นางสงกรานต์ ผ้าโบราณ โขน ขยะพลาสติก เบื้องหลัง “สงกรานต์เทวี” ชุดประจำชาติ Miss Universe Thailand 2022
- บนเวที Miss Universe ประเทศในฟากฝั่งเอเชียสามารถคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม (Best National Costume) มาครองได้บ่อยครั้งโดยเฉพาะประเทศไทย
- สำหรับการประกวด Miss Universe 2022 ประเทศไทยนำเสนอเรื่องราวของ “วันสงกรานต์” ประเพณีวันปีใหม่ไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ภายใต้การออกแบบของดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ พีรณัฐ วิริยะ
บนเวทีการประชันความงานระดับจักรวาล Miss Universe ไม่ได้มีไฮไลต์อยู่แค่ปลายทางว่าประเทศใดจะคว้ามงกุฎความงามมาครองเท่านั้น อีกหนึ่งรางวัลที่เป็นไฮไลต์ก็คือ ชุดประจำชาติ (National Costume) ซึ่งไม่ใช่แค่ชุดที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของประเทศนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่สารที่สื่อผ่าน ชุดประจำชาติ ยังชัดเจนถึงการเชิญชวนให้คนทั่วโลกอยากจะเข้ามาทำความรู้จัก ตามรอย หรือท่องเที่ยวหลังการประกวดจบลง และสำหรับ Miss Universe 2022 นี้ แอนนา เสือ หรือ แอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 สวมใส่ชุด “สงกรานต์เทวี” เล่าขานต้นกำเนิดของสงกรานต์ผ่านการตีความถึง นางสงกรานต์กิมิทาเทวี ในมุมมองใหม่โดยดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ พีรณัฐ วิริยะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ CIQURE
ขยับอัตลักษณ์ไทยสู่สากล
“อย่างที่หลายคนได้เห็นว่าชุดปัจจุบันที่แอนนาใส่ในธีม ‘สงกรานต์เทวี’ เป็นการพัฒนาจากแบบร่างแรกที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งด้วยปัจจัยเรื่องเวลา การตัดเย็บให้คนใส่มั่นใจที่สุด เป็นชุดที่ส่งให้เขาสวยที่สุด จึงมีการพัฒนามาเป็นชุดที่เห็นซึ่งเน้นเรื่องงานปัก อันนี้เป็นสิ่งที่เราถนัด ในขณะเดียวกันก็ยังเล่าถึงประเพณีไทยได้”
พีรณัฐ ย้อนเล่าถึงการพัฒนารูปแบบของชุด สงกรานต์เทวี ซึ่งโดดเด่นด้วยงานปักลูกปัด คริสตัล เลื่อม ในขณะเดียวกันก็ใส่เรื่องราวสงกรานต์และสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นไว้ เริ่มจากลวดลายของชุดที่ได้แรงบันดาลใจมากจากผ้าทอโบราณของจังหวัดน่านที่ชื่อว่า ผ้าลายน้ำไหล โดยของดั้งเดิมเป็นผ้าที่ทอขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า “เกาะ” หรือ “ล้วง” จนเกิดเป็นลวดลายพลิ้วไหวเหมือนสายน้ำที่ไหลเป็นลำธารยาว สันนิษฐานว่าลายน้ำไหลน่าจะเกิดจากจินตนาการของช่างทอผ้าแต่โบราณที่เลียนแบบมาจากสายน้ำน่านซึ่งเป็นสายน้ำหลักของเมือง ส่วนอีกข้อสันนิษฐานระบุว่าลายน้ำไหล อาจเป็นการทอตามเอกลักษณ์ของผ้าทอไทลื้อ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา
แต่แทนที่พีรณัฐจะให้ผ้าลายน้ำไหลอยู่ในฟอร์มเดิมตามแนวขวางของผ้า พีรณัฐเลือกที่จะพลิกลายเป็นแนวตั้งแล้วให้งานปักซึ่งเป็นงานฝีมือในไฮต์แฟชั่นเข้ามาแทนงานทอผ้าแบบเดิม ปล่อยให้ลายน้ำไหลไหลไปตามสัดส่วนของผู้สวมใส่ ส่งให้ช่วงลำตัวดูสูงโปร่งยิ่งขึ้น
“เป็นคนที่ชอบงานปักอยู่แล้ว สมัยยังเป็นนักศึกษาก็ฝึกงานด้านงานปักกับแบรนด์ต่างๆ แล้วตอนเรียนก็ทำธีสีสเรื่องการปักในแง่ที่เป็นศิลปะชั้นสูงและเป็นอัตลักษณ์สำคัญของโขน ความจริงแฟชั่นของไทยเราโดยเฉพาะโขนละครก็มีงานปักที่ประณีตและเป็นศิลปะชั้นสูงไม่แพ้วงการแฟชั่นโอต์ กูตูร์ ในต่างประเทศ เราจึงอยากนำเสนอเรื่องงานปักที่เป็นทั้งตัวตนของเราและเป็นงานตัดเย็บชั้นสูงของไทยเช่นกัน”
อีกชิ้นของงานปักที่โดดเด่นไม่แพ้ชุดคือ กรองคอ สีเงินประกายระยิบระยับซึ่งพีรณัฐได้แรงบันดาลใจมาจากโขนละครที่ต้องมีกรองคอที่เป็นงานปักชั้นสูงเช่นกัน และอีกความพิเศษที่ซ่อนอยู่คือ ดอกไม้ประดับมวยผม ที่ไม่ได้มีเพียงคริสตัลประดับระยิบระยับ แต่ยังซ่อนคริสตัลที่ทำจากขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วเป็นเหมือนหยดน้ำที่กำลังเกาะกลีบดอกไม้ยามเช้า
“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่คิดไว้ตั้งแต่แบบร่างแรกของชุดที่นำเสนอไป แต่ด้วยเงื่อนไขของเวลาทำให้เราไม่สามารถผลิตชุดที่ทำจากไบโอพลาสติกได้ แต่เราก็ยังนำพลาสติกที่เป็นขยะจากขวดน้ำพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ มาเปลี่ยนเป็นเม็ดคริสตัลแวววาวติดเข้าไปกับชุดด้วย เราอยากให้เห็นว่าแฟชั่นชั้นสูงเช่นพวกงานปักก็ทำมาจากขยะที่มันดูเหมือนไม่มีค่า เช่นเดียวกับความสวยงามของแฟชั่นที่กว่าจะออกมาสวยงามได้ เบื้องหลังคือช่างฝีมือที่ไม่เคยมีใครเห็นหรือนึกถึง”
เมื่อมีงานสงกรานต์หลายคนก็นึกถึงปืนฉีดน้ำ พีรณัฐก็เช่นกัน เดิมทีดีไซเนอร์ตั้งใจอยากออกแบบให้นางสงกรานต์ที่มีอยู่ในตำนานออกมายืนถือปืนฉีดน้ำบนความร่วมสมัย แต่ขณะที่ทำงานออกแบบก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับเหตุกราดยิงเด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำพู ทางพีรณัฐจึงรู้สึกว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนใจมาก แม้แต่ปืนฉีดน้ำก็อาจจะทำให้หวนนึกถึงความสูญเสียครั้งใหญ่นี้ พีรณัฐจึงย้อนนึกถึงวัยเยาว์ที่ยังเคยใช้ขันเงินที่เรียกว่า ขันสลุง ในการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ หรือใช้เล่นน้ำในวันสงกรานต์ ท้ายที่สุด นางสงกรานต์กิมิทาเทวี ในเวอร์ชัน แอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 จึงเลือกที่จะถือขันสลุงออกมาโปรยความชุ่มฉ่ำให้ผู้ชม
เมื่อชุดประจำชาติแบกความหวังของคนในชาติ
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นชุดประจำชาติแล้ว แน่นอนว่าบทบาทหน้าที่ของชุดนี้คือการเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ ตัวตนของประเทศนั้นๆ แต่มากกว่านั้นมันคือการแบกความหวังของแฟนนางงามในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนๆ นางงามไทย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลชุดประจำชาติมาได้หลายสมัย ซึ่งพีรณัฐยอมรับว่านี่คือความกดดันที่คาดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าตัวเองต้องเจอ ยิ่งเป็นดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ที่ลาออกจากการเป็นพนักงานประจำในชั่วข้ามคืนและกระโดดมาทำงานใหญ่ครั้งแรกในชีวิตด้วยการออกแบบชุดประจำชาติ Miss Universe Thailand 2022 การก้าวผ่านความกดดันที่ถาโถมมาทุกด้านจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“เราไม่อยากทำชุดให้เป็นภาระกับนางงาม ไม่ให้แอนนาต้องกังวล เราอยากทำชุดที่ส่งเสริมเขา นี่คือสิ่งที่คิดมาตั้งแต่ตัดสินใจลาออกจากงานแล้วมาปรับปรุงพัฒนาแบบร่างส่งกลับไปวันแรก ยิ่งในช่วงที่ทำชุดก็ได้มีโอกาสพูดคุยสนิทกับแอนนามากขึ้นจนรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนเราคนหนึ่ง เราจึงตั้งใจเลยว่าเราจะทำชุดที่ดีที่สุดให้เพื่อนเราใส่แล้วสวยที่สุด คิดเท่านั้นเพื่อให้เราลดความกดดันทุกอย่าง ส่วนถ้าได้รางวัลนั่นคือกำไรของชีวิตเราแล้ว”
แม้จะเจอความกดดันทั้งด้วยเวลา หรือการแบกรับความคาดหวังของแฟนนางงามทั้งประเทศ แต่พีรณัฐบอกกับเราว่าคนที่ทำให้เขาก้าวผ่านความกดดันนั้นได้ก็คือ แอนนา เสือ คนนี้
“ในวันที่ถ่ายโปรโมตชุดเป็นวันที่รู้สึกกดดันมาก กลัวทุกอย่างจะไม่เป็นแบบที่เราตั้งใจไว้ กลัวฟีดแบ็คจากผู้ชมต่างๆ นานา ซึ่งแอนนาเป็นคนที่รับรู้ได้ในความไม่มั่นใจ ความกดดันของเรา ปกติเวลาเราทำชุดดีไซเนอร์จะเป็นคนไปถามคนที่ใส่ชุดว่าโอเคไหม ชุดเป็นยังไงบ้าง กลายเป็นแอนนาเดินเข้ามาบีบมือเราแล้วถามเราว่า ‘โอเคไหม’ คำพูดหนึ่งที่แอนนาทำให้ความมั่นใจของเรากลับมาคือ ‘ถ้าเธอไม่มั่นใจ แล้วคนใส่จะมั่นใจได้ยังไง’ มันเป็นคำพูดที่ส่งพลังมากๆ และก็ทำให้เรากลับมาคิดว่าจริงๆ แล้วแอนนานี่แหละที่จะเป็นคนรับแรงกดดันจากคนทั้งประเทศมากกว่าเรา เขาเป็นคนใส่ เป็นคนพรีเซนต์ เขาจะเป็นคนแรกที่โดนแรงกดดันเหล่านี้ เราจึงปรับจูนตัวเองใหม่แล้วกลับมายืนในจุดยืนแรกที่เราตั้งไว้คือ ทำชุดที่สวยที่สุดให้เพื่อนใส่ ที่เหลือคือกำไรในชีวิตของดีไซเนอร์ตัวเล็กๆ คนนี้”