ดอกไม้สด : ดอกไม้กลีบบางที่หาญกล้าหยอกสังคม การเมือง ผ่านเรื่องชวนฝัน
Faces

ดอกไม้สด : ดอกไม้กลีบบางที่หาญกล้าหยอกสังคม การเมือง ผ่านเรื่องชวนฝัน

Focus
  • ดอกไม้สด เป็นแม่แบบของนักเขียนนวนิยายสัจนิยมกึ่งพาฝัน” เล่าเรื่องจริงของสังคม วิถีชีวิต นโยบายรัฐ สถานการณ์บ้านเมือง ผ่านนวนิยายรักพาฝัน
  • หากสังเกตให้ดีงานเขียนของ ดอกไม้สด มักจะสร้างตัวละครหญิงให้มีการเปรียบเทียบกันระหว่างผู้หญิงจากสังคมแบบเก่าและผู้หญิงที่มาจากกรอบสังคมแบบใหม่ โดยเฉพาะจากสังคมตะวันตก

หากเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ของนวนิยายไทย แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ ดอกไม้สด หรือ ม.ล.บุปผา กุญชร ผู้เป็นแม่แบบในการสร้างสรรค์นวนิยาย “สัจนิยมกึ่งพาฝัน” เล่าเรื่องสังคม วิถีชีวิต นโยบายรัฐ สถานการณ์บ้านเมือง ผ่านนวนิยายรักพาฝัน ดอกไม้สด ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนผู้บุกเบิก “นวนิยายไทย” ร่วมยุคกับ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง และ กุหลาบ สายประดิษฐ์

หมึกแรกถึงย่ำรุ่ง

ดอกไม้สด เริ่มชีวิตนักเขียนนวนิยายครั้งแรกด้วยวัยเพียง 24 ปีจากการเขียนนวนิยาย ศัตรูของเจ้าหล่อน (2472) ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยเขษม งานเขียนในช่วงแรกมักมีลักษณะโรมานซ์ และการเล่าเรื่องผ่านตัวละครผู้หญิงเป็นส่วนมาก ส่วนพล็อตเรื่องส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับครอบครัว วิถีชีวิตในยุคสมัยนั้น และที่ขาดไม่ได้คือความรักของหนุ่มสาว

หลังจากก้าวสู่ชีวิตนักเขียนแนวโรมานซ์ได้ไม่นาน ประเทศไทยก็เกิดเหตุการณ์ “ย่ำรุ่ง”  (6.00 น.วันที่ 24 มิถุนายน 2475) คณะราษฎร ได้ทำการ “อภิวัฒน์สยาม” เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศสู่ประชาธิปไตยเป็นเหตุที่ทำให้ชนชั้นสูงได้รับผลสะเทือนในการต้องปรับตัวเข้ากับการถูกลดทอนอำนาจลง และยังกระทบต่อวิถีชิวิตที่ต้องปฏิบัติอยู่ภายใต้ระเบียบใหม่ของรัฐใหม่ ดอกไม้สด ในฐานะ “หม่อมหลวง” จึงได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน และส่งให้ผลงานของดอกไม้สดหลังปี พ.ศ.2475 เปลี่ยนจากโรมานซ์ รักหวานชวนฝัน มาสร้างบุกเบิกแนวงานเขียนแบบ “สัจนิยมกึ่งพาฝัน” นำเรื่องโรมานซ์พาฝันที่ถนัดมาผนวกเข้ากับภาพของสังคมและผู้คนมาหลัง 2475 ที่ต้องปรับตัวเข้ากับโลกทัศน์แบบใหม่ พร้อมกับการเสนอแนวคิดในฐานะชนชั้นสูงที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถี และหาค่านิยมในการดำรงชีวิต เพื่อหาทางอยู่ร่วมกับระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งดอกไม้สดสามารถสะท้อนภาพสังคมจริงออกมาในนวนิยายได้อย่างเพลิดเพลิน

ผู้ดีในความหมายใหม่

ผู้ดี เป็นชื่อนวนิยายเรื่องดังของ ดอกไม้สด สะท้อนวิธีคิดหลัง 2475 ที่ว่าชนชั้นสูงจะสามารถดำรง และรุ่งเรืองอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนค่านิยม จากศักดินามาประกอบอาชีพเฉกเช่น ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะพ่อค้าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในนวนิยายจึงเริ่มเห็นการนำเสนออาชีพค้าขายแทนการรับข้าราชการ เช่นในนวนิยาย สามชาย (2476) ซึ่งมีตัวละครหลักเป็นพ่อค้า หนึ่งในอาชีพหลัง 2475 ที่กำลังจะกลายเป็น ผู้ดีใหม่ และเผยให้ในทัศนะของดอกไม้สดที่ว่าอาชีพอื่นใดนอกจากข้าราชการก็สามารถสร้างชาติได้

การเป็นพ่อค้าในนวนิยายนอกจากการเสนอนิยามค่านิยมแล้วยังสะท้อนบทบาทของ “เจ้าสัว” ที่กำลังรุ่งเรืองมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและกำลังจะก้าวเข้ามาเป็นชนชั้นผู้ดีใหม่

“มันโตขึ้นเพราะเงินต่างหากล่ะ…” “มีแต่พวกตื่นเงินเท่านั้นที่บูชาคนพวกนี้” จากนวนิยาย สามชาย

ผู้หญิงถึงผู้หญิง

อีกองค์ประกอบที่พบได้เด่นชัดในงานเขียนของดอกไม้สด คือ การให้บทบาทสำคัญของตัวละครฝ่ายหญิง ซึ่งดอกไม้สดได้ย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของผู้หญิงมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามแล้ว เช่นในนวนิยายเรื่อง กรรมเก่า (2475) เป็นนวนิยายที่เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กรรมเก่าได้นำเสนอตัวละครหญิง ที่เติบโตและได้รับการอบรมสั่งสอนแบบตะวันตก ผู้หญิงในกรรมเก่าจึงมีการเข้าร่วมสมาคมกับผู้ชายได้อย่างไม่เคอะเขิน เปิดเผย ร่าเริง มีความคิดเป็นของตัวเอง และกล้าแสดงความคิดเห็นนั้น

ในนวนิยายแต่ละเรื่อง ดอกไม้สด มักจะสร้างตัวละครหญิงที่มีชุดความคิดที่ต่างกัน เพื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงจากสังคมแบบเก่า และผู้หญิงที่มาจากการอบรมของสังคมแบบใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ในยุคนั้นที่ไทยได้รับอิทธิพลของตะวันตก และส่งผลต่อวิธีคิดของชนชั้นสูงอย่างชัดเจน ดอกไม้สดจึงถือได้ว่าเป็นนักเขียนที่หาญกล้าสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของตัวละครหญิงไทยในนวนิยายไทย

หยิกแกมหยอก

หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองดำเนินมาถึง พ.ศ.2482 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศ รัฐนิยม 12 ฉบับ ขับเคลื่อนนโยบายสร้างชาติเป็นรัฐสมัยใหม่ งานเขียนของดอกไม้สดในช่วงหลังการประกาศรัฐนิยมจึงมีท่วงทำนองค่อนไปทางหยิกแกมหยอกนโยบายของ “ท่านผู้นำ” 

เรื่องนี้ปรากฏชัดในนวนิยาย นี่แหละโลก (2483) ที่มีการสร้างเนื้อหาเสียดสีตั้งแต่นโยบายต่างประเทศ การตั้งรับสงคราม และประกาศรัฐนิยม พร้อมแสดงภาพของประเทศที่กำลังหมกมุ่นฟุ้งกับการสร้างชาติสร้างรัฐ และในขณะที่โลกกำลังตึงเครียดจากสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ดอกไม้สดได้สร้างตัวละครที่ตกอยู่ในสังคมที่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องการบันเทิง ความโก้เก๋ในการแต่งตัว มากกว่าการจะจริงจังกับภัยสงคราม

แม้จะเขียนนวนิยายสะท้อนนโยบายของ “ท่านผู้นำ” แต่ดอกไม้สดก็เลือกเขียนเชิงหยิกแกมหยอก ใส่ชั้นเชิงของงานเขียนพาฝัน เหมือนไม่ได้เคร่งเครียดจริงจังกับสังคม การปกครอง หรือต่อต้านการสร้างชาติของท่านผู้นำมากนัก แต่ก็ไม่เคยทิ้งเรื่องอุดมการณ์ ตัวตน การวิพากษ์สังคมที่แทรกอยู่ระหว่างบรรทัด และนั่นทำให้ดอกไม้สดได้กลายมาเป็นต้นแบบของ “นวนิยายสัจนิยมกึ่งพาฝัน” ที่วิพากษ์สังคมไปพร้อมๆ กับเรื่องรักๆ ชวนยิ้มหวาน (แต่อาจมีคราบน้ำตาซ่อนอยู่)

ม.ล.บุปผา กุญชร (ดอกไม้สด)

อ้างอิง

  • สุพรรณีวราทร. (2519). ประวัติการประพันธ์นวนิยายไทย ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงพ.ศ.2475. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  • ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2558).อ่านจนแตก. แปลโดย พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อ่าน
  • ตรีศิลป์ บุญขจร.(2542). นวนิยายกับสังคมไทย 2475-2500. กรุงเทพ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Fact File

  • สามารถหาซื้อนวนิยายของดอกไม้สด ได้ที่ สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน