เปลือยโครงสร้าง วัดอรุณฯ ผ่านหนังสือใหม่ แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม
- หนังสือ แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม เป็นหนังสือเล่มล่าสุดในชุด “อัศจรรย์วัดอรุณ” มีเนื้อหาเจาะลึกถึงโครงสร้างและสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมต่างๆภายในวัดอรุณฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาสถาปัตยกรรม การบูรณปฏิสังขรณ์และการอนุรักษ์
- พระปรางค์ วัดอรุณฯ ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทยที่รู้จักไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่ความสวยงาม แต่พระปรางค์วัดอรุณฯ ยังถือเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญของสถาปัตยกรรมไทย นอกเหนือจากความสูงถึง 81 เมตรแล้ว ยังผสานงานศิลปะแบบไทย-จีน-เทศ ได้อย่างลงตัว
วัดอรุณฯ หรือ วัดอรุณราชวราราม นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่สำคัญและแลนด์มาร์คที่ทำให้คนทั่วโลกนึกถึงประเทศไทยแล้ว วัดอรุณฯ ยังเป็นแหล่งรวมงานศิลป์ชั้นเอกสมัยต้นรัตนโกสินทร์
จุดเด่นของวัดแห่งนี้ไม่ใช่เพียงองค์พระปรางค์สูงประมาณ 81 เมตรที่งามสง่าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่องค์พระปรางค์ยังผสานงานศิลป์อย่างไทย-จีน-เทศ จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นอกเหนือจากความงดงามของสถาปัตยกรรมภายนอกที่เราได้ชื่นชมแล้ว หากอยากจะไขความลับแห่งความหมาย และภูมิปัญญาการก่อสร้างของช่างไทยให้ลึกซึ้งมากขึ้น หนังสือ แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม ที่เพิ่งออกมาล่าสุดจะเปลือยให้เห็นโครงสร้างของสถาปัตยกรรมต่างๆ ใน วัดอรุณฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาสถาปัตยกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์และการอนุรักษ์
หนังสือปกแข็ง จำนวน 239 หน้า มีเนื้อหาสองภาษาทั้งไทยและอังกฤษ เป็นหนังสือเล่มที่ 4 ในชุด “อัศจรรย์วัดอรุณ” จัดทำโดยอาคเนย์ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ วัดอรุณฯ มาแล้ว 3 เล่มในชุดเดียวกัน คือ “คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม” “พัฒนาการพระปรางค์ในสยามประเทศ” และ “ศิลปกรรมงานช่างวัดอรุณราชวราราม” โดยเนื้อหาของหนังสือทั้งสามเล่มโฟกัสลงรายละเอียดที่ วัดอรุณฯ เนื่องจากพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นตราสัญลักษณ์ของอาคเนย์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมากว่า 73 ปี
“หนังสือชุดอัศจรรย์วัดอรุณ เป็นการรวบรวมองค์ความรู้มากมายที่เกี่ยวกับ วัดอรุณฯ โดยมีเนื้อหาค่อยๆ เข้มข้น และมีความเฉพาะทางมากขึ้นจนมาสู่เล่มล่าสุด เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการสำรวจรังวัด ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมิติทางเรขาคณิต ผ่านองค์ประกอบของเส้นสายในเชิงลวดลาย รูปแบบ รูปทรง ทำให้ได้แบบสถาปัตยกรรมซึ่งมีความสวยงามสมจริง ถ่ายทอดลงสู่แบบในกระดาษด้วยวิธีการอิงมาตราส่วนตามระบบสากล”
อาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ กล่าวถึงหนังสือ แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม เล่มล่าสุด
เนื้อหาโดยสังเขปของหนังสือเล่มล่าสุดจะเปิดเผยให้เห็นสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมของพระปรางค์ประธานซึ่งถือเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญของสถาปัตยกรรมไทย รวมถึงสถาปัตยกรรมอื่นในวัด อาทิ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง ซุ้มประตูกำแพงรั้วเหล็ก ประติมากรรมรูปยักษ์ และ ซุ้มประตูยอดมงกุฎ รายละเอียดเกี่ยวกับงานเขียนแบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมยังถูกรวบรวมเป็นองค์ความรู้เพื่อการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต
พระปรางค์ทรงจอมแหกับการจำลองเรื่องราวไตรภูมิ
ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็น “ปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์แบบอิทธิพลขอมของอยุธยา” เพราะได้ดัดแปลงแก้ไขจากศิลปะอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นพระปรางค์ที่แตกต่างจากองค์อื่นในประเทศไทย
ตัวองค์พระปรางค์มีฐานกว้าง แล้วค่อยเรียวเล็กไปจนถึงยอดแบบที่เรียกว่า ทรงจอมแห องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เปลือกหอย เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน บางส่วนทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเป็นลายดอกไม้และใบไม้อันป็นลักษณะเด่นของศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3
เรื่องราวไตรภูมิได้ถูกจำลองไว้ในสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ โดยรั้วขององค์พระปรางค์เปรียบเสมือนกำแพงของจักรวาล พื้นลานกว้างเปรียบเป็นท้องทะเลสีทันดร กลางทะเลมีเขาพระสุเมรุซึ่งคือองค์พระปรางค์ แวดล้อมด้วยปรางค์ 4 ทิศแทนที่ 4 ทวีป บริเวณฐานพระปรางค์ประดับด้วยสัตว์หิมพานต์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุของพระปรางค์ หรือยอดเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในไตรภูมิ ส่วนยอดของพระปรางค์ประดับด้วยนภศูล อาวุธของพระอินทร์มีลักษณะเป็นฝัก 9 แฉก เหนือขึ้นไปเป็นมงกุฏซึ่งรัชกาลที่ 3 นำมาจากเศียรของพระประธานในโบสถ์วัดนางนอง ย่านบางขุนเทียน
ศิลปะพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 กับที่มาชื่อ “ท่าเตียน”
วัดอรุณฯ หรือรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า วัดแจ้ง อยู่คู่กับแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดมะกอกนอก เพราะตั้งอยู่นอกเขตชุมชนและลึกเข้ามาในคลองบางกอกใหญ่ แต่เหตุที่เรียกต่อมาว่าวัดแจ้งเพราะมีเรื่องเล่าว่าเมื่อหลังกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 จนยากบูรณะ สมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ เสด็จมาตามลำน้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดมะกอกนอกในเวลารุ่งแจ้ง และพระองค์ได้เสด็จขึ้นฝั่งเพื่อไปนมัสการพระปรางค์ภายในวัด
ภายหลังพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีได้โปรดบูรณะวัดแจ้ง ต่อมารัชกาลที่ 2 พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม และในสมัยรัชกาลที่ 4 เปลี่ยนสร้อยท้ายชื่อเป็น วัดอรุณราชวราราม หมายถึง วัดแห่งรุ่งอรุณ และชาวต่างชาติรู้จักในชื่อ The Temple of Dawn
ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีการบูรณะวัดหลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์โปรดเกล้าให้บูรณะพระปรางค์องค์เดิมให้สูงขึ้นจากเดิมซึ่งสูงประมาณ 16 เมตรเป็น 81 เมตร เพื่อให้เป็นพระธาตุประจำพระนคร แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นรูปแบบศิลปะที่เรียกว่า ศิลปะพระราชนิยม
เมื่อพูดถึงวัดแจ้ง อีกตำนานโด่งดังคือเรื่องยักษ์วัดแจ้งฝั่งธนบุรี และยักษ์วัดโพธิ์ฝั่งพระนคร ยักษ์วัดแจ้งมี 2 ตนยืนอยู่หน้าโบสถ์ กายสีขาวคือสหัสเดชะ กายสีเขียวคือทศกัณฐ์ ตามตำนานเล่าว่าวัดทั้ง 2 ฝั่งเดิมเป็นเพื่อนรักกันแต่เกิดผิดใจเพราะยักษ์วัดโพธิ์ข้ามฟากมายืมเงินยักษ์วัดแจ้งแล้วไม่ยอมคืน เป็นเหตุให้ทะเลาะต่อสู้กันจนบริเวณฝั่งพระนครเรียบเตียน อันเป็นที่มาของชื่อ “ท่าเตียน” ในปัจจุบัน
อ้างอิง
นิตยสารสารคดี ฉบับมีนาคม 2538 และ ฉบับเดือนตุลาคม 2553
Fact File
- หนังสือ แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม ราคาเล่มละ 5,000 บาท
- มีจำหน่ายออนไลน์ที่ www.asiabooks.com www.chulabook.com และ www.naiin.com