เชียงดาว 101: เปลี่ยนผู้พิชิตเป็นผู้พิทักษ์ เตรียมตัวอย่างไรเมื่อไป ดอยหลวงเชียงดาว
- ข้อกำหนดปี 2565 อนุญาตให้นักศึกษาธรรมชาติสามารถค้างแรมในป่าบริเวณจุดกางเต็นท์ (จุดพักแรมอ่างสลุง) ได้ 1 คืน และจำกัดจำนวนไม่เกิน 100 คนต่อวัน
- นักศึกษาธรรมชาติทุกคนต้องโหลดแอปพลิเคชันใหม่ล่าสุด Doi Chiang Dao Biosphere ติดตัวเอาไว้ เป็นแผนที่ออฟไลน์แสดงข้อมูลจุดสำคัญต่างๆ บนทางที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
- กฎใหม่ของการขึ้นเชียงดาวคือ ทุกคนต้องเข้าอบรมทั้งเรื่องระบบนิเวศ การเตรียมตัวก่อนเดินป่า ข้อปฏิบัติและกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยต้องเข้ารับการอบรมล่วงหน้า 1 วันก่อนเดินทางจริง
ดอยหลวงเชียงดาว “เก็บ” แค่ภาพถ่าย “ทิ้ง” ไว้แค่รอยเท้า…
นี่คือคำเชิญชวนเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าย้ำกับนักศึกษาธรรมชาติทุกคนทั้งที่กำลังเดินเข้าป่าไต่ระดับความสูงที่ 2,275 เมตรจากระดับน้ำทะเล และกำลังเข้าไปศึกษาความพิเศษของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ในเว็บไซต์ www.doichiangdaobiosphere.com ซึ่งเพิ่งเปิดใช้งานสดๆ ร้อนๆ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2565 ที่ผ่านมาพร้อมกับการเปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เชียงดาว ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาธรรมชาติ เป็นการเปิดฤดูกาลเดินป่าประจำปีเป็นระยะเวลาราว 4 เดือน (สำหรับปี 2565 ปิดระบบจองสิทธิ์แล้ว และจะเปิดอีกครั้งในปี 2566) ที่สัมผัสได้ถึงความเข้มข้นของเนื้อหาตลอดเส้นทาง 8.5 กิโลเมตร และยังเห็นถึงความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่ารวมทั้งชุมชนรอบเชียงดาวที่ต้องการปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ของการเดินป่าจาก ผู้พิชิต มาเป็น ผู้พิทักษ์
Sarakadee Lite เองก็มีโอกาสขึ้นไปสำรวจ เชียงดาว ตั้งแต่วันแรกๆ ของการเปิดฤดูกาล เราเลยขออัปเดตข้อปฏิบัติที่ควรรู้รวบรวมเป็น เชียงดาว 101 สำหรับนักศึกษาธรรมชาติที่กำลังเตรียมพร้อมออกเดินทางในครั้งต่อๆ ไปมาฝากกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าเชียงดาวคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ใช่พื้นที่อุทยานแห่งชาติที่หลายคนคุ้นเคย การเที่ยว ดอยหลวงเชียงดาว จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านมากกว่าแค่การเตรียมความพร้อมของร่างกาย
เชียงดาว 101
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวถึงต้องออกกฎระเบียบที่เคร่งครัดและต้องอบรมก่อนเดินทางสู่ผืนป่า 1 วัน (และมีเวลาให้ได้เที่ยวชุมชนเชียงดาวเพิ่มขึ้น) นั่นเป็นเพราะดอยเชียงดาวคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ไม่ใช่สถานที่เที่ยวพักผ่อนหรืออุทยานแห่งชาติอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจ ทั้งยังได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก โดดเด่นด้วยป่าในแบบสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของจีน ระบบนิเวศที่เชียงดาวจึงยิ่งพิเศษกว่าใคร
ดังนั้นในปี 2565 นี้ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจึงมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจใหม่ โดยเฉพาะการให้ความหมายกับพื้นที่อันมีความเชื่อมโยงไปถึงระบบนิเวศโดยรวม เราที่เปรียบเสมือนผู้ไปเยี่ยมบ้านของสัตว์ป่าและพรรณพืชจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ข้อปฏิบัติเพื่อที่จะไม่รบกวนพื้นที่และเจ้าของบ้านมากเกินจำเป็น และนั่นเป็นสาเหตุที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวไม่ได้เรียกเราว่า “นักท่องเที่ยว” แต่คือ “นักศึกษาธรรมชาติ” ว่าแล้วก็มาเตรียมความพร้อมเบื้องต้นกันเลย
Doi Chiang Dao Biosphere
“Doi Chiang Dao Biosphere” เสิร์ชชื่อนี้ในช่องค้นหาจะตอบโจทย์ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นและระหว่างทาง เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะเปิดระบบจองสิทธิ์สำหรับคนทั่วไปทางเว็บไซต์ www.chiangdao-biosphere.com ในเว็บไซต์จะมีตั้งแต่ข้อมูลเบื้องต้น อาทิ สภาพอากาศ พรรณพืชและสัตว์ป่าที่สำคัญ ไปจนถึงข้อมูลการเดินทางเพื่อไปยังสถานที่อบรมและจุดลงทะเบียนในวันเดินทาง ซึ่งเมื่อเข้าระบบจองสิทธิ์และกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะมีให้เลือกบริการเพิ่มเติม อาทิ การแชร์หรือเหมาค่ารถเพื่อเดินทางจากจุดลงทะเบียนไปยังจุดเริ่มเดิน เช่าเต็นท์ หม้อสนามหรือถุงนอน โดยข้อกำหนด (ปี 2565) อนุญาตให้นักศึกษาธรรมชาติสามารถค้างแรมในป่าบริเวณจุดกางเต็นท์ (จุดพักแรมอ่างสลุง) ใกล้กับยอดดอยได้ 1 คืน และจำกัดจำนวนไม่เกิน 100 คนต่อวันเท่านั้น ซึ่งก็ตอบคำถามว่าทำไมต้องมีการเปิดระบบออนไลน์ให้จองสิทธิ์เดินป่าล่วงหน้า และทำไมหลังจากเปิดระบบไม่กี่สัปดาห์ ตั๋วขึ้นยอด ดอยหลวงเชียงดาว ก็เต็มอย่างรวดเร็ว
นอกจากศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่จำเป็นมากๆ ก่อนขึ้นเชียงดาวคือ นักศึกษาธรรมชาติทุกคนต้องโหลดแอปพลิเคชันใหม่ล่าสุด Doi Chiang Dao Biosphere ติดตัวเอาไว้ โดยต้องใช้รหัสสี่ตัวท้ายของบัตรอบรม (นักเดินทางต้องเข้าโปรแกรมอบรมล่วงหน้า 1 วัน) เพื่อล็อกอินเข้าสู่ระบบ แอปพลิเคชันนี้เป็นแบบออฟไลน์ที่พัฒนาขึ้นมาให้ใช้ในจุดที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ได้ ความสะดวกคือในแอปฯ จะมีแผนที่บอกระยะห่างระหว่างเส้นทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง และบอกพิกัดจุดสำคัญกลางป่าอย่างจุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์ห้องน้ำ
อีกทั้งใจกลางป่าระหว่างเดินทางไปยังยอดดอยหลวงเชียงดาวจะมีจุดให้สแกน QR Code แบ่งเป็น 26 จุด รวมทั้งหมด 28 QR Code แสดงข้อมูลสำคัญเช่น พรรณพันธุ์ สภาพภูมิประเทศ ภูเขาไฮไลต์ ฟอสซิล ดอกไม้ที่มีเฉพาะที่เชียงดาวเท่านั้น การหยุดมองที่มากกว่าการเร่งรีบเดินให้ถึงจุดหมายนี่เองที่จะทำให้เราได้หยุดสังเกตเชียงดาวมากกว่าจะเร่งรีบเดินให้ถึงปลายทางและเมื่อเราสแกนผ่านครบ 20 จุดจะได้วีซ่าดอยหลวงเชียงดาวซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนลดกับร้านค้าเชียงดาวที่ร่วมรายการได้
เดินทางไปยังจุดเริ่มต้นด้วยนิทรรศการใหม่
กฎใหม่ของการขึ้นเชียงดาวคือนักศึกษาธรรมชาติทุกคนต้องเข้าอบรมทั้งเรื่องระบบนิเวศ การเตรียมตัวก่อนเดินป่า ข้อปฏิบัติและกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยต้องเข้ารับการอบรมล่วงหน้า 1 วันก่อนเดินทางจริง และหากมีเวลาเหลือทางเราแนะนำให้แวะไปชมนิทรรศการถาวรเกี่ยวเนื่องกับ เชียงดาว ที่เพิ่งติดตั้งใหม่ล่าสุดต้นพฤศจิกายน 2565 บริเวณอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เนื้อหาของนิทรรศการเน้นสร้างกระบวนการรับรู้เกี่ยวกับการใช้พื้นที่เชียงดาวที่มีทั้งมนุษย์ สัตว์และพรรณพืช ไปจนถึงการเข้าใจความหมายของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ความแตกต่างของอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ารวมทั้งการเปิดพื้นที่เชียงดาวว่าจุดไหนมีการใช้งานอย่างไร ส่วนใครอยากเห็นว่าพรรณพืชบริเวณดอยหลวงเชียงดาวว่าจะสวยงามแค่ไหน และถ้าขึ้นไปจะเจอกับดอกอะไรบ้างก็สามารถมาชมภาพถ่ายบริเวณจุดนี้ได้ก่อน
เอาอะไรติดตัวไป เอากลับมาให้ครบ
จุดลงทะเบียนก่อนออกเดินทางคือที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จุดนี้จะเป็นจุดที่นักเดินทางจะมาขึ้นรถของชมรมผู้ประกอบการรถนำเที่ยวอำเภอเชียงดาว เพื่อต่อไปยังจุดเริ่มเดินป่า นั่นคือที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก โดยรถหนึ่งคันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5 คนพร้อมสัมภาระ ซึ่งเส้นทางก่อนจะขึ้นไปหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอกอยู่ในระดับที่ค่อนข้างโหด มีทั้งหลุมบ่อ ทางถูกน้ำเซาะเป็นร่อง ทางดินขรุขระ ทางโค้งแคบที่ต้องใช้ความชำนาญ และหลายจุดรถก็ไม่สามารถสวนกันได้ ดังนั้นวิธีการที่สะดวกและปลอดภัยที่สุดแนะนำให้จอดรถไว้ที่รีสอร์ตที่พักด้านล่าง และเลือกใช้บริการรถนำเที่ยวของชุมชนที่คนขับแต่ละคนมีความชำนาญในเส้นทางมากกว่า ที่สำคัญยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนเชียงดาวได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของสัมภาระแนะนำให้นำติดตัวไปแต่ของจำเป็นเท่านั้น ซึ่งทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีบริการลูกหาบ (ใช้หรือไม่ใช้บริการก็ได้) ที่สามารถแบกสัมภาระได้คนละ 20 กิโลกรัม และในวันเดินทางจะต้องจ่ายค่าบริการลูกหาบเองด้วยเงินสด 1,400 บาท ค่าธรรมเนียมเข้าเขตฯ 20 บาท และค่ามัดจำขยะอีก 500 บาท ซึ่งนักศึกษาธรรมชาติทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสัมภาระและขยะ เพื่อที่วันกลับจะต้องนำสิ่งที่นำขึ้นไปทั้งหมดกลับลงมาแสดงอีกครั้งเพื่อรับค่ามัดจำขยะคืนที่จุดทำการ
ลืมบอกไปว่าในระยะเวลาราว 1 คืน 2 วัน ตลอดการเดินทางนี้ ที่บริเวณจุดพักกางเต็นท์เราจะสามารถทำได้แค่ล้างหน้าและแปรงฟันโดยไม่บ้วนลงบนพื้น สำหรับห้องน้ำแบบห้องสุขาปกติ (แบบมีน้ำให้ใช้) มีบริการที่จุดที่ 1 และจุดที่ 10 ตามแผนที่ ส่วนบริเวณจุดกางเต็นท์ (จุดที่ 24 อ่างสลุง) จะเป็นห้องน้ำแบบเฉพาะกิจ (แบบไม่มีน้ำให้ใช้) ที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าล้อมผ้าใบเป็นห้องชั่วคราวไว้เท่านั้น และเมื่อขับถ่ายทุกครั้งก็ต้องจัดเก็บไปทิ้งตามจุดที่จัดเตรียมไว้ส่วนใครที่ต้องการเข้าห้องน้ำระหว่างทางต้องใช้ชุดขับถ่ายฉุกเฉินที่ทางอุทยานฯ เตรียมให้เท่านั้น ไม่สามารถขับถ่ายกลางธรรมชาติข้างทางได้อีกต่อไป ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะมีการปูพื้นฐานอยู่ในช่วงเข้าอบรมเพื่อเรียนรู้วิธีการใช้สุขาและชุดขับถ่ายฉุกเฉิน เป็นอีกหนึ่งข้อบังคับในขั้นตอนเลือกบริการเพิ่มเติมหลังทำการจองสิทธิ์ รวมทั้งการเตรียมอาหาร น้ำสำหรับนำขึ้นไปด้านบนระหว่างค้างคืนที่แตกต่างกับเขตอุทยานฯ อย่างสิ้นเชิง
อีกไอเท็มที่ต้องมีและห้ามลืมอย่างเด็ดขาดคือ ไฟฉาย สำหรับเดินไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนเพราะบริเวณจุดกางเต็นท์มืดสนิทไม่มีไฟฟ้า และหากมีไฟฉายแบบคาดหัวก็จะสะดวกขึ้นมากๆ เพราะในส่วนของห้องน้ำจะเป็นแบบชั่วคราวที่ไม่ได้สะดวกสบายและมีที่แขวนสิ่งของใดๆ อีกทั้งใครที่ต้องการเดินขึ้นยอดดอยหลวงไปชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ก่อนจะถึงปลายทางจะมีทางวัดใจที่ค่อนข้างชันและเป็นหินแหลมคม บางจุดต้องไต่เชือกขึ้นไป ดังนั้นการมีไฟฉายแบบคาดหัวจะทำให้สะดวกในการปีนป่ายมากขึ้น และที่จะขาดไม่ได้ของเส้นทางเชียงดาว คือ รองเท้าที่มีพื้นช่วยในการยึดเกาะและเดินสบายสำหรับระยะทางที่ยาว และการปีนขึ้นเขาหินปูนแหลมคมในช่วงเดินขึ้นยอดดอยหลวงเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกด้วย
ไม่ใช่แค่การเร่งเดินให้ถึง แต่คือการค่อยๆ มองระหว่างทาง
อย่างที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเน้นย้ำเสมอถึงการเปลี่ยนแนวคิดจาก “ผู้พิชิต” เป็น “ผู้พิทักษ์” ที่อยากให้จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพียงการขึ้นไปยังยอดสุดของดอยหลวง แต่ได้เก็บเกี่ยวเรื่องราวไปตลอดเส้นทาง ข้อมูลเบื้องต้นจากการสแกน QR Code จึงมีส่วนช่วยมากๆ ให้เราลองสังเกต ซึ่งหากใครกังวลว่าเดินไปอ่านไปจะไม่ครบถ้วนก็ไม่ต้องห่วงเพราะเมื่อสแกนจุดไหนแล้วเราจะสามารถกลับมาคลิกอ่านข้อมูลในจุดที่ผ่านมาเพื่อสรุปการเดินทางของเราได้ แต่บอกก่อนว่าเราอาจเจอ ไม่เจอ หรือบางทีก็เจอมากกว่าที่ระบุในแผนที่ เพราะพืชพรรณบนดอยเชียงดาวจะผลิดอกแตกใบแตกต่างกันไปตามฤดูกาลและแต่ละเดือน แต่รับรองว่าไม่ว่าจะไปเดือนไหนก็จะมีสีสันของดอกไม้แย้มทักทายตลอดเส้นทางอย่างแน่นอน ได้สัมผัสแบบนั้นแล้วเราอาจไม่ได้แค่ชื่นใจที่ได้ชมธรรมชาติที่สวยงาม แต่ความประทับใจอาจเกิดจากการที่ตัวเราเองรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติเหล่านั้น และร่วมอนุรักษ์รักษาไว้อย่างเต็มใจก็ได้
Fact File
- ข้อมูลเพิ่มเติม : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
- เว็บไซต์ : www.doichiangdaobiosphere.com
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Doi Chiang Dao Biosphere : www.doichiangdaobiosphere.com/application