คู่มือ กักตัวอยู่บ้าน ทำอย่างไรไม่ให้บ้านกลายเป็นแหล่งระบาด COVID-19
- อย่าให้บ้านกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่เชื้อ COVID-19 กับคู่มือการกักตัวอยู่บ้านที่ถอดบทเรียนมาจาก คู่มือเอาตัวรอดจาก COVID-19 เขียนโดย นายแพทย์จางเหวินหง หัวหน้าแผนกโรคติดต่อ โรงพยาบาลหัวซาน
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ หรือ สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ควรกักตัวอยู่บ้าน โดยคำว่า “ผู้สัมผัสใกล้ชิด” ไม่ได้หมายถึงเพียงแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาลที่อาจใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 เท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้ที่ร่วมเรียน ทำงาน หรือโดยสารยานพาหนะร่วมกัน
ช่วงนี้หลายบริษัทได้ปรับวิธีการทำงานเป็นแบบ work from home อย่างเต็มตัว หลายคนอยู่ในกลุ่มต้องสงสัยว่า เราติดยังนะ หรือาจจะเคยสัมผัสกับผู้ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ดังนั้นทางออกที่จะหยุดการแพร่เชื้อได้ก็คือรีบ กักตัวอยู่บ้าน
แต่ด้วยความที่สังคมไทยมักจะอยู่รวมเป็นครอบครัวใหญ่ มีผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่รวมในบ้าน อีกทั้งสมาชิกในบ้านทั้งหมดก็อาจจะไม่ได้อยู่ในบ้านตลอดเสียทีเดียว บางคนยังคงต้องไปทำงาน บางคนออกไปจ่ายตลาด ไปธนาคาร นั่งรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งถ้าไม่ระวังก็อาจจะทำให้บ้านกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ก็เป็นได้
Sarakadee Lite ขอถอดบทเรียนการ กักตัวอยู่บ้าน จากหนังสือ “คู่มือเอาตัวรอดจาก COVID-19” เขียนโดย นายแพทย์จางเหวินหง หัวหน้าแผนกโรคติดต่อ โรงพยาบาลหัวซาน หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญการรักษาทางการแพทย์นครเซี่ยงไฮ้ ในเหตุการณ์ระบาดของ COVID-19 ซึ่งหัวใจของการกักตัวอยู่บ้านคือ ตัดโอกาสการสัมผัสไม่ให้ผู้ป่วย (หรือผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ) แพร่เชื้อสู่สังคม ป้องกันการเกิดผู้ป่วยรุ่นที่ 2 และ 3 ตามมา
ใครบ้างต้องกักตัว
- ผู้ที่เดินทางไปเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ หรือ สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คำว่า “ผู้สัมผัสใกล้ชิด” ไม่ได้หมายถึงเพียงแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล หรือผู้ที่ไปเยี่ยมผู้ป่วย หรือพบเจอกับญาติที่ใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 เท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้ที่ร่วมเรียน ทำงาน หรือโดยสารยานพาหนะร่วมกัน ดังนั้นหากจะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะควรจดเบอร์รถ ทะเบียนรถ ไว้ทุกครั้ง เพราะไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นเพื่อนร่วมทางกับผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ หรือ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ก็ได้ และถ้ารู้แล้วว่าคุณเป็นหนึ่งในนั้น จึงจะเข้าสู่มาตรการกักตัวเป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ในระหว่างที่กักตัวอยู่บ้านแล้วไม่มีอาการที่สงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ยังคงต้องให้แยกตัวเองอย่างเด็ดขาด มีวินัยตลอด 14 วัน แต่ถ้าระหว่างนั้นมีอาการที่น่าสงสัย สามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนกระทรวงสาธารณสุข โทร. 1422 หรือเข้ารับการรักษาโดยด่วน
กฏเหล็กของการ กักตัวอยู่บ้าน
- การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่เชื้อ ใครรู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว ควรอยู่ในห้องแยกต่างหากที่อากาศถ่ายเท ไม่ใช้พื้นที่ส่วนรวม เช่น ครัว ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ร่วมกับผู้อื่น
- หากไม่สามารถแยกการใช้พื้นที่ส่วนรวมได้ ควรรักษานะยะห่างจากคนอื่นในครอบครัวอย่างน้อย 1 เมตร
- เลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะภาชนะกินอาหารควรใช้ของใครของมัน
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน แม้แต่ผ้าห่ม และถ้าเลือกได้ไม่ควรใช้ห้องน้ำร่วมกัน
- ผู้กักตัวควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และถ้าต้องออกมาในพื้นที่ส่วนรวมก็ควรจะให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันใส่หน้ากากด้วยเช่นกัน
- ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบทำความสะอาดเครื่องใช้และห้องต่างๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะห้องน้ำ หากมีการใช้ร่วมกันก็ควรทำความสะอาดทุกวันด้วยเช่นกัน
- ถ้าเป็นไปได้ควรใช้น้ำร้อน 60-90 องศาเซลเซียส ร่วมกับน้ำยาซักผ้าปกติในการซักผ้า และเครื่องนอนของผู้ที่ต้องกักตัว และอย่าให้เสื้อผ้า เครื่องนอนที่ใช้แล้วของผู้ที่กักตัวสัมผัสกับผ้าอื่นๆ ที่สะอาด
- ควรสวมถุงมือทุกครั้งในการทำความสะอาด และล้างมือทั้งก่อนและหลังทำความสะอาด ถ้าเลือกได้แนะนำถุงมือประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- ถ้าต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ควรปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำชำระ
- ถ้าไอหรือจาม แม้แต่ไอแห้งเบาๆ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือแขนเสื้อปิดปาก หลังไอจามเสร็จควรล้างมือทุกครั้ง
- แยกขยะ เช่น ถุงมือ กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย และทำเครื่องหมายติดป้ายไว้ว่าขยะติดเชื้อ และแม้ตอนนี้ตามท้องถนนจะยังไม่มีถังขยะแยกสำหรับขยะติดเชื้อเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ก็เป็นการดีกว่าที่เราจะได้บอกเจ้าหน้าที่เก็บขยะให้เพิ่มความระมัดระวัง
หากมีสัตว์เลี้ยงต้องทำอย่างไร
- เมื่อนำสัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้านให้ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงตามปกติ ไม่ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อพิเศษแต่อย่างใด ทว่าหากสัตว์เลี้ยงสัมผัสผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งอาจกำลังกัดตัวอยู่ในบ้าน ควรจับแยกสัตว์เลี้ยงออกต่างหากเพื่อสังเกตอาการ
นานแค่ไหนถึงเลิกกักตัว
- ถ้าไม่มีอาการไอ จาม น้ำมูก ไข้ขึ้น เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ หลังกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วันแล้วก็สามารถออกมาใช้พื้นที่ส่วนรวมในบ้านได้ แต่ต้องมั่นใจว่าคุณจะอยู่บ้าน ไม่ออกไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออีก
- สำหรับหลายอาชีพที่ยังคงทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการพบเจอผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ COVID-19 อยู่ทุกวัน เช่น แพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถโดยสาร เมื่อกลับเข้าบ้านก็ควรจะแยกตัวเองออกจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
Fact File
- คู่มือเอาตัวรอดจาก COVID-19 เขียนโดย นายแพทย์จางเหวินหง แปลโดย รำพรรณ รักศรีอักษร สำนักพิมพ์ AMARIN Health ราคา 89 บาท สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ www.Amarinbooks.com หรือ inbox มาที่เพจเฟซบุ๊ค Amarinbooks