เปิดเบื้องหลังฝีเข็มต่อฝีเข็ม ปรับโรงงาน ชุดชั้นในวาโก้ สู่การผลิตหน้ากาก สู้โควิด-19
Better Living

เปิดเบื้องหลังฝีเข็มต่อฝีเข็ม ปรับโรงงาน ชุดชั้นในวาโก้ สู่การผลิตหน้ากาก สู้โควิด-19

Focus
  • บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ขอร่วมสู้วิกฤต โควิด-19 ด้วยกันปรับเปลี่ยนโรงงานการผลิต ชุดชั้นในวาโก้ พร้อมแตกไลน์การผลิตหน้ากากผ้า แจกฟรีให้ภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าผลิตอย่างเร่งด่วน 200,000 ชิ้นภายในเดือนเมษายน 2563
  • ปัจจุบันวาโก้ได้ผลิตหน้ากากผ้าออกมา 3 แบบคือ หน้ากากผ้าสเปเซอร์ หน้ากากผ้าฝ้ายผสมเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพอร์มา และ หน้ากากผ้าฝ้ายผสมสแปนเด็กซ์ ทั้งหมดสามารถซักและนำกลับมาใช้ได้

แม้วิกฤต โควิด-19 จะทำให้ดีกรีความเครียดของทุกคนเพิ่มสูงขึ้น และยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายลงขึ้นเมื่อไร แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หัวใจยังพอยิ้มได้คือข่าวการออกมาร่วมมือร่วมใจช่วยกันฝ่าวิกฤตของทุกฝ่าย ตั้งแต่ประชาชนคนตัวเล็กๆ ธุรกิจขนาดย่อม ไปจนถึงขนาดใหญ่ และหนึ่งในนั้นคือ การเรียกประชุมแบบฉุกเฉินเพื่อปรับการผลิต ชุดชั้นในวาโก้ สู่การเพิ่มไลน์ผลิต หน้ากากผ้า เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงในการร่วมสู้ โควิด-19

ชุดชั้นในวาโก้

“เราไม่ได้มองว่าทำหน้ากากชิ้นเล็ก ขั้นตอนมันไม่ซับซ้อน หรือ ทำหน้ากากง่ายกว่าการทำชุดชั้นใน การทำหน้ากากของเราไม่ต่างจากการทำชุดชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นฝีเข็มที่ใช้ 14-15 ฝีเข็มเหมือนการเย็บชุดชั้นใน ซ้อนตะเข็บอีก 13 ฝีเข็ม เพราะเราคิดถึงตอนที่คนเอาไปใช้เขาต้องซักนำกลับมาใช้ซ้ำ เย็บเสร็จแล้วจึงต้องตรวจคุณภาพชิ้นต่อชิ้น ถ้ามีด้ายรุ่ย ดึงดูแล้วสายขาด ไม่ผ่านก็คัดออก เหมือนเย็บชุดชั้นในตัวหนึ่งเลย”

ชุดชั้นในวาโก้
พนักงานทีมตัดเย็บหน้ากากผ้า

เสียงจากพนักงานฝ่ายตัดเย็บลงรายละเอียดถึงการย้ำฝีเข็มเพื่อผลิต หน้ากากผ้า ซึ่งเป็นการปรับไลน์การผลิตอย่างเร่งด่วนของ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) จาก ชุดชั้นในวาโก้ มาเพิ่มไลน์การผลิต หน้ากากผ้า เพื่อแจกฟรีให้กับหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนที่ขาดแคลนหน้ากาก เป็นอีกทางในการลดการกระจายเชื้อและป้องกันตัวเองจากโควิด-19

ชุดชั้นในวาโก้
บล็อกต้นแบบหน้ากาก

“หลังจากเกิดเหตุการณ์ โควิด-19 ซึ่งทำให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน คุณบุญดี อํานวยสกุล ผู้บริหารไทยวาโก้ก็เรียกประชุมด่วนบอกว่า ไวรัสทำให้ประชาชนชนต้องมีเครื่องมือในการป้องกันตนเอง ผู้บริหารเลยคิดถึงหน้ากากผ้า ซึ่งใช้เพื่อปกป้องตัวเอง และลดการกระจายเชื้อได้ในระดับหนึ่ง โดยผู้บริหารให้โจทย์ฝ่ายผลิตคือ ให้ลองเช็คว่าในคลังของวาโก้มีผ้าอะไรบ้าง ชนิดไหนบ้างที่สามารถลดการกระจายของแบคทีเรียได้ หรือมีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น ลดการกระจายเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในตอนนั้นเรามีผ้าสเปเซอร์ซึ่งใช้ผลิต ชุดชั้นในวาโก้ อยู่แล้ว

“ทางฝ่ายผลิตเลยเช็คด้านฟิตติ้ง ตัดเย็บ ว่าหน้ากากควรจะออกแบบอย่างไร ใบหน้าแบบไหนใส่อย่างไรจึงจะเหมาะสม ทดสอบทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย ด้านขั้นตอนการตัดเย็บก็ต้องทำให้เร็วที่สุด เพราะเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งภาครัฐ ประชาชนต่างก็ขาดแคลน ด้านเทคนิคเราจึงเลือกใช้เทคนิคที่สามารถผลิตได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งเราใช้เทคนิคเดียวกับชุดชั้นใน ใช้เครื่องตัดอัตโนมัติ ใช้เครื่องปั๊มที่ใช้สำหรับทำชุดชั้นในอยู่แล้ว นอกจากจะรวดเร็ว หน้ากากแต่ละชิ้นจึงได้มาตรฐานเดียวกัน”

หน้ากาก
เมธา สุภากร กรรมการบริหาร ผู้อำนวยการสายเทคโนโลยีการผลิต

เมธา สุภากร กรรมการบริหาร ผู้อำนวยการสายเทคโนโลยีการผลิต บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ย้อนเล่าถึงขั้นตอนการผลิต หน้ากาก ซึ่งเป็นการปรับตัวอย่างเร่งด่วน เริ่มจากผลิตหน้ากากผ้า Cotton และหน้ากากผ้าสปันบอนด์ (Spun Bond) แจกให้กับพนักงานและประชาชนทั่วไปรวม 30,000 ชิ้น

ส่วนปัจจุบันรูปแบบการผลิตหน้ากากผ้ามี 3 แบบ คือ หน้ากากผ้าสเปเซอร์ หน้ากากผ้าฝ้ายผสมเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพอร์ และ หน้ากากผ้าฝ้ายผสมสแปนเด็กซ์ (Spandex) โดยตั้งเป้าการผลิตในเดือนเมษายนไว้ที่ 200,000 ชิ้น

สำหรับ หน้ากากผ้าสเปเซอร์  ผลิตจากเส้นใย Nylon 70% ขนาดเล็กระดับ Microfiber และมีส่วนผสมของ Spandex Melt 30% มีคุณสมบัติด้านความอ่อนนุ่ม ไม่รุ่ย ไม่รัน ยืดหยุ่นตัวดี กระชับเข้ากับรูปหน้าเมื่อสวมใส่ ผลิตโดยใช้เครื่องตัดอัตโนมัติและเย็บอีกชั้นเหมือนกับการผลิตชุดชั้นใน

ชุดชั้นในวาโก้
หน้ากากผ้าสเปเซอร์ 

ส่วน หน้ากากผ้าฝ้ายผสมเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพอร์มา ผลิตจากเส้นใยฝ้าย Cotton 65% และ Polyester Perma 35% และส่วนผสมของ นาโนซิงค์ออกไซด์ มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราถึง 99.9 % ใช้เทคนิคการเย็บประกบ 2 ชั้น แบบ 3D กระชับเข้าใบหน้า สามารถซักได้ถึง 150 ครั้ง ลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และป้องกันแสง UV ได้มากกว่า 25%

แบบสุดท้ายคือ หน้ากากผ้าฝ้ายผสมสแปนเด็กซ์ เนื้อผ้าทำจากเส้นใยฝ้าย 95% ผสมเส้นใยยืดสแปนเด็กซ์ 5% เนื้อผ้ามีความอ่อนนุ่มซ้อนประกบ 2 ชั้นตัดเย็บและติดยางคล้องหูให้กระชับกับใบหน้า ทั้งนี้หน้ากากทั้ง 3 แบบสามารถซักและนำกลับมาใช้ได้ แต่ที่สำคัญสุดคือต้องซักและใส่อย่างถูกวิธีเพื่อลดการกระจายของเชื้อไวรัส

หน้ากากผ้าฝ้ายผสมสแปนเด็กซ์

นอกจากขั้นตอนการตัดเย็บแล้วอีกขั้นตอนที่สำคัญก่อนจะถึงมือประชาชนคือ ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพที่ละเอียดไม่แพ้การตัดเย็บชุดชั้นใน พนักงานฝ่ายตรวจสอบคุณภาพต้องดูทั้งฝีเข็มที่แน่น เนื้อผ้าที่ไม่รุ่ย การยืดหยุ่นของหน้ากาก และที่จะขาดไม่ได้คือ สุขภาพอนามัยของพนักงานฝ่ายผลิตทุกคนที่จะต้องตรวจวัดอุณหภูมิตั้งแต่ก่อนเข้าโรงงาน ด้านในโรงงานเองก็มีการใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย มีจุดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และต้องใส่หมวกคลุมผมอยู่ตลอดเวลา

“ดีใจที่ได้มาทำตรงนี้ ภูมิใจที่บริษัทปรับมาทำหน้ากาก เพราะแม้เราจะเป็นพนักงานคนหนึ่งแต่หนูก็รู้สึกว่าหนูได้ช่วยคนอื่นได้” ลัดดา พรถิระกุล พนักงานแผนกตัดเย็บชุดชั้นในกล่าว

หน้ากาก
หน้ากาก
ลัดดา พรถิระกุล พนักงานแผนกตัดเย็บชุดชั้นใน

สำหรับตอนนี้ทางวาโก้ยังไม่มีการตั้งจุดแจกหน้ากากผ้าอย่างเป็นทางการ แต่เน้นการแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ขอเข้ามาเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนหรือส่วนต่างๆ ที่ขาดแคลนหน้ากากผ้าอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ www.facebook.com/wacoal.th และคลิกชมภาพการผลิตหน้ากากผ้าเพิ่มเติมได้ที่ www.youtube.com/sarakadeelite


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"