ห่ากินเมือง โรคระบาดครั้งใหญ่ ที่มาของตำนาน แร้งวัดสระเกศ - SARAKADEE LITE
ห่ากินเมือง โรคระบาดครั้งใหญ่ ที่มาของตำนาน แร้งวัดสระเกศ
Lite

ห่ากินเมือง โรคระบาดครั้งใหญ่ ที่มาของตำนาน แร้งวัดสระเกศ

Focus

 

  • ในสมัยอยุธยาเมื่อมีคนตายลงโดยเฉพาะตายจากโรคติดต่อ ถ้าเป็นคนมีฐานะดีก็จะเผา แต่ถ้าเป็นคนยากจนก็จะทิ้งศพไว้ให้แร้งกินจนเป็นประเพณีเรื่อยมาถึงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
  • ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อคราวห่ากินเมือง เพียง 15 วันมีคนตายไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ซากศพจึงถูกนำมาทิ้งที่วัดสระเกศที่อยู่ใกล้กับประตูผีและปล่อยศพไว้ให้แร้งกินจนเป็นที่มาของตำนาน “แร้งวัดสระเกศ”
  • ตำนานแร้งวัดสระเกศสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงยกเลิก สวดพระปริตร ทำพิธีทางศาสนา และพิธีอาพาธพินาศ เพื่อกำจัดโรค ตรงกันข้ามพระองค์ทรงออกพระราชบัญญัติการสุขาภิบาล สร้างระบบน้ำประปาสะอาด นำการแพทย์ที่ทันสมัยจากตะวันตกเข้ามาใช้ในการรักษา

แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ฯ

เป็นคำกล่าวติดปากที่มีความหมายตรงตัวว่าแร้งนั้นมีมากที่วัดสระเกศ ส่วนเปรตนั้นมีตำนานอยู่วัดสุทัศน์ ซึ่งในเรื่องแร้งเห็นจะมีหลักฐานอยู่บ้าง เพราะในอดีตป่าช้าวัดสระเกศเป็นที่ที่คนเอาศพไปทิ้งไว้จำนวนมากจนเป็นที่รวมของฝูงแร้ง

ตั้งแต่อยุธยาเป็นต้นมามีธรรมเนียมปฏิบัติที่เล่าขานกันต่อๆ มาว่า หากมีคนตายลงด้วยโรคติดต่อ ถ้าเป็นคนมีเงินก็จะเผา แต่ถ้าเป็นชาวบ้านคนจนทั่วไปจะนำศพไปทิ้งให้แร้งกิน และเหตุที่วัดสระเกศเป็นแหล่งรวมแร้งจำนวนมากก็ด้วยที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้กับประตูผี ประตูเมืองเพียงประตูเดียวที่สามารถนำศพคนตายภายในกำแพงเมืองออกไปเผานอกเมืองตามประเพณีได้  ดังนั้นวัดสระเกศจึงได้อันดับวัดยอดนิยมในการนำศพมาทิ้ง และเผาเพราะไปมาสะดวกกว่าวัดอื่นๆ แน่นอนว่าถ้าเป็นคนยากจนก็ปล่อยให้แร้งวัดสระเกศจิกกินเป็นธรรมเนียม

แร้งวัดสระเกศดูจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนศพ โดยเฉพาะเมื่อคราวห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ตามพงศาวดารกล่าวว่า เพียง 15 วัน มีคนตายมากถึง 30,000 คน ซึ่งศพเหล่านั้นล้วนปล่อยให้แร้งกินอยู่ที่วัดสระเกศ

ส่วนใน สมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2392) ว่ากันว่าตามบ้านใหญ่ๆ ที่มีคนอยู่เป็นร้อยๆ มีคนตายไม่ต่ำกว่าบ้านละ 20 คน และเพียง 28 วันมีคนตายไปกว่า 6,000 คน ถัดมาในสมัย รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2403) โรคห่าระบาด 15 วัน คนตายเฉพาะในกำแพงพระนครวันละ 35 คน แต่ยังไม่ร้ายแรงนักเมื่อเทียบกับในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งต้องมีการจัดพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อปลุกปลอบชาวเมือง เช่น พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งได้อัญเชิญพระแก้วมรกตแห่รอบพระนคร ด้านพระสงฆ์ก็ สวดพระปริตรร่วมในขบวน แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งพระสงฆ์และผู้คนที่ร่วมขบวนต่างล้มตายลงด้วยการติดโรคห่าเป็นจำนวนมาก

แร้งวัดสระเกศ
ภาพวัดสระเกศในอดีต (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีโรคห่าระบาดใหญ่ถึง 4 ครั้ง คือ พ.ศ. 2416 พ.ศ. 2424 พ.ศ. 2434 และ พ.ศ. 2443 มีคนตายนับพัน แต่ความแตกต่างในการจัดการโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 5 คือไม่มีการทำพิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นการนำความรู้ด้านการแพทย์จากตะวันตกผ่านมิชชันนารีมาจัดการโรคระบาด พร้อมสร้างโรงพยาบาลขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ และสร้างระบบประปาเพื่อให้ประชาชนมีน้ำดื่มสะอาดอันเป็นการแก้โรคที่ต้นเหตุ และเมื่อมีระบบสุขาภิบาลเกิดขึ้น การนำศพไปทิ้งให้แร้งวัดสระเกศกินจึงเป็นธรรมเนียมที่ถูกยกเลิกไป พร้อมรับเอาอารยธรรมสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น

ความมากมายของแร้งวัดสระเกศก่อนที่รัชกาล 5 ทรงใช้พระราชบัญญัติการสุขาภิบาลนั้นมีบันทึกไว้ในหนังสือ “พระปิยะมหาราช” ซึ่งเสฐียร พันธรังษี และอัมพร จุลานนท์ แปลและเรียบเรียงจาก Temples and Elephants โดย Carl Bock นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ที่เข้ามาสำรวจประเทศไทยในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงแล้งวัดสระเกศไว้ว่า

“เหนือศีรษะขึ้นไปมีฝูงนกกาจับอยู่บนกิ่งไม้ดำมืด ส่วนฝูงแร้งบินเป็นวงอยู่เหนือศีรษะคนแบกศพ…เมื่อคนแบกศพไปวางบนพื้นดินเพียงครู่เดียว สถานที่นั้นก็คลาคล่ำไปด้วยฝูงแร้งกาที่ตะกละและน่าขยะแขยง มันพากันโผลงมายืนเป็นรูปครึ่งวงกลม”อยู่รอบศพอย่างรวดเร็ว ส่วนพระและผู้คนที่มายืนอยู่อีกซีกหนึ่งเป็นวงกลมรอบศพพอดี ต่อจากฝูงแร้งก็ถึงฝูงกา และต่อจากฝูงกาก็ถึงฝูงสุนัข วิ่งวนไปมาส่งเสียงเห่าและคำรามกันเอง พอสัปเหร่อผ่าศพ พวกแร้งไม่อาจจะทนดูเลือดและตับไตไส้พุงที่สัปเหร่อผ่าออกมาได้ก็เริ่มตีปีกและร้องเสียงแหลม พร้อมกับกระโดดไปมาอย่างกระวนกระวาย ร้อนถึงชาย 2 คนต้องช่วยกันไล่ไม่ให้มันเข้ามาใกล้สัปเหร่อที่กำลังผ่าศพ

“เมื่อสัปเหร่อแล่เนื้อที่สะโพกขาและแขนออกแล้วจึงผ่าอกอีกทีหนึ่ง ระหว่างนี้พระรูปที่อยู่ใกล้ๆ ก็ก้าวเข้าไปสวด 2-3 คำ ยังไม่ทันสวดจบ พวกแร้งที่รออยู่ก็กระโดดเข้ามาใกล้ศพอย่างบ้าคลั่ง ส่งเสียงร้องอย่างน่ากลัว ภาพของแร้งที่กระโดดหยองแหยงกระจายไปรอบศพดูคล้ายเป็นการเต้นรำของพญามัจจุราช…”

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับ พฤษภาคม 2531