Teayii ศิลปินที่เป็นเพื่อนกับทุกความรู้สึก และอยากให้ภาษากลายเป็นงานศิลปะ
- Teayii หรือ เตยยี่-ประภัสสร กาญจนสูตร ศิลปินที่เรียกได้ว่ามาแรงที่สุดคนหนึ่งตอนนี้ เป็นศิลปินที่ใช้ภาษาไทยมาสื่อสารความรู้สึกที่บางครั้งก็เจ็บปวด แต่ทำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงการยอมรับความรู้สึกที่แท้จริง
- หลายคนอาจคุ้นเคยงานของ Teayii ผ่าน IG เพราะนี่คือแกลเลอรีหลักในการเผยแพร่งานศิลปะจากอักษรภาษาไทยของเธอ
ในวันที่ความรู้สึกทางใจบาดเจ็บเหมือนไม่มีวันรักษาหาย การได้ฟังหรืออ่านข้อความจากใครบางคนอาจทำให้เราได้รับการเยียวยา หรือไม่บางทีก็อาจพบความเจ็บปวดขั้นกว่าแต่พาเราไปยืนในจุดที่จริงที่สุดก็ได้ สำหรับ Teayii หรือ เตยยี่-ประภัสสร กาญจนสูตร ศิลปินที่เรียกได้ว่ามาแรงที่สุดคนหนึ่งตอนนี้ เหมือนจะให้น้ำหนักกับอย่างหลังมากกว่า เพราะในวินาทีที่สู้กับใจตัวเองจนทรุดลงแทบพื้น เธอเลือกเดินตรงไปหาประตูที่จริงที่สุดเพื่อเปิดออก โอบกอด และศิโรราบต่อความทุกข์ว่ามีอยู่จริง
หากไดอารีคือข้อความส่วนตัวที่เธอเขียนเพื่อสะท้อนความรู้สึกของตัวเอง Teayiiartworks อาจเทียบได้กับไดอารีอีกเล่มที่เธอกางเปิดให้ทุกคนได้ร่วมอ่าน หรือในอีกความหมายเธออยากให้พื้นที่นี้เป็น พื้นที่ปลอดภัย ให้ทุกคนสามารถรู้สึกได้ในทุกสิ่งที่อยากรู้สึก ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายที่อยากให้ภาษาไทยสนุก เข้าถึงง่ายและกลายเป็นงานศิลปะได้เช่นเดียวกับที่เห็นในภาษาอื่นๆ
“การเขียนหนึ่งครั้งในเรื่องที่เราเจ็บปวด มันเป็นการเปิดรอยแผลที่เราไม่อยากเปิด วันนั้นเราต้องพร้อมจริงๆ ที่จะเปิดความรู้สึกนั้นแล้วกลับไปเขียน บางคำมันง่ายมากเลยนะ แต่มันเป็นคำที่เรารู้สึกจริง เช่น เธอทำอย่างนี้กับเราได้ยังไง คำสั้นๆ แค่นี้เองหรือ เธอคือสุสานความทรงจำ คำพวกนี้มันแงะแผลเราออกมาเขียน คำว่า เจ็บชิบหาย ของเรา เราไม่ได้เขียนส่งเดชนะ มันแปลว่าวันนั้นเราเจ็บจริงๆ คือเราไม่ได้รู้สึกว่าเราใช้หมึกเขียนแล้ว เราใช้เลือดเราเลยนะ เราเลยรู้สึกว่าต้องมีโมเมนต์ที่รู้สึกถึงจะนั่งลงเขียนได้ ขั้นตอนแรกที่เราทำก่อนการสื่อสารออกไป คือเราต้องเขียนคำแต่ละงานเกิน 300 คำ แล้วโมเมนต์ที่เราได้เขียนคำพวกนั้นคือโมเมนต์ที่เราได้สะท้อนออกมาสุดๆ ว่าเรารู้สึกและอยากมูฟออนอย่างไร ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ เลยต้องให้เวลาค่อนข้างมาก”
จากมาสคอตแห่งความสุข เป็นมนุษย์ที่เจ็บปวดได้
นอกจากการเป็นเจ้าของข้อความโดนใจ ภาพจำหนึ่งที่หลายคนอาจเห็นและจดจำ Teayii ได้คือความสนุก เสียงหัวเราะ และความเฮฮา แต่วันที่ลงมือเขียนเธอเล่าว่าเจ็บจนทนไม่ไหว แล้วการเขียนก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เธอนั่งลงเพื่อระบายความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ จากข้อความโอบกอดหัวใจตัวเอง วันหนึ่ง Teayii ก็กลายเป็นที่รู้จักในตอนที่ข้อความเหล่านั้นออกมาแบบเรียบง่ายและจริงที่สุด
“เมื่อก่อนเราเป็นคนจัดอีเวนต์อยู่แล้ว เราชอบทำ Art Experience ในชื่อ RhythmThinker เช่น ME, MYSELF AND I (2019) นิทรรศการที่ให้คนมาส่งจดหมายถึงตัวเอง แต่สำหรับเตยยี่คือเริ่มมาจากตอนที่เรารู้ว่าคำของเรามีคนเห็นคุณค่านะ เลยคิดว่างั้นทำให้คนจับต้องได้ดีกว่าไหม โดยการสร้างคอนเซปต์แต่ละพาร์ทขึ้นมา เราเป็นคนสร้างงานที่ชอบเคารพสถานที่นั้นๆ ว่าสถานที่นั้นมีบรรยากาศอย่างไร แล้วเราจะเสิร์ฟคำและไอเดียให้เหมาะกับสถานที่นั้น ชอบตีโจทย์ตามสถานที่และคอนเซปต์เป็นหลัก”
“ก่อนหน้านี้เราเป็นครูสอนการแสดงด้วย การสื่อสารที่เราใช้ก็จะเป็นเวิร์คช็อป เรารู้สึกว่ามีคนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เข้าถึงได้ จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่า ตัวหนังสือมันกอดใจเราได้นะ มันเป็นการสื่อสารที่ง่ายด้วย และคำที่เราคิดมันก็จริงมากๆ สำหรับเรา ในมุมมองของเรา คำนี่แหละเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดแล้ว เพราะถ้าเราไม่เห็นค่าในแต่ละคำที่เราเขียน งานเราก็จะไม่มีคุณค่า มันเลยเป็นความรู้สึกว่าทุกงานที่เราทำเรายกคุณค่าให้ภาษาไทยทั้งหมด เราอยากทำให้ภาษาไทยมันสนุกขึ้น คนเข้าถึงง่ายและทำให้ภาษาไทยกลายเป็นงานศิลปะ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการ”
เคารพทุกฤดูกาลในหัวใจ
พื้นที่ปลอดภัยที่ Teayii กล่าวถูกนำเสนอผ่านข้อความที่แม้หลายคำจะเจ็บแสบ แต่เป็นการย้ำเตือนอีกเสียงว่าความทุกข์และการเสียใจเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในเชิงประสบการณ์เธอมักครีเอตนิทรรศการในพื้นที่จริงให้คนได้มาใช้เวลาไปกับงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ทั้ง Installation ทอล์ค หรือแม้แต่มินิคอนเสิร์ตชนแก้วจิบเบียร์พูดคุยกัน แต่สุดท้ายแล้วเป้าหมายเดียวที่เธอต้องการคืออยากให้พื้นที่นั้นมนุษย์รู้สึกอะไรก็ได้ที่ตนอยากรู้สึก
“บางงานเราสร้างขึ้นมาเพื่อจิกกัดความรู้สึกตัวเองด้วยสไตล์งานเขียนที่เราเข้าใจธีมแล้ว ธีมในที่นี้คือสัจธรรมและความจริง เช่น ลืมไม่ได้ก็จำแม่งเลย มันเป็นคำที่เราเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องลืมนะ ยิ่งลืมยิ่งทรมานนะ ก็จำไปสิ แล้วแต่เลยว่าวันนั้นเราอยากตะโกนบอกว่าอะไร บางทีก็อาจจะเป็นแค่ เห้ย มามูฟออนกัน พื้นที่ตรงนี้ถ้าลืมไม่ได้ก็มารวมตัวกันสิวะ อะไรแบบนั้น”
“เราโดนสอนมาด้วยแหละว่าเราต้องเข้มแข็ง การมีความทุกข์เป็นความอ่อนแอ แต่จริงๆ ถ้าเราเจอความทุกข์ไปจนถึงจุดๆ หนึ่งเราจะรู้ว่าการมีความทุกข์เป็นธรรมะ ธรรมะในที่นี้คือธรรมดา แล้วเมื่อมนุษย์ศิโรราบให้กับธรรมชาติ มนุษย์จะไม่ต่อต้านอะไรเลยแม้กระทั่งความรู้สึกตัวเอง ความจริงไม่น่ากลัว ความคิดเรานี่แหละน่ากลัวกว่า”
ขอให้ “เธอ” เคารพเสียงของ “เธอ” เอง
ครั้งล่าสุดที่เราได้เจอกับ Teayii เธอจัดงานทอล์คร่วมกับ King Power Mahanakorn ตรงกับช่วงวันสตรีสากลโลก ในธีม A Voice that Matters หรือ ขอให้ “เธอ” เคารพเสียงของ “เธอ” เอง ซึ่งเป็นใจความที่ปรากฏอยู่ในทุกๆ งานที่ผ่านมา
“มันเป็นคำที่เราพูดตลอดเลย ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายแล้วเราผ่านจุดที่เราเห็นความต้องการคนอื่น เราเห็นว่าโลกนี้หมุนไว เราเห็นแม้กระทั่งเราไม่ทันความคิดตัวเอง เราได้ยินเสียงทุกเสียงเลย แต่เสียงที่ทำให้เราหยุดได้จริงๆ คือเสียงของเรา และคุณค่าของความเป็นมนุษย์มันไม่ได้อยู่ที่คนอื่นให้ค่านะ มันอยู่ที่ว่าวันนี้เราให้ค่าตัวเองอย่างไร นี่คือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ให้ตัวเราได้ยิน”
“ในวันสตรีโลก จริงๆ เราไม่ได้แค่มาเป็นเสียงให้ผู้หญิงเพียงอย่างเดียว เสียงนี้เราให้ความเป็นมนุษย์ดีกว่า Subtext ของวันสตรีโลกคือความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเพศไหน เคารพความเป็นมนุษย์ของตัวเองดีกว่า เมื่อเราเคารพความเป็นมนุษย์ของตัวเองแล้ว ก้าวต่อไป เราจะเรียนรู้และเคารพความเป็นมนุษย์และเสียงของคนอื่น สิ่งต่อมาที่เราชอบพูดเสมอเวลาคนมาเสพงานศิลปะก็คือขอให้ทุกคนเจอพื้นที่ปลอดภัยในหัวใจ มันสำคัญมากนะ วันหนึ่งที่เรารู้สึกหวาดระแวง เราจะมองว่าโลกนี้น่ากลัวและไม่น่ารักเลย สองสิ่งที่เราชอบฝากเสมอคือ ให้เคารพความเป็นมนุษย์ของตัวเองแล้วก็ขอให้เจอพื้นที่ปลอดภัยในหัวใจของเรา” เตยยี่กล่าวปิดท้าย ซึ่งแม้งานทอล์คครั้งนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ไม่ต้องห่วงเพราะปีนี้เธอบอกว่าจะมีงานตามมาให้ไปเจออีกยาวๆ รวมถึงการทัวร์ต่างจังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย
Fact File
- A Voice that Matters หรือ ขอให้ “เธอ” เคารพเสียงของ “เธอ” เอง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม 2566 เวลา 19:00-00:00 น. ชั้น 74 ตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร
- ติดตาม Teayii ได้ทาง Facebook : www.facebook.com/teayiiartworks
- Instagram : www.instagram.com/teayiiartworks/