กระดาษที่บรรจุเวลาเอาไว้ของ แอนน์ แฟร้งค์ (12 มิถุนายน 1942 – 1 สิงหาคม 1944)
- บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ คือบันทึกลับข้ามศตวรรษ จากสงครามโลกครั้งที่ 2 (ศตวรรษที่ 20) สู่ โรคระบาดทั่วโลก (ศตวรรษที่ 21) บันทึกเรื่องราวของ เด็กผู้หญิงชาวยิวคนหนึ่งในที่ซ่อนลับ สู่สายตามวลมนุษยชาติ
- เปลี่ยนปกอย่างไรให้ขาดทุน พิมพ์ปรับปรุงเนื้อหาอย่างไรก็ไม่ได้กำไร สำนักพิมพ์ผีเสื้อยังคงตั้งใจและภูมิใจที่จะพิมพ์หนังสือเล่มนี้ หวังให้คนไทยได้อ่านกันถ้วนหน้า
แอนน์ที่รัก
เวลาน้ำไม่ไหล ไฟดับ โทรศัพท์เสีย ติดอยู่ในที่แคบ แทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน รวมทั้งต้องพูดเสียงเบา ฉันจะนึกถึงเธอเสมอ ว่าเธออยู่ในที่ซ่อนลับกับคนอื่นๆ ตั้งหลายคนได้อย่างไร ฉันคิดถึงตอนที่รู้จักเธอครั้งแรก เพราะคุณป๊อป อารียา สิริโสดา ได้บอกเล่าทางรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า “บันทึกของแอนน์แฟร้งค์เป็นหนังสือเล่มโปรด ทำให้อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็ก” ฉันชอบเขียนบันทึกและชอบอ่านบันทึก ฉันรู้สึกว่าลายมือคือสิ่งที่มีความหมาย เนื้อหาที่อยู่บนรอยเวลา คุณค่านั้นมีมหาศาล การเขียนนั้นเหมือนการบำบัดความขัดข้องในใจระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ยังมีสมุดบันทึกเป็นเพื่อน อย่างน้อยเราก็ได้สนทนากับตัวเราเองอีกร่างหนึ่ง เพื่อเข้าใจโลกที่เราอาศัยอยู่
ปีนี้ ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) ครบรอบ 75 ปี ที่เธอจากไปเพราะโรคไทฟอยด์ ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) และวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นวันรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล (International Holocaust Remembrance Day) เพื่อรำลึกและให้เกียรติแด่ผู้เป็นเหยื่อของลัทธินาซี สหประชาชาติกำหนดวันนี้เพราะเป็นวันที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตได้ปลดปล่อยชาวยิวในค่ายกักกันเอาชวิทซ์-เบียร์เคเนา (Auschwitz-Birkenau) สองวาระนี้ฉันได้หวนคิดถึงเธออีกครา
ก่อนจะมีบันทึกลับฉบับผีเสื้อ
ฉันได้อ่านฉบับภาษาไทย ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อตอนที่กำลังศึกษาด้านวารสารศาสตร์ อยู่ชั้นปีที่ 3 แล้วฉันสำรวจพบว่า เรื่องราวของเด็กผู้หญิงชาวยิวคนหนึ่งปรากฏสู่นักอ่านชาวไทยก่อนหน้านี้มีสองสำนวนแปล ได้แก่
- บันทึกของแอนน์ แฟรงค์ ถอดจาก Het Achiterhuis ผู้แปล: ธ.นาวิน สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา เดือนมกราคม พ.ศ. 2502 และ
- บันทึกของแอนน์แฟรงค์ แปลจาก Anne Frank: The Diary of a Young Girl ผู้แปล: จำเนียร สิทธิดำรงค์ สำนักพิมพ์เซอร์เคิล บุ๊ค พ.ศ.2526
จากบทนำของ ธ.นาวิน ได้อธิบาย “ที่ซ่อนลับ” ที่ได้เป็นชื่อเรื่องนี้มาจากภาษาดัตช์ว่า “Het Achterhuis” คำว่า Achter แปลว่า ด้านหลัง และ Huis ซึ่งบ้านโบราณของชาวดัตช์ มักจะมีหลายห้องทางด้านหลัง และ dagboekbrieven 12 juin 1942 – 1 augustus 1944 ซึ่ง dagboek แปลว่า ไดอารี หรือ บันทึก และ brieven แปลว่า จดหมาย ตั้งแต่ 12 มิถุนายน 1942 ถึง 1 สิงหาคม 1944 ทำให้เรารู้รูปแบบการเขียนของแอนน์ ว่าเธอเขียนบันทึกประจำวันส่วนใหญ่ในรูปแบบจดหมาย มีลงวันที่ คำขึ้นต้น “คิตตี้ที่รัก” อันโด่งดัง คำลงท้าย อย่างในฉบับนี้ ใช้ว่า “เพื่อนของตัว” และ ลงชื่ออย่างไรก็ตามทั้งสองสำนวนเป็นฉบับย่อ ตัดทอนหรือเลือกบางฉบับมาแปล
นอกจากนี้นิตยสาร Time 100: “The Most Important People of Century” (100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษ) ฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) ได้กล่าวยกย่องเธอเป็น 1 ใน 100 คนสำคัญอีกด้วย ซึ่งหากเธอยังมีชีวิตอยู่ จนถึง 12 มิถุนายน เธอจะอายุครบ 70 ปี ฉันภูมิใจจริงๆ ที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อได้พิมพ์บันทึกของ แอนน์ แฟร้งค์ ครั้งแรกในปีนั้นอีกด้วย
บันทึกบรรทุกความลับ
มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้พิมพ์หนังสือ บันทึกลับของแอนน์แฟร้งค์ กล่าวว่า ผีเสื้อไม่ได้เป็นเจ้าแรกที่พิมพ์หนังสือนี้ ด้วยเหตุนี้จึงใช้ชื่อเดิม แต่ได้อธิบายว่าเป็นเรื่องของคนเดียวกัน ทั้งนี้ได้ในเขียนไว้ในหมายเหตุว่า ควรออกเสียงชื่อของเธอตามภาษาเยอรมันว่า Anneliese Marie Frank อันเน่อลีเซอ มารี ฟรังค์ หรือ “อันเน่อ ฟรังค์” ทั้งนี้เพิ่มคำว่า “ลับ” เพราะจุดมุ่งหมายเดิม แอนน์ แฟร้งค์ ไม่คิดว่า หนังสือส่วนตัวของเธอ อันเป็นความลับ ไม่ได้เปิดเผยให้ใครทราบ อีกทั้งเขียนในที่ซ่อนลับด้วย ทั้งนี้การสะกด “แฟรงค์” เติม “ไม้โท” เป็น “แอนน์ แฟร้งค์” ซึ่งออกเสียงตามภาษาอังกฤษ
จากนั้นคุณมกุฏได้เล่าที่มาถึงการแปลหนังสือในฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า ทางผู้ถือลิขสิทธิ์ คือ เมี้ยปกีส์ (ผู้ช่วยเหลือผู้ที่ซ่อนอยู่ในที่แห่งนั้น) ร่วมกับอ๊อตโต (บิดาของแอนน์) ติดต่อทางสำนักพิมพ์ราวปี พ.ศ.2530 เศษๆ ถึงกระนั้นทางสำนักพิมพ์ยังประวิงเวลาอยู่ว่าใครจะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของเธอ ต่อมาไม่นานนัก คุณสังวรณ์ ไกรฤกษ์ ได้บอกว่า แปลบันทึกเล่มนี้เสร็จแล้ว จึงได้พิมพ์เล่มนี้เป็นครั้งแรก เหตุที่รอให้คุณสังวรณ์แปล เพราะว่าผู้แปลนั้นอยู่ร่วมสมัยกับผู้เขียนบันทึก เติบโตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาษาไทยที่ใช้ จึงเป็นภาษาสมัยเดียวกับภาษาต้นทาง บางคนอาจจะมองว่าบางส่วน บางตอนอาจจะเชย แต่ต้องการให้เห็นภาษาไทยในห้วงเวลานั้น
นอกจากนี้ การพิมพ์ในแต่ละครั้ง ตั้งแต่พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน ได้เพิ่มเนื้อหาและออกแบบปกให้มีลูกเล่น ต่างกันไป เนื่องจากต้องการดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน “อย่างการพิมพ์ปกแข็งครั้งแรก ก็จะมีเชือกสีแดงออกมา ไว้ผูก เพื่อให้รู้สึกว่ามันเป็นบันทึกเป็นความลับ”
ถามว่าพิมพ์หลายครั้งอย่างนี้แสดงว่าขายดีหรือไม่ คุณมกุฏหัวเราะก่อนตอบว่า “ขายได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าขายดี เนื่องจากหนังสือนั้นหนาและราคาถูก ราว 10-20 ปีก่อนนั้นการตั้งราคาหนังสือสอดคล้องกับจำนวนหน้า เช่น หนังสือ 100 หน้า ราคา 100 บาท แต่เราตั้งราคาอย่างนั้นไม่ได้ อย่างปกอ่อน พิมพ์ครั้งที่ 3 จำนวน 464 หน้า เราตั้งราคา 321 บาท เรายอมขาดทุน เพื่อให้หลายคนได้อ่าน” และพูดทำนองติดตลกว่า “เรายอมขาดทุน เพราะโลกนี้มีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับ แอนน์ แฟร้งค์ เราจึงยินดี และภูมิใจหากหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นการประกาศฝีมือการทำหนังสือของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง เราทำงานอย่างประณีต เพราะได้ต้นฉบับที่เนื้อหาดี และการออกแบบก็ต้องดีด้วย”
คุณมกุฏได้ยกตัวอย่าง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 คุณอภิชัยวาดภาพประกอบ ได้วาดภาพของแอนน์เต็มหน้า จึงไม่อยากให้ชื่อหนังสือรบกวนสายตา จึงมีชื่อหนังสือขนาดเล็กบนหน้าปก แต่พอพลิกปกหลังก็จะเห็นชื่อหนังสือ ผู้แปล ชัดเจน ขนาดพอเหมาะกับสายตา หรือฉบับปกแข็งที่มีสีแดงและดำ มีเพียงชื่อเจ้าของสมุดบันทึก ต้องการให้ดูลึกลับ
“กระดาษนั้นอดทนกว่ามนุษย์” : กระดาษที่บรรจุความคิดเอาไว้
ฉันเปิดสมุดบันทึกของเธอ วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1942 (พ.ศ.2485)
“กระดาษนั้นอดทนกว่ามนุษย์” ฉันระบายความในใจลงในสมุดแข็งที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘สมุดบันทึก’ ฉันไม่ประสงค์ให้ใครแม้สักคนอ่านนอกจากว่าฉันมีเพื่อนแท้อ่านฉันขอตั้งชื่อว่า ‘คิตตี้’ ฉันนับว่าเป็นเพื่อนแท้ของฉันที่ระบายความในใจได้ทุกอย่างแต่เสียดายที่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้”
นอกจากนี้ วรรณคดีประจักษ์พยาน ของอนงค์นาฏ เถกิงวิทย์ ได้กล่าวว่า “งานเขียนรูปแบบบันทึกความทรงจำที่ถ่ายทอดเรื่องราวความกล้าหาญไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมและต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่ แม้จะฉายด้านมืดแต่ก็แสดงเห็นความเมตตาและการช่วยเหลือกันแสดงถึงความกล้าหาญและธาตุแท้คนเรา”
สำหรับฉัน หลายประเด็นในบันทึกของเธอยังคงทันสมัย เช่น เธอสงสัยว่าใครกันที่ทำให้ชาวยิวต้องแตกต่างจากคนอื่นๆ รวมถึงความสำคัญของผู้หญิงที่ต้องการสิทธิและเสรีเต็มที่ ซึ่งในโลกสมัยปัจจุบันที่ฉันอยู่ ไม่ต้องการให้การดูถูกหรือต่อต้านชาติพันธุ์และประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องที่คนในโลกศตวรรษนี้ต้องต่อสู้ เพื่อไม่ให้เกิดการทำร้ายทำลายกันอีก ราวกับว่าบันทึกของเธอเหนือกาลเวลา ผู้มาก่อนกาล
บันทึกลับที่กลับกลายเป็นบันทึกที่เปิดเผยสู่โลก
ปกติแล้วทางสำนักพิมพ์ผีเสื้อจะมีกระบวนการคัดสรรหนังสือที่จะแปล หากไม่เหมาะกับวัยจะมีแถบกระดาษเล็กๆ แปะบอกไว้ เช่น “ไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” ทำนองนี้ แต่บันทึกลับของแอนน์ กลับกลายเป็นว่า เจ้าของลิขสิทธ์ติดต่อมาเอง คุณสังวรณ์แปลเสร็จ จึงตัดสินใจพิมพ์ หวังให้คนไทยได้อ่าน “ประการแรก เป็นกลวิธีการเขียนที่แปลก ลักษณะการเขียนบันทึก ไม่ได้ตั้งใจเผยแพร่ให้คนอื่นได้อ่าน หลายตอนเป็นเรื่องส่วนตัว ความรู้สึกทางเพศ เรื่องเกี่ยวกับความลับของคนในครอบครัว ฯลฯ ต้นฉบับแบบนี้มีคุณค่าในตัวของมันเอง”
คุณมกุฏยังได้กล่าวอีกว่า “เหตุผลอีกประการที่ควรอ่านบันทึกเล่มนี้ เพราะแอนน์ได้เล่าให้ภาพสงครามในอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่ได้เล่าจากมุมมองที่ร่วมรบในสงคราม แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม จิตใจที่ต่อสู้ การฟาดฟันโดยไม่ใช้อาวุธ ก็คือการต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่อยู่ในขั้นสูงสุด เพราะความสูงสุดทั้งเนื้อหาและกลวิธีการเขียนนี้แสดงให้เห็นถึงสงคราม การมีชีวิตในห้องแคบๆ เล็กๆ ที่ต้องอยู่ด้วยกันหลายคนไม่เพียงแต่เป็นคนในครอบครัวเท่านั้น ความเครียด ความกดดันทั้งภายในและภายนอกที่กลัวมีคนจับได้ มีตำรวจ ทหาร คอยตรวจตรา ทำอย่างไรถึงอยู่รอดได้ ซึ่งแอนน์แสดงให้เห็นว่า เธอมีชีวิตรอดได้ หากไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด”
นอกจากนี้คุณมกุฏยังเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันไว้ว่า “หลายคนอาจมองว่าบันทึกนี้เป็นเรื่องสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยนี้อาจไม่มีสงครามรูปแบบนี้อีกแล้ว แต่เมื่อลองคิดดูดีๆ ตอนนี้ยิ่งคล้ายสมัยสงคราม แอนน์ ต้องติดอยู่ในที่ซ่อนอันคับแคบไม่ได้ออกไปไหน ในขณะเดียวกันเราก็กำลังต่อสู้กับสงครามชีวภาพอย่างสงครามเชื้อโรค (COVID-19) บางคนต้องโดนกักตัวหรือระวังไม่ออกไปไหน ระบาดไปหลายประเทศและแพร่ทั่วโลกตอนนี้คนที่โดนกักตัวเพื่อดูอาการบางครั้งอาจจะต้องเดือดร้อน ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะเข้าใจภาวะที่เป็นอยู่ได้ง่ายขึ้นและนึกถามตามว่าแอนน์ติดอยู่ในที่ซ่อนลับนานนับปีเพราะกลัวโดนตามล่าโดนฆ่า เนื่องจากเธอเป็นชาวยิวขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้เราก็ไม่กล้าออกไปไหนกลัวติดโรคทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยู่ในที่ซ่อนแคบๆ แต่เราก็เหมือนถูกจำกัดพื้นที่หรือไม่ควรไปบริเวณที่มีคนจำนวนมากๆ”
คำถามที่เกิดขึ้นในใจ หากไม่ได้อยู่ในภาวะอย่างปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ยังจะมีประโยชน์ไหม บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้รีบตอบทันทีว่า “อย่างไรก็ควรอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ดี เพราะหนังสือเล่มนี้ เป็นบันทึกของเด็กอายุ 13 ปี เริ่มเป็นวัยรุ่น ความในใจของวัยรุ่นทั้งหมดที่ควรรู้จากเด็กพวกหนึ่งที่โตกว่าวัย และมีความคิดมากเกินวัยตัวเอง ที่เราเคยคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก ทั้งเรื่องคำและเรื่องชีวิต แต่ แอนน์ แฟร้งค์ แสดงให้เห็นว่า เด็กอายุ 13 เขียนได้ขนาดนี้ เพราะสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ (ในเครือสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) คลุกคลีกับเด็ก เชื่อมั่นว่า เด็กอายุ 8 ขวบ 9 ขวบ แสดงศักยภาพได้เสมอ น่ามหัศจรรย์มากหากผู้ใหญ่ไม่เอาทฤษฎีต่างๆ ไปครอบงำเด็ก” กล่าวได้ว่าบันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ผู้ปกครองควรอ่านเพื่อเข้าใจลูก และลูกๆ เด็กๆ เองก็ควรอ่าน เพื่อเข้าใจตัวเอง ไม่ว่าเรื่องเพศหรือเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ต้องหลีกหนี เพราะเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ต้องเจอเรื่องราวดังกล่าว
ทางสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้กล่าวปิดท้ายว่า “ภายในปีนี้ สำนักพิมพ์จะพิมพ์ แอนน์ แฟร้งค์ ฉบับภาพ ผลงานแปลของเด็กหญิงในใจ เม็ทซกะ อายุ 13 ปี พอๆ กับแอนน์ในตอนนั้น ช่วงที่เขียนบันทึก และเป็นผู้แปลเรื่องนี้ที่อายุน้อยที่สุดอีกด้วย รวมทั้งหากมีหลักฐานหรือข้อมูลเพิ่มเติม ตรวจสอบแล้วและให้เผยแพร่ได้เกี่ยวกับเรื่องของ แอนน์ แฟร้งค์ ทางสำนักพิมพ์ผีเสื้อจะแปลและพิมพ์ปรับปรุงใหม่อีก ถือเป็นภารกิจและหน้าที่ที่สำคัญให้คนไทยทุกคนได้อ่าน”
เธอยังมีชีวิตอยู่แม้ว่าเธอจะตายไปแล้ว
อ้างอิง
- สัมภาษณ์ คุณมกุฏ อรฤดี 7 มีนาคม พ.ศ. 2563
- บันทึกของแอนน์แฟรงค์ ธ.นาวิน แปล. กรุงเทพฯ: ผดุงศึกษา2502.
- บันทึกลับของแอนน์แฟร้งค์ สังวรณ์ ไกรฤกษ์ แปลกรุงเทพฯ: ผีเสื้อ 2560. ปกแข็ง ริมทอง
- วรรณคดีประจักษ์พยาน อนงค์นาฏเถกิงวิทย์กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2560.