Night Museum ส่งท้ายปี 65 เส้นทางสายมูฉบับความรู้และประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Arts & Culture

Night Museum ส่งท้ายปี 65 เส้นทางสายมูฉบับความรู้และประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Focus
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรม Night at the Museum ให้ชมยามค่ำคืนรอบสุดท้ายของปี 2565
  • พิพิธภัณฑ์ได้ทยอยปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการถาวรครั้งใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ.2555 และปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้เข้าชมแล้วทุกห้อง
  • เพื่อต้อนรับปีใหม่ 2566 ทางพิพิธภัณฑ์ได้แนะนำเส้นทางเดินชมเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ

ปิดท้ายปี 2565 ด้วยความรู้และเกร็ดประวัติศาสตร์แบบอัดแน่นกับกิจกรรม ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at the Museumพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 ตั้งแต่เวลา 17.00-19.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม และเพื่อต้อนรับการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2566 อย่างเปี่ยมความรู้และพลังใจ ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครซึ่งได้ปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการถาวรครั้งใหญ่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้แนะนำเส้นทาง “นบพระ ไหว้ (เทพ) เจ้า” เพื่อสักการะพระ เทพ เทวดา ผู้ครองเรือนชะตามนุษย์ตามความเชื่อที่มีมาแต่อดีต รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกปักรักษาพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ที่ประทับของพระมหาอุปราชตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“เป็นครั้งแรกที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดเส้นทางสายมูนำชมโบราณวัตถุเกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ เพราะอยากให้มูแบบมีความรู้และเข้าใจว่ามูเพราะอะไร ให้รู้ต้นสายปลายเหตุและประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ” ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการและผู้นำชมเส้นทาง นบพระ ไหว้ (เทพ) เจ้า กล่าว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เนื่องจากระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 ทางพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมเฉพาะพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระตำหนักแดง หมู่พระวิมาน และโรงราชรถ เส้นทางนำชมในกิจกรรม Night at the Museum จึงเริ่มจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ จากนั้นไปชมพระตำหนักแดงที่จัดแสดงศิลปวัตถุเกี่ยววิถีชีวิตของเด็กไทยในอดีต ตั้งแต่การเกิด การโกนจุก การละเล่นและการศึกษารวมถึงความเชื่อเรื่องนพเคราะห์และยันต์แม่ซื้อ และต่อไปยังหมู่พระวิมานเพื่อสักการะพระคเณศ พระชัยมงคลและพระภูมิเจ้าที่  และปิดท้ายที่หอแก้วศาลพระภูมิสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งประจำกรมศิลปากร ซึ่งใช้เวลาชมราว 1 ชั่วโมง ประชาชนทั่วไปสามารถจองรอบเอ็กซ์คลูซีฟมีภัณฑารักษ์นำชมได้ตั้งแต่เวลา 17.00-18.00 น.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธสิหิงค์

พิกัด : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

จุดแรกที่ไม่ควรพลาดคือการกราบสักการะ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือของชาวกรุงเทพฯ มาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์และยังเป็น 1 ใน 3 พระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของไทย เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานดอกบัว พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีพระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง คาดว่าสร้างในปลายพุทธศตวรรษที่ 20

ตามประวัติ พระพุทธสิหิงค์ องค์นี้ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย และต่อมาเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ หลายแห่ง ได้แก่ พิษณุโลก กรุงศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์เป็นเวลานับร้อยปี กระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเมื่อพ.ศ.2310 สันนิษฐานว่าพระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญกลับไปเชียงใหม่อีกครั้ง ต่อมาเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงยกทัพไปเชียงใหม่และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อ พ.ศ.2338

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระประจำวันเกิด

พิกัด : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ในระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2565 – 8 มกราคม 2566 ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปประจำวันเกิดอีก 9 องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษาในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่

สำหรับการบูชาเทวดานพเคราะห์เพื่อให้เจริญอายุและหายจากโรคภัย เป็นคติความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากศาสนาฮินดู กล่าวว่าพระเคราะห์ทั้ง 9 หรือ “อุปสรรค” เป็นผู้บงการโชคชะตาของมนุษย์โดยมี “พระคเณศ” เป็นเจ้าแห่งอุปสรรคทั้งปวง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏการสร้างพระพุทธรูปแทนนพเคราะห์ประจำวันเกิดดังเช่นที่อัญเชิญมาให้สักการะ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เช่น พระพุทธรูปถวายเนตรประจำวันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรประจำวันจันทร์ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ประจำวันอังคาร พระพุทธรูปอุ้มบาตรประจำวันพุธ และพระพุทธรูปป่าเลไลย์ (บูชาแทนพระราหู) ประจำวันพุธกลางคืน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระหายโศก

พิกัด : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระหายโศกเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับขัดสมาธิเพชรแบบศิลปะล้านนาปกติจัดแสดงที่ห้องล้านนาในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ แต่ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2565-8 มกราคม 2566 ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ร่วมกับพระประจำวันองค์อื่น เนื่องจากมีคติความเชื่อว่าพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร (พระบาทไขว้กันและเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง) เช่น พระหายโศกองค์นี้เป็นพระพุทธรูปประจำวันของผู้ที่ไม่ทราบวันเกิดของตน

พระพุทธรูปนามมงคลนี้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 บริเวณฐานด้านหลังมีการจารึกอักษรไทยว่า

“พระหายโศกมาถึงกรุงเทพฯ วัน 1 11+ 5 ค่ำ (วันอาทิตย์ขึ้น 11 ค่ำเดือน 5) ปิ์มเสงยังเป็นอัฐศกศักราช 1218” ซึ่งในข้อความตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 ในสมัยรัชกาลที่ 4

การจารึกชื่อ “พระหายโศก” ที่ปรากฏอยู่ที่ฐานของพระพุทธรูปนั้นสะท้อนถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อพระพุทธรูปล้านนาที่มักตั้งตามคติความเชื่อด้านพระพุทธคุณในเชิงขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจนำความทุกข์โศกมาสู่ผู้กราบไหว้บูชา แต่เดิมนั้นพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปของหลวงและใช้ในการพระราชพิธีเท่านั้น ก่อนที่กรมพระราชพิธีจะส่งมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นพเคราะห์กับยันต์แม่ซื้อ

พิกัด : พระตำหนักแดง

ภายในพระตำหนักแดงจัดแสดง พระอู่จำลอง (เปลเด็ก) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ของพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า บริเวณคานเสาด้านบนมี “ยันต์แม่ซื้อ” ติดอยู่โดยด้านหน้ายันต์แม่ซื้อเขียนเป็นภาพแม่ซื้อประจำวันเกิดของทารก (สังเกตได้จากส่วนศีรษะรูปสัตว์ซึ่งเป็นพาหนะของแม่ซื้อประจำวันต่างๆ) ทำหน้าที่เป็นเทวดาพิทักษ์คุ้มครองเด็กๆ ส่วนด้านหลังยันต์เป็นรูปท้าวเวสสุวรรณซึ่งเป็นเทพผู้เป็นใหญ่ของฝ่ายภูตผีทำหน้าที่ปกป้องเด็กไม่ให้ภูตผีมาเอาไปตามความเชื่อในยุคนั้น

“เรื่องเทวดานพเคราะห์เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องแม่ซื้อที่ว่าเด็กทารกจะมีเทวดาหรือภูตประจำตัวตั้งแต่แรกคลอดจากครรภ์มารดา อย่างไรก็ตามเมื่อรัชกาลที่ 3 โปรดให้มีการชำระพระปฐมสมโพธิกาถาและทรงคัดเลือกลักษณะปางตามที่ปรากฏในพุทธประวัติของพระบรมศาสดาจำนวน 40 ปาง มาสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 จึงปรากฏการสร้างพระพุทธรูปแทนนพเคราะห์ประจำวันเกิด” ศุภวรรณอธิบาย

ถัดจากพระอู่จำลองเป็นประติมากรรมเทพนพเคราะห์หล่อขึ้นตามรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพซึ่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 3 โดยด้านหน้าของเทพนพเคราะห์มีสัตว์พาหนะประจำของแต่ละองค์ปรากฏอยู่ด้วย และเพื่อให้การเรียนรู้เรื่องเทวดานพเคราะห์สนุกและเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทางพิพิธภัณฑ์จะจัดทำตู้กดกาชาปองรูปสัตว์พาหนะของเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 ทำจากเรซิ่นสีสันสดใสรวมทั้งไอเท็มลับอีก 2 แบบโดยตัวอย่างของกาชาปองบางชิ้นได้นำมาให้ชมด้วย

พระชัยและพระพุทธรูปแกะจากนอระมาด

พิกัด : พระตำหนักแดง

“พระชัย” หรือ “พระไชย”เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่โบราณ ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นามพระชัยมีความหมายว่า ชัยชนะ เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและการที่สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีความหมายว่าปราบมารได้ชัยชนะ นอกจากนี้ยังมีการอัญเชิญในพระราชพิธีต่าง ๆ เรียกว่า พระชัยพิธี เพื่ออำนวยสวัสดิมงคลและขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคล

ภายในตู้อัฒจันทร์ชั้นพระในพระตำหนักแดงประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ และหนึ่งในองค์ที่สำคัญคือพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับขัดสมาธิเพชรโดยพระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์และพระหัตถ์ซ้ายถือตาลปัตร พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระชัยพิธีของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นทั้งวังหน้าและพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปอีก 2 องค์ที่แกะสลักจากนอระมาดที่คนสมัยโบราณเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์

“พระพุทธรูปที่แกะสลักจากนอระมาดเป็นงานฝีมือช่างพื้นบ้านโดยแต่ละองค์แกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิทั้ง 4 ด้านซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเขาสัตว์มีลักษณะทรงกลมถ้าสลักด้านเดียวอาจไม่สมดุล หรืออาจจะเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ นอระมาดถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในตัวที่เรียกว่า ‘ของทนสิทธิ์’ คือของอะไรที่ผิดธรรมชาติเช่น เขาสัตว์คุด ช้องหมูป่า และไม้ไผ่ตัน  คนโบราณถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองและไม่ต้องปลุกเสกและช่วยปกปักรักษา อย่างพระพุทธรูปที่สลักจากนอระมาดนั้นเป็นของทนสิทธิ์ที่เชื่อว่าเมื่อประดิษฐานไว้ที่เรือนหลังใดจะนำความร่มเย็นมาให้ แม้ฝนที่ตกบนหลังคาเรือนนั้นก็ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ครอบคลุมความเป็นมงคลได้ทั้งหลัง” ศุภวรรณให้ข้อมูล

พระคเณศ

พิกัด : พระที่นั่งทักษิณาภิมุข: หมู่พระวิมาน

พระคเณศ ถือเป็น “เจ้าแห่งอุปสรรค” เพราะเป็นผู้ควบคุมดาวนพเคราะห์ทั้งมวล ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับถือพระคเณศว่าเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการและมีหลายรูปลักษณ์และหลายวัยขึ้นอยู่กับการให้คุณในแบบต่าง ๆ สำหรับห้องนี้จัดแสดงเศียรพระคเณศในตู้ร่วมกับเศียรเทพเจ้าและเศียรฤาษีอื่นๆ ที่ใช้ในพิธีไหว้ครูในการแสดงโขนและราฏศิลป์ไทยโดยความพิเศษของ พระคเณศ องค์นี้คือมีเครื่องประดับเป็นต่างหูรูปหัวกะโหลกซึ่งเป็นลักษณะพระคเณศปาง “คณปติ” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในเหล่าคณะบริวารของพระศิวะ อันได้แก่ ภูติผีปีศาจต่างๆ ดังนั้นการบูชาพระคเณศปางนี้จึงเป็นการบูชาเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มนต์ดำ สิ่งอัปมงคล และ โรคภัย

สัตตมงคล

พิกัด : พระที่นั่งทักษิณาภิมุข: หมู่พระวิมาน

สัตตมงคล หรือสิ่งมงคล 7 อย่างสำหรับประกอบพิธีไหว้ครูโขนละคร ประกอบด้วย พระตำราไหว้ครูฉบับครูเกษ พระราม ตั้งแต่พ.ศ.2397 ในสมัยรัชกาลที่ 4,  หัวโขนพระภรตฤษี (ผู้รับเทวโองการจากพระพรหมมาถ่ายทอดแก่มนุษย์โลก), หัวโขนพระพิราพ (ปางหนึ่งของพระอิศวรผู้ให้กำเนิดการฟ้อนรำ), เทริดโนราพร้อมหน้าพราน, เทวรูป 5 องค์พร้อมตู้ไม้, ไม้เท้าหน้าเนื้อซึ่งเป็นไม้ไผ่หัวเป็นรูปหน้าเนื้อสมันแต่ไม่มีเขา, ประคำโบราณและแหวนพิรอดทำจากผ้าถักลงยันต์แล้วพันด้วยด้าย

พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เจ้ากรมโขนในรัชกาลที่ 6 เคยใช้สัตตมงคลนี้ในการประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครู เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2478 คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ  สุวรรณภารต) ได้เก็บรักษาไว้และมอบให้ศิษย์ของท่านคือ นายอาคม สายาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฎศิลป์และผู้ประกอบพิธีครอบโขนละครในพิธีไหว้ครูประจำปี 2507 ในสมัยรัชกาลที่ 9 จนกระทั่งนายอาคมถึงแก่มรณกรรมเมื่อพ.ศ.2525 ทายาทได้เก็บรักษาไว้และต่อมาจึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราช กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อพ.ศ.2562 และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาจัดแสดง ไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระภูมิเจ้าที่

พิกัด : มุขเด็จ หมู่พระวิมาน

เจว็ดหรือแผ่นไม้จำหลักรูปพระภูมิเจ้าที่ตามตำนานพระภูมิ 9 องค์ซึ่งเป็นโอรสของเจ้ากรุงพาลี ผู้เป็นเจ้าแห่งพระภูมิเจ้าที่ รุกขเทวดา และเทพารักษ์ โดยพระภูมิได้รับมอบหมายให้ดูแลสถานที่ต่างๆ จำแนกตามลักษณะวัตถุในมือและมีการสลับกันทั้งภูมิบุรุษและภูมิสตรี เช่น พระทาสธาราถือพระขรรค์และยืนเท้าเอวมีหน้าที่ปกปักรักษาแหล่งน้ำ พระเทเพนหรือพระเยาวแผ้วถือคัมภีร์และพระขรรค์ทำหน้าที่ดูแลรักษาคอกสัตว์ และพระสุรัสวดีมีหน้าที่ในงานบัญชีคุมกำลังไพร่พล

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระชัยเมืองนครราชสีมา

พิกัด : พระที่นั่งบูรพาภิมุข หมู่พระวิมาน

พระชัยเมืองนครราชสีมาเป็นศิลปะอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 และได้มาจากเมืองนครราชสีมา รอบพระวรกายลงยันต์เป็นอักษรขอมโบราณ แต่ละตัวอักษรเป็นการนำใจความสำคัญในพุทธพจน์ประกอบเข้าเป็นคาถาธาตุกรรมฐานซึ่งในสมัยโบราณใช้ในการปลุกเสกครอบจักรวาล และมักปรากฏเป็นอักขระประกอบในรูปยันต์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการซ่อนคำสอนทางพุทธศาสนาเอาไว้ เช่น คาถาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ซึ่งมีพุทธคุณคุ้มครองครอบจักรวาล, คาถาหัวใจธาตุ 4 อันเป็นคาถาที่มีพุทธคุณทางด้านคงกระพันชาตรี, คาถาธาตุพระกรณีย์ที่ใช้ในการปลุกเสกเลขยันต์เพื่อเสริมธาตุทางธรรมให้ยันต์และคาถานั้นมีกำลังมั่นคงไม่เสื่อมคลาย และคาถาดวงแก้วทั้ง 4 ประกอบด้วยอักขระ นะ มะ อะ อุ เด่นในทางด้านโชคลาภ มหาเสน่ห์ และแคล้วคลาดปลอดภัย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หอแก้วศาลพระภูมิวังหน้า

พิกัด : ด้านข้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

หอแก้วเป็นศาลพระภูมิประจำวังหน้าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325-2346) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กับพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ.2325 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อยเพื่อเป็นที่สถิตของพระภูมิเจ้าที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินที่สร้างวัง

ลักษณะการสร้างเป็นแบบพิเศษ คือ สร้างเป็นหอเหนือเขามอหรือเขาจำลองขนาดย่อม ก่อด้วยศิลาเลียนแบบโขดหินในธรรมชาติตามแบบอิทธิพลศิลปะจีนเรียกว่า “หอแก้ว” ภายในประดิษฐานรูปเจว็ด หรือแผ่นไม้ทรงเสมาเขียนรูปเทวดาซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ปกปักรักษาสถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาววังหน้ามาแต่อดีตกาล ปัจจุบันนับถือเป็นสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งประจำกรมศิลปากร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เครื่องรางโอมาโมริแก้ชงปีเถาะ

พิเศษสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมNight at the Museum กับเส้นทาง “นบพระ ไหว้ (เทพ) เจ้า”ยังร่วมได้ลุ้นรับของที่ระลึกสุดพิเศษวันละ 5 ชิ้นในระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 เป็น “เครื่องรางโอมาโมริแก้ชง ปีเถาะ ธาตุน้ำ” ภายในบรรจุยันต์ “องค์ไท่ส่วย” ปี 2566 ที่ได้รับเมตตาอธิษฐานจิตจากพระอาจารย์จีนคณาณัติจีนพรต (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)องค์ไท่ส่วยคือเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตาและมีอยู่ทั้งสิ้น 60 องค์ที่หมุนเวียนทำหน้าที่คุ้มครองดวงชะตาในแต่ละปี สำหรับปี 2566 เป็นปีเถาะ ธาตุน้ำจึงเป็นหน้าที่ของ “ผีสือต้าเจียงจวิน” หรือ “ผีสือไท่ส่วย”

ด้านหน้าของเครื่องรางโอมาโมริทอเป็นรูปองค์ไท่ส่วยประจำปี 2566 ด้วยเส้นสีทองบนพื้นหลังสีน้ำเงินตามธาตุน้ำ พร้อมอักษรไทยประดิษฐ์แบบจีนว่า “ไท่ส่วย” ส่วนด้านหลังเป็นรูปกระต่ายพร้อมคำอวยพรอักษรไทยประดิษฐ์แบบจีนว่า “ร้อยวาสนา พันมงคล”

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ให้ชมยามค่ำระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 ตั้งแต่เวลา 17.00-19.30 น.โดยไม่เสียค่าเข้าชมในวันดังกล่าว ทั้งนี้มีรอบนำชมโดยภัณฑารักษ์ระหว่างเวลา 17.00-18.00 น. ลงทะเบียนได้ที่หน้างาน
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 02-224-1333 และ 02-224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์