ย้อนรอยวัฒนธรรม K-Culture ยุคโชซอนแบบดิจิทัลใน A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art
Arts & Culture

ย้อนรอยวัฒนธรรม K-Culture ยุคโชซอนแบบดิจิทัลใน A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art

Focus
  • นิทรรศการ A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art นำมรดกวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของเกาหลีมานำเสนอใหม่ในรูปแบบดิจิทัลเสมือนจริง
  • ในนิทรรศการยังจัดแสดงประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 2 องค์ของเกาหลีและไทยซึ่งสร้างต่างยุคสมัยแต่สะท้อนคติความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน

หากคุณเป็นแฟนซีรีส์เกาหลีย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์สุดฮิตเรื่อง The Red Sleeve ย่อมต้องรู้จักพระนามของ พระเจ้าชองโจ กษัตริย์องค์ที่ 22 แห่งราชวงศ์โชซอนซึ่งซีรีส์เรื่องดังกล่าวได้นำเรื่องราวของพระองค์ตั้งแต่เป็นรัชทายาทอีซานจนขึ้นเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2295-2343) มาดัดแปลงเป็นละครโรแมนติกดราม่า พระเจ้าชองโจได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและหนึ่งในโครงการสำคัญคือการสร้างป้อมฮวาซองที่เมืองซูวอนในช่วง พ.ศ. 2337-2339 เป็นการสร้างด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในขณะนั้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับและเป็นที่ฝังพระศพของพระบิดา โดยป้อมแห่งนี้ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2540 และล่าสุดกำลังปรากฏอยู่ในนิทรรศการ A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art

A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art
บันทึกอึย-คเว ในเหตุการณ์กระบวนพยุหยาตราของพระเจ้าชองโจเสด็จฯ ไปป้อมฮวาซองใน พ.ศ. 2338 (ภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลี)

อีกหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระเจ้าชองโจคือความยิ่งใหญ่ของกระบวนพยุหยาตราเพื่อเสด็จฯ ไปยังป้อมฮวาซองใน พ.ศ. 2338 และเสด็จฯ ไปอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมาเพื่อเฉลิมฉลองการก่อสร้างป้อมสำเร็จ โดยได้มีการบันทึกเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียดใน อึย-คเว (Uigwe) หรือแบบธรรมเนียมในราชสำนักซึ่งเป็นบันทึกที่ประกอบด้วยเรื่องราวและภาพวาดเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ของราชวงศ์โชซอน (พ.ศ.1935-2453) อึย-คเว ยังได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในฐานะมรดกด้านบันทึกเอกสารและลายลักษณ์อักษรที่โดดเด่นของเกาหลีเมื่อ พ.ศ.2550

A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art
เหตุการณ์กระบวนพยุหยาตราของพระเจ้าชองโจเสด็จฯ ไปป้อมฮวาซองในรูปแบบมัลติมีเดีย

ใน พ.ศ.2563 ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลีได้ริเริ่มนำภาพวาดที่ปรากฏในบันทึก อึย-คเว มาถ่ายทอดในรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงเพื่อฉายบนจอแพโนรามาขนาดใหญ่ใน Immersive Digital Gallery ของพิพิธภัณฑ์ ภาพวาดของขบวนทหาร ขบวนม้า ขบวนเกี้ยวประทับของพระเจ้าชองโจและพระนางฮเยกย็องพระมารดา พร้อมด้วยเหล่าขุนนางและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จในเหตุการณ์เมื่อกว่า 200 ปีที่ผ่านมาจึงได้โลดแล่นในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวพร้อมกับดนตรีประกอบและคำบรรยาย

A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art
เหตุการณ์เฉลิมฉลองการสร้างป้อมฮวาซองสำเร็จใน พ.ศ. 2339

นับเป็นครั้งแรกที่ผลงานในรูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงนี้ได้นำมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ และถือเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยฉายแบบแพโนรามาบนผนังสามด้านของห้องนิทรรศการหมายเลข 401 ณ อาคารมหาสุรสิงหนาท  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในนิทรรศการที่ชื่อว่า A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art (สัมผัสประสบการณ์ใหม่ นิทรรศการศิลปะเกาหลีในโลกเสมือนจริง)  จัดแสดงระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ถึง 21 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลีกับกรมศิลปากรของไทย

“นับตั้งแต่ ค.ศ.2020 ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลีได้นำภาพวาดโบราณชิ้นสำคัญที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาจัดแสดงใหม่ในรูปแบบดิจิทัลเสมือนจริงและฉายบนจอแพโนรามาขนาดสูง 5 เมตร กว้าง 60 เมตร ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 เรื่อง และภาพวาดจากบันทึก อึย-คเว ที่ถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของกระบวนพยุหยาตราของพระเจ้าชองโจเป็นหนึ่งในนั้น แต่เมื่อนำมาจัดแสดงที่เมืองไทยเราต้องมีการปรับขนาดของภาพเพื่อให้สัดส่วนลงตัวกับการฉายบนผนังทั้งสามด้านและเพิ่มคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงมีการให้เสียงภาษาไทยด้วย” ยัง ซูมี (Yang Sumi) ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลีที่เดินทางมาควบคุมการติดตั้งชิ้นงานในไทยให้ข้อมูล

A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art
ผลงานมัลติมีเดียชื่อ Royal Procession with the People

ผลงานมัลติมีเดียชื่อ Royal Procession with the People (กระบวนพยุหยาตราและผู้คน) มีความยาวประมาณ 8 นาที แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติของขบวนเสด็จของพระเจ้าชองโจเมื่อเสด็จฯ ไปนอกพระราชวังและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าชื่นชมพระบารมีขบวนเสด็จฯ เมื่อไปถึงสถานที่ใดก็จะพระราชทานข้าวสารให้ประชาชนและเลี้ยงอาหารแก่ผู้ชรา นอกจากนี้ภาพงานเลี้ยงพร้อมดนตรีและการเต้นรำ  การจุดพลุเฉลิมฉลองในงานสมโภชป้อม และการฝึกทหารที่เข้มงวดยังได้ถ่ายทอดออกมาอย่างน่าสนใจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art
ภาพวาดโบราณเกี่ยวกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนำมาจัดแสดงในรูปแบบดิจิทัลมีเดีย

อีกหนึ่งชิ้นงานดิจิทัลที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ชื่อ Journey of the Soul: Walking Through the Eternal Cycle of Birth, Death, and Rebirth (การเดินทางของวิญญาณ ก้าวสู่สังสารวัฏ เวียนว่าย ตาย เกิด) โดยได้นำภาพวาดในสมัยโชซอนที่ได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลี อาทิ ภาพพญายมราชทั้ง10 ภาพยมทูต ภาพการเทศนาของพระธยานิพุทธอมิตาภะ มานำเสนอเรื่องราวความเชื่อหลังความตายว่าดวงวิญญาณจะได้รับการพิพากษาจากพญายมราชทั้ง10 องค์ภายในช่วงเวลา 3 ปี ว่าจะได้ไปจุติในภพภูมิใดขึ้นอยู่กับกรรมดีและกรรมชั่วในชาติที่แล้ว รวมไปถึงนรกภูมิต่างๆ ที่ต้องเผชิญในยมโลกตามผลกรรม เช่น นรกแห่งภูเขามีด นรกแห่งเตียงเหล็ก นรกแห่งการฉีกลิ้น และนรกแห่งการห้ำหั่น

“สื่อดิจิทัลที่เราเลือกมาเป็นหัวข้อเกี่ยวกับกษัตริย์และพุทธศาสนาเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยเพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจึงน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก” ภัณฑารักษ์กล่าว

นอกจากสื่อมัลติมีเดียแล้ว ในนิทรรศการยังได้จัดแสดงประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 2 องค์ของเกาหลีและไทยซึ่งถึงแม้จะสร้างในช่วงเวลาต่างกัน รูปลักษณะและวัสดุที่ไม่เหมือนกัน แต่ต่างสะท้อนถึงจิตศรัทธาแรงกล้าของผู้สร้างและคติการนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เผยแผ่จากอินเดียมาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12

Immersive Gallery of Korean Art
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ขุดพบที่วัดพงฮวังซา เมืองคยองจู

ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลีและได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้เป็นประติมากรรมหินแกรนิตสร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่14 ในสมัยอาณาจักรชิลลา (พ.ศ. 486-1487) ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณของเกาหลี และได้มีการขุดพบที่วัดพงฮวังซา เมืองคยองจู โดยวัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดแรกเริ่มของเมืองคยองจูซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรชิลลาและเป็นวัดสำคัญที่สถาปนาโดยราชสำนัก 

“ในสมัยอาณาจักรชิลลาเป็นช่วงที่ศาสนาพุทธพัฒนามากที่สุด และรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมสะท้อนถึงผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ พระพุทธรูปสร้างจากหินแกรนิตซึ่งเป็นวัสดุที่แกะสลักได้ยากเนื่องจากมีเนื้อค่อนข้างหยาบแต่เป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในงานประติมากรรมทางพุทธศาสนาสมัยโบราณของเกาหลีมากที่สุด รูปลักษณะจึงดูหยาบมากกว่ารูปพระโพธิสัตว์ของไทยที่แกะสลักจากหินทรายจึงมีความนุ่มนวลและละเอียดกว่า” ยัง ซูมี กล่าว

ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของเกาหลีประดับตกแต่งเครื่องศิราภรณ์ที่ประดิษฐานรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะอันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรบนพระเศียร และประดับตกแต่งพระวรกายด้วยเครื่องประดับต่างๆ  พระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำอมฤต (กุณฑิกะ) พระพักตร์กลม พระเนตรหลุบลงต่ำ พระวรกายใหญ่ดูหนักแน่น ทรงยืนบนฐานดอกบัวและพื้นผิวมีลักษณะหยาบตามเนื้อหินแกรนิตที่นำมาแกะสลัก

Immersive Gallery of Korean Art
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ขุดพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ส่วนประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของไทยสร้างจากหินทรายในช่วงอาณาจักรศรีวิชัยราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 และขุดพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีและปัจจุบันจัดเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

อาณาจักรศรีวิชัยบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยและเกาะสุมาตรารุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดแวะพักของเส้นทางการค้าทางทะเลจากจีนไปยังประเทศทางตะวันตก อีกทั้งพ่อค้าชาวอินเดียใช้เส้นทางนี้ในการติดต่อค้าขายกับจีนและได้นำวัฒนธรรมและศิลปะแบบอินเดียมาเผยแพร่และบางส่วนได้ตั้งรกรากที่นี่จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและความเชื่อ

พระโพธิสัตว์ในภาคผู้บำเพ็ญพรตเกล้าผมสูงเหนือศีรษะหรือที่เรียกว่า ชฎามกุฎ ที่มวยผมประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิอันหมายถึงพระธยานิพุทธอมิตาภะ และห่มหนังกวางที่พระอังสา (ไหล่) ด้านซ้าย พระเนตรมองลงเบื้องล่าง ส่วนพระบาทและพระกรหักหายไปสันนิษฐานว่าน่าจะทรงถือดอกบัวในพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธรูปชิ้นนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมืองไชยาแต่เดิมเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธศาสนาลัทธิมหายานในคาบสมุทรมลายู

Immersive Gallery of Korean Art

“เมื่อทางเกาหลีเสนอว่าจะนำรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมาจัดแสดง ทางเราจึงเลือกศิลปวัตถุในหัวข้อเดียวกัน แต่พระโพธิสัตว์ของไทยเป็นภาคนักบวชและได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของอินเดีย มีความอ่อนช้อย ยืนเอียงกายเล็กน้อย ในขณะที่ของเกาหลีเป็นพระโพธิสัตว์ในภาคกษัตริย์” ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าว

นิทรรศการ A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art นี้จึงเป็นการนำเสนอรูปเคารพของพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นในสมัยโบราณที่เห็นเป็นรูปธรรมของสองประเทศที่ห่างกันราว 3,500 กิโลเมตรแต่สะท้อนความเชื่อในเรื่องเดียวกัน และการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียในการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมและคติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่ถ่ายทอดผ่านงานพุทธศิลป์ด้วยมิติใหม่

Immersive Gallery of Korean Art

Fact File

  • นิทรรศการ A New Encounter, Immersive Gallery of Korean Art (สัมผัสประสบการณ์ใหม่ นิทรรศการศิลปะเกาหลีในโลกเสมือนจริง)  จัดแสดงระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ถึง 21 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องหมายเลข 401 ณ อาคารมหาสุรสิงหนาท  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาทนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม : โทรศัพท์ 02-224-1333 และ 02-224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ