในโอกาสเปิดหอจดหมายเหตุ ธีระได้นำเอกสารและผลงานชิ้นสำคัญในคอลเล็กชันพร้อมกับบทความที่เขียนด้วยตนเองมาตีพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งชื่อ 111 ปีชาตกาล เฟื้อ หริพิทักษ์ ความหนา 404 หน้าและจำหน่ายในราคาเล่มละ 3,000 บาท

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์