จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ โดย ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ คว้ากวีซีไรต์ 2565
- หนังสือกวีนิพนธ์ จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ โดย ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ สำนักพิมพ์ ผจญภัย คว้ารางวัลรางวัลซีไรต์ กวีนิพนธ์ 2565
- ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เป็นกวีหญิงคนที่ 2 ในรอบ 44 ปี ที่มีการจัดงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ที่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ มาครองได้
ประกาศผลแล้วสำหรับ รางวัลซีไรต์ กวีนิพนธ์ 2565 ซึ่งผลปรากฎว่า จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ โดย ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ สำนักพิมพ์ ผจญภัย สามารถคว้ารางวัลกวีซีไรต์ 2565 มาครองได้ ถือเป็นกวีหญิงคนที่ 2 ในรอบ 44 ปี ที่มีการจัดงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ที่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ โดยคนแรกคือ จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ปี 2532 จากกวีนิพนธ์ “ใบไม้ที่หายไป”
ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เป็นอดีตนักศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตร์ และปริญญาโทอักษรศาสตร์ ผู้กวาดรางวัลด้านกวีนิพนธ์มาหลายเวที และสำหรับ จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ถือกำเนิดผลงานชิ้นนี้หลังจากเธอลาออกจากมหาวิทยาลัยเพียง 10 เดือน โดย ผู้เขียนได้สร้างสรรค์ผลงานจากแรงสั่นสะเทือนของปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันท่ามกลางบริบทของสังคมร่วมสมัย เจาะไปในโลกสังคมออนไลน์และสื่อสมัยใหม่ที่ผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกับตัวละคร ฉากหลัง และเรื่องเล่าต่างๆ ทั้งด้วยมีประสบการณ์ร่วม และด้วยความสามารถของจังหวะและภาษาจินตภาพในบทกวีที่ดึงดูดให้สัมผัสได้ถึงความหมายระหว่างบรรทัดที่มาในรูปแบบของข้อเสนอ ข้อท้วงติง ข้อตักเตือน และการสั่นคลอนความเคยชิน
ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงผลงานกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ครั้งนี้ว่า คณะกรรมการตัดสินประจำปี 2565 พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กวีนิพนธ์เรื่อง จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ โดย ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ นำเสนอภาพชีวิตของผู้คนในยุคสังคมพลิกผันที่เผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ ปัญหาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมสื่อ บทกวีแต่ละบทนำเสนอฉากชีวิตและพฤติการณ์ของคนธรรมดาสามัญ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชายขอบ ผู้คนในเมืองและในชนบทที่ยากจนและถูกเบียดบังกดทับ ตลอดจนตั้งคำถามกับโลกยุคเก่า พร้อมทั้งวิพากษ์โลกยุคใหม่อย่างแยบยล
นอกจากนี้กวียังเล่าเรื่องชีวิตของผู้คนอย่างละคร แบ่งบทตอนอย่างสัมพันธภาพ ใช้ท่วงทำนองโรแมนติกกับสัจนิยมด้วยน้ำเสียงประชด เสียดสี เพื่อเร้าอารมณ์และกระตุ้นความนึกคิด ถ้อยคำในบทกวีน้อยแต่มาก ง่ายแต่งาม ลึกซึ้งทั้งความหมายและอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งยังใช้ศิลปะสองแขนง คือบทกวีกับภาพวาดมาสอดประสานกันเพื่อนำเสนอความคิดร่วมสมัยและสากล สื่อน้ำเสียงที่มีความมุ่งหวัง มุ่งยกระดับจิตใจให้ใคร่ครวญถึงความอ่อนโยนที่โลกพึงมีต่อโลก
ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) กล่าวว่าสำหรับการประกวดปีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องในปีที่ 44 ในภาพรวมปีนี้มีหนังสือกวีนิพนธ์ส่งเข้าประกวด 75 เล่ม กรรมการได้คัดเลือกจนเหลือเข้ารอบสุดท้าย 7 เล่ม แลได้ประกาศรางวัลยอดเยี่ยมในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ณ ณ ห้องเจ้าพระยา โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
ภาพประกอบ : สำนักพิมพ์ ผจญภัย และ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)