ดำดิ่งสู่โลกใต้ทะเลกับวิถี แฮ-นยอ นางเงือกแห่งเกาะเชจู มรดกโลกที่จับต้องได้
Faces

ดำดิ่งสู่โลกใต้ทะเลกับวิถี แฮ-นยอ นางเงือกแห่งเกาะเชจู มรดกโลกที่จับต้องได้

Focus
  • แฮ-นยอ เป็นอาชีพประมงเฉพาะกลุ่มผู้หญิง หาเลี้ยงชีพจากการเก็บหอยเป๋าฮื้อ หอยสังข์ และดำน้ำลึกหาสัตว์ทะเล  เป็นอาชีพเก่าแก่ที่อยู่คู่กับเกาะเชจูมาเนิ่นนานกว่า 2,000 ปี
  • ความพิเศษของแฮ-นยอคือการดำน้ำโดยไม่ใช้ถังออกซิเจน แต่เป็นการเรียนรู้การควบคุมลมหายใจจนชำนาญ อาศัยทักษะการดำน้ำที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

เกาะเชจู (Jeju Island) ชื่อนี้คือแหล่งท่องเที่ยวเบอร์ต้นๆ ของประเทศเกาหลีใต้ที่โด่งดังด้วยสถานะมรดกโลกทางธรรมชาติ ผสมผสานด้วยอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมวิถีพื้นถิ่น โดยเฉพาะการทำประมงน้ำลึกที่สืบทอดโดยกลุ่มหญิงสาวที่เรียกว่า แฮ-นยอ นางเงือกแห่งเกาะเชจูผู้รู้จักคลื่นลมและโลกใต้ทะเลจีนใต้เป็นอย่างดีไม่แพ้ผู้ชาย ที่สำคัญพวกเธอยังส่งต่อวิถีการดำน้ำลึกจากรุ่นสู่รุ่นนานนับ 2,000 ปี โดยที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ดำน้ำอันทันสมัยหรือถังอ๊อกซิเจนแต่อย่างใด

แฮ-นยอ

แฮ-นยอ เป็นอาชีพเก่าแก่ที่อยู่คู่กับ เกาะเชจู มาเนิ่นนานพอๆ กับคำกล่าวถึงสัญลักษณ์ของเกาะเชจู 3 ประการ คือ ลม หินลาวา และหญิงสาว ซึ่งสัญลักษณ์สุดท้ายนั้นพ่วงมาจากประวัติของเกาะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่คุมขังเหล่าขุนนางนักโทษการเมืองที่มักจะมีบริวารผู้หญิงตามมารับใช้ด้วย จากแค่ขุมขังก็กลายเป็นตั้งรกราก ทำมาหากิน เรียนรู้ที่จะต่อสู้คลื่นลมอยู่บนเกาะแห่งนี้ ว่ากันว่าเด็กผู้หญิงบน เกาะเชจู สามารถดำน้ำได้ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ

แฮ-นยอ

แฮ-นยอ เป็นอาชีพประมงที่หาเลี้ยงชีพจากการเก็บหอยเป๋าฮื้อ  หอยสังข์ และดำน้ำลึกหาสัตว์ทะเล รวมทั้งสาหร่ายทะเลที่ถูกส่งไปทั่วเกาหลี ความพิเศษของแฮ-นยอคือการดำน้ำโดยไม่ใช้ถังออกซิเจน แต่เป็นการเรียนรู้การควบคุมลมหายใจจนชำนาญ อาศัยทักษะการดำน้ำที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังต้องเคารพกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ มีฤดูกาลให้ท้องทะเลได้พัก ไม่ใช้เครื่องมือประมงสมัยใหม่ที่รบกวนธรรมชาติใต้ท้องทะเลมากเกินไป นั่นจึงทำให้ แฮ-นยอ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี ค.ศ.2016

แฮ-นยอ

ความลับของแฮ-นยอ ถูกส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น

วิธีการควบคุมลมหายใจขณะดำน้ำลึกเป็นความลับที่ แฮ-นยอ ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แฮ-นยอที่เก่งกาจสามารถดำลงไปใต้ทะเลลึกได้นานราว 1-2 นาที จากนั้นจึงลอยตัวขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ โดยเสียงหายใจของแฮ-นยอนี้มีชื่อเรียกว่า ซุมบีโซรี หลังจากขึ้นมาหายใจเสร็จก็จะลงไปใต้น้ำต่อ และอาศัยการขึ้นมาพักเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

แฮ-นยอ
ชุดดำน้ำแบบดั้งเดิม

สมัยก่อนแฮ-นยอจะใส่ชุดดำน้ำสีขาวเรียกว่า มุล-อด ประกอบด้วยกางเกงจั๊มสูท เสื้อคลุม และผ้าโพกหัว ซึ่งทำมาจากฝ้ายดิบ ต่อมาราวก็ได้เปลี่ยนไปใช้ชุดดำทำจากยางสมัยใหม่ที่กระชับคล่องตัวขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันความเย็นในฤดูหนาวได้ดียิ่งขึ้น ทำให้แฮ-นยอ ดำน้ำได้นานขึ้นอีกด้วย และที่จะขาดไม่ได้คือแว่นตากันน้ำ

แฮ-นยอ
ชุดดำน้ำแบบใหม่ทำจากยาง

ด้านอุปกรณ์จับปลาที่นำลงทะเลยามออกเรือไปด้วย ได้แก่ ทุ่นและกระชังจับสัตว์ทะเล สำหรับแฮ-นยอแล้ว ทุ่นถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างมาก ใช้แขวนไว้บริเวณหน้าอกหรับสำหรับลอยตัวกลางทะเล ส่วนเครื่องมือจับสัตว์ทะเลที่จะขาดไม่ได้คือ  บิดซัง ใช้สำหรับแงะหอยเป๋าฮื้อจากซอกหิน และ กากุรี ใช้เกี่ยวเพื่อหมุนเคลื่อนย้ายหิน หรือใช้เกี่ยวหินเพื่อช่วยการเคลื่อนตัวใต้น้ำ

เกาะเชจู
ทุ่นและอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ

การดำน้ำเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง ในแต่ละครั้งอาจต้องเผชิญกับคลื่น พายุ สัตว์ทะเล รวมทั้งต้องต่อสู้กับอุณหภูมิใต้ทะเลอันเย็นยะเยือก แฮ-นยอจึงไม่ออกทะเลลำพัง แต่จะออกไปดำน้ำจับปลากันเป็นกลุ่ม มีการพูดคุยให้คำแนะนำและเตรียมตัวก่อนการดำน้ำทุกครั้ง โดยสถานที่สำหรับเตรียมตัวก่อนออกดำน้ำเรียกว่า บุลท็อก 

บุลท็อกคือพื้นที่สำหรับเปลี่ยนชุดของแฮ-นยอ และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ในการดำน้ำ ในแต่ละบุลท็อกจะก่อกองไฟไว้ให้แฮ-นยอล้อมวงเข้ามานั่งผิงเพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายก่อนลงไปดำน้ำ และเมื่อขึ้นมาจากการดำน้ำแล้วก็มาผิงไฟเพื่ออบอุ่นร่างกายต่อ บุลท็อก จึงนับว่าเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญสำหรับแฮ-นยอ แม้ในปัจจุบันได้มีการพัฒนา บุลท็อก เป็นห้องเปลี่ยนเสื้อผ้ามีเครื่องทำความร้อนพร้อมสรรพ แต่วัฒนธรรมการรวมตัวเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ใต้ท้องทะเล และเตรียมความพร้อมสำหรับการดำน้ำลึกยังคงดำเนินต่อไป

เกาะเชจู

ไม่ใช่ใครก็เป็นแฮ-นยอ ได้

แม้หญิงสาวบนเกาะเชจูจะว่ายน้ำเก่ง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแฮ-นยอได้ แฮ-นยอต้องฝึกว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และพออายุ 18 ปีจึงจะสามารถหัดดำน้ำลึกได้ จากนั้นก็สั่งสมประสบการณ์จนเมื่ออายุ 35 ปี จึงจะกลายเป็นแฮ-นยอแบบมืออาชีพ และแม้จะเป็นอาชีพเก่าแก่ เป็นการประมงท้องถิ่นที่ใช้ความชำนาญแบบบอกต่อๆ กันมา ส่งต่อภายในชุมชนและครอบครัว ทว่าทางรัฐบาลเกาหลีใต้ก็มีการเข้าไปจัดการเพื่อให้อาชีพเก่าแก่ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของโลกยังคงได้รับการสืบสานด้วยการเปิดโรงเรียนสอนการเป็นแฮ-นยอ อย่างจริงจังและเป็นมาตรฐาน ปัจจุบันบนเกาะเชจูมี โรงเรียนแฮ-นยอ อยู่ 2 แห่ง เปิดสอนการดำน้ำ การหายใจใต้น้ำ โดยเปิดสอนเป็นคอร์สสำหรับผู้ที่สนใจ และใช้เวลาในการเรียนนานถึง 10 เดือนเต็ม แต่…ไม่ใช่ทุกคนที่จบมาแล้วจะเป็นแฮ-นยอได้

เกาะเชจู
บรรยากาศนิทรรศการแฮ-นยอแห่งเกาะเชจู 2023

หลังจากเรียนจบคอร์สในโรงเรียน แฮ-นยอต้องลงสอบในสนามจริงด้วยการออกทะเล โดยมีคณะกรรมการแฮ-นยอเป็นผู้ประเมินว่าผ่านหรือไม่ ซึ่งการทดสอบนี้ก็ต้องใช้เวลานานนับปีอีกเช่นกัน เพราะการทำงานในท้องทะเลโดยเฉพาะการดำน้ำลึกนั้นต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่มาก แฮ-นยอ จึงต้องได้รับการฝึกฝนให้พร้อมที่สุดสำหรับการดำน้ำ และเรียนรู้ธรรมชาติของสายลม และท้องทะเลให้เข้าใจอย่างแท้จริง

เกาะเชจู
จอน ยูคยอง แฮ-นยอที่มีอายุน้อยที่สุดในปัจจุบัน

Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับ จอน ยูคยอง แฮ-นยอที่มีอายุน้อยที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งเดินทางมาเปิดนิทรรศการแฮ-นยอแห่งเกาะเชจู 2023 ที่จัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้แห่งประเทศไทย เธอเล่าว่าเพื่อนร่วมรุ่นในโรงเรียนแฮ-นยอที่จบพร้อมกันกับเธอมีถึง 31 คน แต่มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่ยังคงเดินต่อไปในเส้นทางนี้ หลายคนเรียนการดำน้ำจบแล้วก็จริง แต่ไม่ได้ทำอาชีพนี้ต่อ ทำให้ แฮ-นยอ ในปัจจุบันลดน้อยลง  

สำหรับ จอน ยูคยอง เองนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เกิดที่เกาะเชจู แต่เธอตัดสินใจย้ายจากโซลมาอยู่เกาะเซจูเพราะอยากเรียนรู้ชีวิตแฮ-นยอ ทั้งๆ ที่เธอก็แอบกลัวการดำน้ำลึก แต่เมื่อได้สัมผัสกับชุมชนแฮ-นยอ ได้เห็นภาพในบุลท็อกที่ทุกคนช่วยเหลือกัน ทุกคนมีความไว้ใจกัน คอยระวังอันตรายระหว่างการทำงาน เพราะ “ถ้าไม่เชื่อใจกัน ก็จะดำน้ำไม่ได้” ทั้งหมดจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสามารถเรียนจนจบและทำงานเป็นแฮ-นยอได้นานถึง 7 ปี และปัจจุบันทั้งประเทศเกาหลีใต้เหลือหญิงสาวเพียง 3,219 คนเท่านั้นที่ยังคงทำหน้าที่สืบต่อวิถี แฮ-นยอ นางเงือกแห่งเกาหลีใต้ต่อไป

เกาะเชจู
แฮ-นยอในรูปแบบของที่ระลึกประจำเกาะ

Fact File

  • นิทรรศการแฮ-นยอแห่งเกาะเชจู 2023 จัดที่โถงนิทรรศการชั้น 2 ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2556 วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย
  • ในนิทรรศการเมื่อชมภาพถ่ายและทำความรู้จักกับวิถีชีวิตแฮ-นยอเสร็จ ยังสามารถเดินชมสินค้าแฮนด์เมด เช่น กระเป๋า ตุ๊กตา เข็มกลัด โดยสินค้าแต่ละชิ้นจะมีจุดเด่นอยู่ที่การนำแฮ-นยอมาเปลี่ยนเป็นคาแรคเตอร์สุดน่ารักสวมชุดดำน้ำยางสีดำ พร้อมทั้งถือเครื่องมือจับสัตว์ทะเลไว้กับตัว ถือเป็นการเชื่อมโยงประมงพื้นถิ่นดั้งเดิมให้เข้าสู่การรับรู้ของคนรุ่นใหม่ได้น่ารักมาก นอกจากนี้ยังมีสารคดีพิเศษเล่าวิถีชีวิตการทำงานแต่ละวันของ แฮ-นยอให้ได้รับชมอีกด้วย และเพื่อให้ได้ฟิลเที่ยวเกาะเชจูยิ่งขึ้น งานนี้ยังมีโจ๊กหอยเป๋าฮื้อ และน้ำโซดาส้มฮัลลาบง เมนูไฮไลต์ประจำเกาะที่จัดจำหน่ายทุกวันตั้งแต่เวลา 14.00 เป็นต้นไป

Author

ณัฐกมล แพงตาแก้ว
มนุษย์เก็บตัวผู้เรียนรู้โลกผ่านตัวอักษรและกล่อมตัวเองให้เข้านอนด้วย J-Rock ตามสนับสนุนนักวาดการ์ตูนอิสระเท่าที่เงินในกระเป๋าจะอำนวย

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"