ไฮไลต์ Bangkok Art Biennale 2022 ดูงานศิลปะอย่างไรให้รู้เรื่อง
- เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข
- สำหรับพื้นที่แสดงงานศิลปะกระจายใน 12 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ศิลปะกลางเมือง รวมทั้งห้างสรรพสินค้า
กลับมาอีกครั้งพร้อมประเด็นสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ร้อนแรงกว่าเดิม สะท้อนผ่านผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้นใน Bangkok Art Biennale 2022 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้เรื่องราวของงานศิลปะเรียงร้อยภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข จัดเต็มผลงานศิลปะจาก 73 ศิลปิน จาก 35 สัญชาติทั่วโลก
สำหรับพื้นที่แสดงงานศิลปะ Bangkok Art Biennale 2022 กระจายใน 12 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาส, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ , มิวเซียมสยาม, เซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์ , เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก และ JWD Art Space รวมทั้งในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566
สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มจากจุดไหน ชมงานชิ้นไหนก่อน Sarakadee Lite ได้รวบรวม 20 ชิ้นงาน มาให้ได้รับชม ส่วนวิธีการชมงานนั้นแต่ละจุดจะมีป้ายกำกับเนื้อหาอย่างย่อ หรือถ้าต้องการเนื้อหาอย่างละเอียดให้มองหาสตาฟ “เด็ก BAB” ที่จะคอยบอกเล่าถึงเรื่องราวและแรงบันดาลใจของศิลปินแต่ละคนให้ได้ทราบ แต่ถ้าต้องการเนื้อหาฉบับเจาะลึก Bangkok Art Biennale 2022 ต้องไม่พลาดคลิกอ่าน Sarakadee Lite กันได้เลย
01 อโรคยศาลา
ประเภท : Brass Plate, Bronze, Stone
ศิลปิน : มณเฑียร บุญมา
พิกัด : วัดโพธิ์
มณเฑียร บุญมา คือศิลปินร่วมสมัยเบอร์ต้นของไทยและเป็นหนึ่งในศิลปินไฮไลต์ที่ขอบอกเลยว่าห้ามพลาดชมสำหรับงานนี้ และงานชิ้นที่พิเศษสุดๆ ก็คือ “อโรคยศาลา” เรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้น unseen ของเทศกาลเลยก็ว่าได้ เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผลงานชิ้นนี้ได้นำออกมาจัดแสดงต่อสาธารณชนตั้งแต่ศิลปิน มณเฑียร บุญมา ได้สร้างสรรค์ผลงานนี้ไว้ตั้งแต่ปี2537 ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการว่าจ้างโดย สุรินทร์ ลิมปานนท์ และที่ผ่านมาได้จัดตั้งไว้ในบ้านพักส่วนตัวของผู้สะสม ที่สำคัญงานชิ้นนี้ยังถือได้ว่าเป็นผลงานแรกในซีรีส์อโรคยศาลา ที่ มณเฑียร บุญมา ได้สร้างสรรค์เอาไว้อีกหลายชิ้นในภายหลัง
อโรคยศาลา ได้อ้างอิงรูปแบบของอโรคยศาล สถาปัตยกรรมจากวัฒนธรรมขอมที่เรียกได้ว่าเป็นสถานเยียวยาทั้งกายที่เน้นการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคและทางใจคือการเป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและศาสนา สำหรับวิธีการชม เราสามารถเข้าไปอยู่ภายในของผลงานได้โดยศิลปินมีความต้องการที่จะสื่อสารถึงกรอบที่สงบและไม่มีภัยอันตราย ชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ภายในสวนมิสกวัน (เก๋งจีน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
02 Melting Void : Moldsfor the Mind
ประเภท : Aluminum
ศิลปิน : มณเฑียร บุญมา
พิกัด : วัดโพธิ์
ผลงานอีกหนึ่งชิ้นของ มณเฑียร บุญมา ที่ unseen ไม่แพ้กันตั้งอยู่ภายในวิหารพระพุทธปาลิไลยซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นพระพุทธรูปที่มีความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับการรักษาโรค เป็นประติมากรรมเศียรพระพุทธรูปอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ที่ภายในมีความโปร่ง และแน่นอนว่าเราสามารถที่จะเข้าไปยืนอยู่ภายใต้เศียรของพระพุทธรูปได้ ผลงานชิ้นนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับสมุนไพรที่เป็นยาพ่วงมาด้วยเรื่องโหราศาสตร์ ซึ่งศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเยียวยาทั้งผู้คนและตนเองในการค้นหาสติ ความสงบผ่อนคลายจนถึงการเยียวยารักษาทั้งกายและใจ
เมื่อเงยหน้าขึ้นไปภายใต้เศียรพระพุทธรูปนี้อาจได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของสมุนไพรที่อัดแน่นอยู่ภายในชิ้นงาน ส่วนที่อยากให้สังเกตคือเราสามารถมองเห็นแสงจากรูเล็กๆ อันเปรียบถึงดวงดาวทางโหราศาสตร์ได้ ซึ่งสาเหตุที่ศิลปินสร้างสรรค์ให้มีช่องว่างภายในนั้นมีความตั้งใจให้เปรียบเสมือนที่พำนักทางจิตใจเพื่อที่จะเจอกับสติและความสงบ ซึ่งยิ่งจัดวางอยู่คู่กับพระพุทธปาลิไลยก็ยิ่งส่งเสริมความหมายของชิ้นงานได้เป็นอย่างดี
03 Voice of theOppressed / VOIDSCAPE
ประเภท : 4K Video, Performance
ศิลปิน : กวิตา วัฒนะชยังกูล
พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / เซ็นทรัลเวิลด์
หากใครเคยชมผลงานของกวิตาวัฒนะชยังกูลมาก่อนแล้ว น่าจะคุ้นเคยกับรูปแบบการนำเสนอของเธอที่ผสมผสานทั้งการแสดงสดและวิดีโอโดยใช้ตัวเธอเป็นสื่อมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง การกดขี่ แรงงาน และการตั้งคำถามกับโลกสมัยใหม่ ครั้งนี้เธอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของเธอเอง แต่ต่างออกไปด้วยการชักชวนนักนวัตกรรมอย่าง พัทน์ ภัทรานุธาพร จาก MIT Media Lab มาร่วมสร้างสรรค์
Voice of the Oppressedจัดแสดงอยู่ที่บริเวณชั้น 8 ของ BACC โดยสองจอที่ตั้งอยู่ข้างกันคือใบหน้าของกวิตา…แต่ไม่ใช่เธอ ใบหน้าที่ปรากฏคือสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์จดจำใบหน้าของเธอได้ พวกเขามีชื่อว่า Kawitash1 และ Kawitash2 เป็นตัวแทนของการควบคุมสั่งการและความต้องการปลดแอกจากความเอารัดเอาเปรียบและเป็นตัวแทนของความอิสระ โดยผลงานนี้จะเต็มรูปแบบมากขึ้นเมื่อจัดแสดงคู่กับวิดีโอและการแสดงสดโดยกวิตา ซึ่งเธอจะเป็นปืนฉีดน้ำที่อยู่ตรงกลางเพื่อรับสารจากสองฝั่งที่กำลังถกเถียงกันภายในห้องที่เต็มไปด้วยเขม่าควันซึ่งเปรียบความหมายของการถูกกดขี่ด้วยคนที่ไม่สามารถออกเสียงและหายใจได้ สิ่งที่น่าสนใจในการแสดงนี้คือศิลปินและ Kawitash2 จะทำอย่างไรเพื่อให้กลับมามีเสียงและหายใจได้อีกครั้งหนึ่ง โดยการแสดงนี้จะเริ่มครั้งแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกันกวิตายังจับมือกับ ไซรัส เจมส์ คาน3D Artist ในการนำเทคโนโลยี VR มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อจำลองโลกอนาคตให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ในโลกแห่งอนาคตที่ไม่รู้จัก กับผลงานที่ชื่อ VOIDSCAPE จัดแสดงบริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งถนนพระราม 1 ในรูปแบบของห้องสี่ห้องที่เล่าเรื่องราวต่างกันในประเด็นของการใช้แรงงาน โลกทุนนิยมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จุดนี้จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 เข้าชมฟรีแต่แนะนำให้ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อจองรอบเข้าชมทาง www.entervoidscape.com
04 Temporary Insanity และ Anything Can Break
ประเภท : Sound Interactive Installation
ศิลปิน : พินรี สัณฑ์พิทักษ์
พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผลงานชุดแรกเลยทันทีที่เข้ามาถึงห้องจัดแสดงงาน บริเวณชั้น B2 ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เราจะถูกขนาบข้างด้วยสองผลงาน Sound Interactive Installation ของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ชิ้นหนึ่งมีก้อน สีส้มเหลืองมากมายจัดวางอยู่บนพื้น และอีกชิ้นกำลังลอยอยู่ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่สองชิ้นงานนี้ได้มาจัดแสดงร่วมกัน โดยผู้ชมจะเห็นว่าลักษณะโดดเด่นที่ปรากฏคือรูปทรงเต้านมผู้หญิงที่ลดทอนรูปร่าง ซึ่งศิลปินเชื่อว่าสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ของสถูปในพุทธศาสนา แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือศิลปินเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมและผลงานโดยข้ามพ้นเรื่องเพศเรื่องผู้หญิงไปสู่ทุกคนทุกเพศทุกวัย อย่างน้อยก็สามารถอินเตอร์แอ็กทิฟกับผลงานได้โดยการปรบมือแล้วรูปทรงที่จัดวางจะเกิดการขยับเป็นการตอบรับ
หรืออย่างเช่นอีกหนึ่งผลงานที่มีชื่อว่า Anything Can Breakที่พินรีต้องการที่จะทำงานให้ผู้บกพร่องทางสายตาสามารถสัมผัสและมีประสบการณ์กับงานได้ ด้านบนประกอบรูปร่างของ Flying Cube หรือลูกบาศก์ที่มีปีกและงานแก้วเป่ารูปเต้านม ที่เมื่อเราเดินเข้าไปชมภายใต้ชิ้นงานจะมีเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวซึ่งจะไปเปิดเสียงประกอบที่ซ่อนอยู่ นอกจากการเปิดประสาทสัมผัสทางเสียงยังมีเรื่องของสัมผัสที่ซับซ้อนเช่นความรู้สึกเปราะบางหนักเบา ดังเช่นรูปทรงลอยได้ที่เราเห็นแม้ทำจากวัสดุเบาแต่เมื่อมาอยู่เหนือหัว ศิลปินชวนสังเกตว่าจะรู้สึกเหมือนของเหล่านี้มีน้ำหนักขึ้นมาทันที
05 Peasant Park
ประเภท : Interactive Video
ศิลปิน : Uninspired by Current Events
พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นผ่านไทม์ไลน์กันอยู่เสมอๆ สำหรับผลงานภาพสามมิติที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ประจำวันอย่างแสบสันทั้งประเด็นการเมืองและสังคม ใช่แล้วเรากำลังพูดถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่สื่อสารศิลปะผ่านงานโซเชียลมีเดีย Uninspired by Current Events แต่คราวนี้เขามาในรูปแบบที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมกับผลงานได้มากขึ้นกว่าการแชร์หรืออภิปราย อย่างเช่นผลงานที่จัดแสดงอยู่บริเวณชั้น 8 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จะมาในรูปแบบของวิดีโอเกมที่เราสามารถอินเตอร์แอ็กทิฟกับผลงานได้ในรูปแบบเสมือนจริงผ่านแบ็คกราวน์ที่เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญของไทย
06 Contain2022/Connect2022
ประเภท : ประติมากรรมเหล็กจัดวางกลางแจ้ง
ศิลปิน : Anthony Gormley
พิกัด : วัดโพธิ์
งานประติมากรรมหล่อเหล็กสร้างขึ้นใหม่สองชิ้นที่รูปร่างคล้ายหุ่นนี้สร้างสรรค์โดยแอนโทนี กอร์มลีย์ (Anthony Gormley) ศิลปินที่โด่งดังกับงานประติมากรรมศิลปะจัดวาง และยังเป็นศิลปินที่นิยมสร้างงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ สำหรับ Contain 2022 และ Connect 2022 เป็นงานสร้างใหม่ที่ออกแบบมาสำหรับตั้งแสดงกลางแจ้งในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร (วัดโพธิ์) ที่มีความผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและจีนโดยเฉพาะ โดย Contain2022 มีลักษณะเป็นเหล็กตัน และ Connect2022 มีลักษณะเป็นเหล็กโปร่งจัดวางไว้สองจุดใกล้กัน
งานทั้งสองชิ้นมีรูปทรงเหมือนร่างกายมนุษย์ เป็นเหล็กหล่อรูปทรงมนุษย์เต็มตัว ภายในเขตวัดโพธิ์ที่มีพระพุทธรูปปางต่างๆ และเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย งานของแอนโทนี กอร์มลีย์ดูเรียบแต่สะดุดตา วัสดุเหล็กหล่อหนัก แต่โครงร่างโปร่งแสงทะลุลอดเส้นเหล็กโปร่งในโครงร่าง เห็นความสว่างและสงบ โต้ตอบกับเส้นสายในศิลปะเจดีย์และเส้นขอบกรอบประตูศิลปะไทย-จีนในวัด
งานชิ้น Connect2022 เป็นลักษณะโปร่งเหมือนมีการแตกกิ่งก้าน ยืนเคียงข้างเจดีย์แบบจีนขนาดเล็กสูงโปร่ง และต้นไม้ยืนต้นแตกกิ่งก้านเพรียวบางคลุมแดดรำไรและมีตุ๊กตาจีนยืนประจันหน้าอยู่ด้านหลัง สังเกตได้ว่าศิลปินตั้งใจเลือกจุดจัดวางเป็นมุมที่อยู่กึ่งกลางของกรอบประตู สมมาตรกับทิศทางของกรอบประตูที่อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังงานประติมากรรม ทั้งยังได้เห็นแนวของแสงที่พาดผ่านชิ้นงานตามเวลาของวัน ทำให้ชิ้นงานยืนเด่นปะทะสายตาผู้มาเยือนทันที ส่วนงาน Contain 2022 ศิลปินเลือกจุดจังวางตรงข้ามกับตุ๊กตาอับเฉาจีนที่เหมือนยักษ์เฝ้าประตูกำลังหันหน้าประจันกัน
งานที่จัดแสดงในวัดโพธิ์ครั้งนี้ กอร์มลีย์ศิลปินผู้ศึกษาศาสนาพุทธและเชนมาอย่างลึกซึ้งชวนคนดูมา“ตั้งสติ” สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่กลางแจ้ง มวลของสิ่งต่างๆ พลังงานพุทธธรรม แก่นของธรรมที่ว่าด้วยความเป็นอนิจจัง ซึ่งเนื้อหาขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนและพื้นที่ เป็นงานที่ขานรับธีมงานของ บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ (BAB2022)” Chaos : Calm” ที่การสำรวจ ความสัมพันธ์ของตัวเรา(ผู้ชม)กับ“ที่ว่าง” ในจุดสองจุดที่อยู่ระหว่างความอลหม่านและความสงบนั้น
07 Integer Study (drawing from life)
ประเภท : ภาพวาดลายเส้นลงสี
ศิลปิน : Jitish Kallat
พิกัด : มิวเซียมสยาม
Jitish Kallat ศิลปินชาวอินเดียกับผลงานภาพวาด (drawing) ลายเส้นสีในรูปทรงที่แตกต่าง ทั้งเรขาคณิต รูปทรงเลียนแบบวัสดุในธรรมชาติ และรูปภาพทางวิทยาศาสตร์ เป็นภาพวาดที่ศิลปินวาดขึ้นวันละภาพและวันละเรื่อง แต่ละภาพเกิดจากภาวะอารมณ์ความคิดของศิลปินในระหว่างที่เขานั่งอยู่ในสวนหลังบ้าน ในช่วง 1 ปีที่โลกและตัวศิลปินเองเผชิญสถานการณ์โควิด19 ซึ่งจำกัดการเดินทางออกนอกบ้าน
รูปที่วาดตามฟีลลิงหรืออารมณ์ในชั่วขณะนั้นๆ เป็นผลลัพธ์ของการตั้งสติทำสมาธิขณะอยู่ในสวนแต่ละวันของศิลปิน ภาพแต่ละชิ้นถูกนำมารวมกันเป็น “วอลเปเปอร์” บนผนังและเป็นทั้งบันทึกประจำวันส่วนตัวของศิลปิน มีการใส่ตัวเลขประกอบไว้ในภาพนั้นๆบอกเวลา วันเดือนปี รวมไปถึงตัวเลขสถิติ คนเกิด คนตาย (มีเครื่องหมาย ลบ (-) อยู่หน้าตัวเลข) ในแต่ละวันซึ่งตรงตามวันที่ศิลปินได้วาดภาพนั้นๆรายละเอียดเล็กน้อยที่ใส่ลงไปในภาพวาดสะท้อนภาวะมนุษย์ในห้วงเวลาหนึ่งของช่วงปีที่ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากจากวิกฤตโรคระบาดในรอบ 1 ศตวรรษของชาวโลกจึงกลายเป็น “หมายเหตุบันทึกประวัติศาสตร์” จากมุมส่วนตัวของศิลปินคนหนึ่งถึงชาวโลก
การพินิจรายละเอียดภาพวาดที่มองผิวเผินเหมือนภาพร่างหรือภาพวาดทางวิทยาศาสตร์จากภาพวาด 365 ภาพ (365วัน) ที่เรียงลำดับตามวันในปฏิทินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.2021 จนกลายเป็นวอลเปเปอร์ตกแต่งผนังสี่ด้านในห้องแสดงนิทรรศการทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนการเข้าชมห้องที่มีการตกแต่งภายใน เมื่อผู้ชมเดินจากห้องนิทรรศการไปมีสนามหญ้าและต้นไม้ในพื้นที่ของ “มิวเซียมสยาม” เป็นอารมณ์เชื่อมโยงกับการเดินจากห้องไปในสวนกับศิลปินในขณะที่เขาสร้างงานชิ้นนี้ด้วย
08 Apotekariya Cena
ประเภท : ศิลปะจัดวาง ผสมงานคอลลาจ ภาพพิมพ์ ภาพวาด
ศิลปิน : Alwin Reamilo
พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ตู้โชว์ใส่ภาพวาด รูปจำลองของสิ่งต่างๆ ภาพพรินต์และงานคอลลาจของศิลปินชาวฟิลิปปินส์ Alwin Reamilo (อัลวิน รีอามิโล) นี้กำลังตั้งคำถามถึงความเป็นไปของโลกภายใต้โครงสร้างอำนาจและการขยายของอาณานิคมแบบโลกยุคใหม่จากมหาอำนาจตะวันตก และอิทธิพลของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับโลก
ศิลปินเรียกงานชิ้นนี้ของเขาว่าเป็น Iteration of 1999เพราะความคิดเบื้องหลังของการสร้างงานนี้มาจากสองยุคสองสถานการณ์ของสังคมโลก หนึ่งจากยุคเปลี่ยนผ่านศตวรรษใหม่ และอีกหนึ่งคือโลกยุคเผชิญวิกฤตโควิด19 ดังนั้นอารมณ์ความรู้สึกหวั่นกลัวต่ออนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร และอนาคตที่อยู่ภายใต้มือของผู้มีอำนาจจึงเกิดขึ้น
“ค.ศ.1999 เป็นหมุดหมายของปีที่คนรู้สึกถึงการก้าวสู่ศตวรรษใหม่ เป็นยุคใหม่ ซึ่งมีการตั้งคำถามกับระเบียบโลกใหม่ (new order) และผู้คนทั้งโลกมีความรู้สึกหวั่นกลัวอย่างมากต่ออนาคตข้างหน้าจนมาถึงยุคที่เราต้องเผชิญกับโรคระบาดล่าสุด ยุคก่อนเป็นอิทธิพลของเจ้าอาณานิคมจากยุโรป แล้วก็มาสู่ยุคอาณานิคมใหม่ ผลกระทบที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ วิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน แต่เราก็มีนักการเมือง ผู้ปกครองที่เต็มไปด้วยความหวังว่าจะใช้ยาใช้วิธีการในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ซึ่งมันไม่ได้ไปในทางที่ดีขึ้นและตอนนี้ประชาชนก็เริ่มตั้งคำถามแล้ว” Alwin Reamiloอธิบายถึงนัยสำคัญของชื่องาน
งานกระตุ้นและการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองใส่สัญลักษณ์ต่างๆ ที่สะท้อนชีวิตคนที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำ ทั้งในระดับท้องถิ่นและมหาอำนาจโลกยุคปัจจุบันเรื่องราวพื้นหลังเชื่อมโยงอดีตของฟิลิปปินส์ที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมจนถึงยุคปัจจุบันที่อยู่ในสถานะ “ประเทศโลกที่ 3” ที่ยังคงดิ้นรนต่อสู้กับอิทธิพลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองที่ยังไม่หลุดจากเงาเผด็จการ และการอยู่ภายใต้เงื่อนไขของประเทศมหาอำนาจ หรือการอยู่ใต้อำนาจอาณานิคมยุคใหม่ซึ่งดอกเตอร์อภินันท์ โปษยานนท์ ภัณฑารักษ์ใหญ่ของงานได้เอ่ยถึงกรณีที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหมู่เกาะที่ถูกใช้เป็นที่รองรับ“ยา”รักษาโรคแผนปัจจุบันต่างๆที่ประเทศมหาอำนาจไม่ใช้แล้วนั่นจึงเป็นที่มาของตู้โชว์ที่มีลักษณะคล้ายตู้ยาที่ศิลปินสร้างขึ้น
ชั้นแรกของตู้สะดุดตาด้วยภาพทำซ้ำภาพวาด The Last Supper ตามพระคัมภีร์ไบเบิล เหตุการณ์อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับศิษย์เอก ก่อนที่พระเยซูจะถูกตรึงไม้กางเขน รายละเอียดของงานภาพที่เป็นคอลลาจ ด้วยสื่อต่างๆ และภาพ“ใบหน้า”บุคคลสะกิดให้คนดูนึกถึงเรื่องราวและอิทธิพลของบุคคลที่มีผลต่อสังคม โดยใบหน้าบุคคลที่ซ่อนอยู่ในงานศิลปะชิ้นนี้ สื่อเรื่องราวสถานการณ์ปัจจุบันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีตั้งแต่นักการเมือง นักปกครอง เผด็จการ นักธุรกิจ ผู้ทรงอิทธิพลต่อสังคม ทั้งในระดับประเทศของศิลปินเอง อย่างอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส และ นานาชาติทั้งเอเชียและทั่วโลก รวมถึง มาร์กซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ก รวมทั้งใบหน้าของบุคคลที่มีอำนาจในไทย (ขอไม่สปอยต้องไปชมเอง)
“ผมต้องการให้คนได้ตระหนักและรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันในโลกของเรา เวลาดูสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าก็อย่าลืมมองดูผู้นำประเทศของเราด้วย เพราะปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วโลกเวลานี้มันมีต้นเหตุจากบรรดานักการเมืองและวิถีการปกครองของผู้นำของพวกเรานี่แหละ”Alwin Reamiloศิลปินผู้สร้างงานกล่าว
09 Rokayasala
ประเภท :ศิลปะจัดวาง ประติมากรรม ภาพเขียน และออกแบบเสียง
ศิลปิน : เถกิง พัฒโนภาษ
พิกัด :ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เถกิง พัฒโนภาษ มีผลงานเชื่อมโยงกันสองชิ้นคือในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และรอบเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร สำหรับที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ศิลปินเชื้อเชิญให้คนดูท่องโลกภายใน “ร่างกาย” ของมนุษย์และชวนสำรวจจิตวิญญาณของตัวเราไปพร้อมๆ กันภายในห้องแสดงผนังสีขาว แต่แสงสีกลับเหมือนกำลังเข้าสู่ห้องตรวจร่างกาย
งานศิลปะจัดวางชุดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีทั้งภาพเขียน งานประติมากรรมจากวัสดุเส้นโลหะและลูกปัดพลาสติกดัดให้รูปร่างพ้องกับรูปทรงอวัยวะสำคัญภายในร่างกายคน อาทิ ดวงตา หัวใจ ปอด สมอง ดวงตา ท่อทางเดินต่างๆ และ ภาพเซลล์มะเร็ง สะท้อนเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินผู้เคยประสบโรคร้ายและงานออกแบบเสียง ซึ่งถ้าฟังดีๆ จะพบว่าล้วนเป็นเสียงสะท้อนภายในร่างกายที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ลมหายใจ หัวใจเต้น รวมทั้งเสียงสั่นสะเทือนเหมือนเสียงเครื่องมือแพทย์ทำงานกับร่างกายคน
การดูและฟังเสียงงานชุดนี้สามารถเลือกได้ว่าจะมองระยะห่างหรือมองในระยะประชิดที่เสมือนส่องกล้องมองดูอวัยวะภายใน เพื่อให้รู้สึกและทำความเข้าใจร่างกายคล้ายผู้ชมกำลังเข้าไปอยู่ในร่างกายศิลปินที่เปรียบร่างกายเป็น “โรคายาศาลา” หรือรังของโรค การพิจารณางานอย่างใกล้ชิดและใช้เวลาฟัง เป็นเหมือนการทำสมาธิ ศิลปินตั้งใจไว้ว่าผู้ชมจะได้สัมผัสภายในตัวเองและระลึกถึงความจริงของสังขาร ร่างกาย ตัวเราเป็นเพียงละอองธุลีในอนันตรจักรวาล
10 Rugs Bomb
ประเภท : ผืนพรมบนผ้าใบ
ศิลปิน : Jan Kath
พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
งานออกแบบพรมที่ถักทอเรื่องราวถึงผลกระทบของสงครามต่อชีวิตผู้คน โดยจานคาท (Jan Kath) ศิลปินชาวเยอรมันที่ปัจจุบันพำนักอยู่ที่เชียงใหม่ประเทศไทย ได้สร้างสรรค์พรมทอเป็นภาพขนาดใหญ่ติดผนังรวมเก้าชิ้นดูผิวเผินงานเหล่านี้เหมือนจะเป็นงานตกแต่งในคฤหาสน์ของใครสักคน แต่กลับเป็นงานบันทึกเรื่องราวที่สะท้อนความรู้สึกความคิดที่เป็นปฏิกิริยาของผู้คนภายใต้ภาวะสงคราม การเมืองการทหารที่กระทบต่อพวกเขาได้เป็นอย่างดี
ต้นเรื่องแรงบันดาลใจของศิลปินมาจากประสบการณ์ในครอบครัวรุ่นปู่ย่าของเขาเองที่เป็นอดีตพลเมืองเยอรมนีฝั่งตะวันออกและเรื่องเล่าจากสงครามทั่วโลก ผลงานชิ้นสะดุดตา เช่น Bad Mouse ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวของเขาเองรุ่นปู่ย่าที่มีทั้งภาพเหมือนมิกกีเมาส์ถืออาวุธเป็นโครงร่างที่วาดและพิมพ์แบบด้วยเทคนิคดิจิทัล ด้านการสร้างงานก็ให้ช่างทอพรมทำงานด้วยเทคนิคดั้งเดิมคือ “ทอมือ” เป็นช่างพื้นบ้านในอุตตรประเทศของอินเดียที่ยังคงใช้วิธีการผูกปมไหมหรือเส้นใย
พรมอีกชิ้นที่สะดุดตาคือภาพรวมครอบครัว มีพ่อแม่เด็กและสัตว์เลี้ยงของพวกเขา ภาพนี้เสมือนภาพที่จัดไว้ประดับห้องรับแขกทั่วไปแต่องค์ประกอบภาพที่มีคนเป็นพ่อถือปืนอ้างอิงมาจากภาพถ่ายสมจริงของ Kyle Cassidy ในหนังสือ Arms in Americas :Portraits of Gun Owners in Their Homes สื่อถึงสภาวะของชีวิตยุคใหม่ที่ยังคงอยู่กับอาวุธและความรุนแรงที่เกิดจากการใช้อาวุธในด้านเทคนิค ภาพนี้เป็นต้นแบบภาพพิมพ์ดิจิทัลและช่างทอพรมที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เป็นผู้ลงมือถักทอขึ้นมาตามแบบที่ Jan Kath สร้างสรรค์ วัสดุเป็นไหมและเส้นใยวูล ทอมือแบบผูกปมตามวิธีโบราณ และยังคงรูปแบบการขึ้นผืนพรมในลวดลายแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “พรมบีจาร์” มาผสานกับการสร้างลวดลายภาพสไตล์ป็อปอาร์ต
นอกจากตัวชิ้นงานที่กระตุ้นเตือนใจผู้ชมถึงสงครามและชีวิตแล้ว กระบวนการทำงานในการทอพรมสร้างภาพแต่ละชิ้นที่ใช้เวลาหลายเดือนยังถูกบันทึกภาพเป็นวิดีโอให้ผู้ชมได้เข้าไปสังเกตุการณ์และเห็นงานสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินร่วมสมัยกับช่างทอพรมท้องถิ่นอินเดียและเนปาลตามแบบโบราณ และนอกจากการมองเรื่องราวความคิดเหตุการณ์สถานการณ์การเมืองที่กระทบต่อชีวิตคนแล้ว การสัมผัสพื้นผิวของพรมยังนำผู้ชมไปสู่รายละเอียดของภาพต่างๆ และสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดที่แปะไว้ข้างผนังเพื่อเข้าไปดูเบื้องหลังการสร้างสรรค์งานได้ด้วย
11 Checkpoint No#2: Ferocity
ประเภท : ศิลปะจัดวาง
ศิลปิน : Satu ≠ Padu
พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
Satu ≠ Padu Collaborative (ซาตู ≠ปาดู คอลลาบอเลทีฟ) เชิญชวนผู้ชมตามรอยประวัติศาสตร์เชื่อมชีวิตความทรงจำอดีตและปัจจุบันวิถีมุสลิมจากสามจังหวัดถึงย่านแขกตานีเก่าแก่ใจกลางกรุงเทพฯสร้างสรรค์โดยศิลปินกลุ่ม Satu ≠Padu Collaborative ซึ่งก่อตั้งโดย ปรัชญ์ พิมานแมน ร่วมกับ ร้าย.ดี คอลเล็คทีฟ และฮาลาล ไลฟ์ และกลุ่มแม่บ้านสามจังหวัด ได้แก่ กลุ่มสตรีแม่บ้านริมคลอง 29 จะบังติกอ กลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านบันนังลูวา (ยะลา)และกลุ่มสตรีแม่ครัวตัดเย็บผ้า จังหวัดนราธิวาส)
งานศิลปะจัดวางชุดนี้ประกอบด้วยศิลปะหลายสื่อจำนวนห้าชิ้นงาน เชื้อเชิญผู้ชมมาอยู่ภายในวงล้อม “ผ้าทอผืนใหญ่” และ “บังเกอร์ที่มีเรื่องราว” เล่าผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีและวิดีโอเล่าเรื่องราวจากกล้องCCTV ที่คอยจับจ้องผู้คนปลายด้ามขวาน
12 Leave Here Your Fears
ประเภท : ประติมากรรม
ศิลปิน : Alicia Framis
พิกัด : วัดประยุรวงศาวาส
Leave Here Your Fears เป็นงานประติมากรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมมาทิ้งความทุกข์ทั้งหมดลงไป เช่นเดียวกับการมาวัดที่ส่วนหนึ่งก็มาเพื่อจะทิ้งความทุกข์ โดยชิ้นงานตั้งอยู่ในความร่มรื่นของสวนรอบเขามอ เป็นงานเชิงแทรกแซงพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่พัฒนาจากรากฐานความเชื่อที่ประชาชนมีต่อพระอาราม
วิธีการชมงานประติมากรรมรูปพีระมิดสะท้อนเงาร่มไม้สร้างจากสเตนเลสสตีลนี้ คือการเขียนอธิบายความทุกข์ สิ่งที่หวาดกลัวลงในกระดาษแล้วใส่เข้าไปในตัวงาน พัฒนาแนวคิดมาจากรากฐานความคิดที่ว่าวัดเป็นสถานที่สำหรับคลายความหวาดกลัวและความทุกข์
13 Pangki
ประเภท :Video สื่อผสม
ศิลปิน : Alicia Framis
พิกัด : วัดประยุรวงศาวาส
วัดประยุรวงศาวาสเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่มีความหลากหลายทางความเชื่อและศรัทธา ทั้งพุทธ คริสต์ จีน อิสลาม ล้วนโอบล้อมวัดแห่งนี้อยู่นานนับร้อยปี งานจัดวางของศิลปินที่ตั้งอยู่ด้านบนศาลาการเปรียญจึงเป็นงานที่ล้อกับความหลากหลายในชุมชนได้อย่างน่าสนใจ เช่น เสื่อ “คาราโอเกะ” ที่แขวนอยู่ภายในศาลาการเปรียญผสมผสานเนื้อร้องของเพลงยอดนิยมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
ส่วนผู้ชมซึ่งนั่งอยู่บนเสื่อสีขาวผืนยาวไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือคริสต์ก็ล้วนกำลังเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมจากกลุ่มนักเต้นชายจากคณะ “ตากัปส์ดานส์เธียเตอร์” ในเมืองโกตากีนาบาลู เป็นการเต้นรำของนักรบในรูปแบบร่วมสมัย เรื่องเล่าจากมุมมองของบุรุษในงานวีดิทัศน์ที่นำเสนอควบคู่ไปกับเรื่องเล่าของเสื่อทอที่มีสตรีเป็นศูนย์กลางกล่าวถึง “ความกระวนกระวายในการพยายามหาที่ทาง ผนวกความรู้เก่าเข้ากับความรู้ใหม่และการมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันของเรา”
14 TADIKA
ประเภท : งานจัดวางสื่อผสม
ศิลปิน : วันมุฮัยมีน อีเตลา
พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผลงานศิลปะ TADIKA เริ่มต้นขึ้นจากโครงการพัฒนาชุมชนที่ศิลปินคือ วันมุฮัยมีนร่วมก่อตั้ง เขาได้เข้าไปร่วมปรับปรุงคุณภาพห้องเรียนสำหรับโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาชั้นประถมฯ ในวันหยุด) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่เก่าและผุพังไม่ได้รับงบประมาณซ่อมแซมหรือจัดซื้อใหม่มาเป็นเวลานาน โดยโครงการนี้เป็นการนำกระดานดำโต๊ะและเก้าอี้ และสื่อการสอนที่มีสภาพใหม่ไปเปลี่ยนให้กับโรงเรียนตาดีกาเหล่านี้ให้บรรยากาศการเรียนการสอนกลับมาอยู่ในสภาพปรกติอีกครั้ง
และหลังจากนั้นวันมุฮัยมีนก็ได้นำข้าวของเครื่องใช้เก่าที่แลกเปลี่ยนกันมานำเสนอในห้องแสดงนิทรรศการเพื่อบอกเล่าถึงสภาพการเรียนการสอนศาสนาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้นอกจากนี้ทางศิลปินยังเพิ่มผลงานสื่อผสมเพื่ออธิบายบรรยากาศในพื้นที่บ้านเกิดของเขา ทั้งเรื่องการจำกัดอิสรภาพในการเรียนรู้ศาสนาภาพดิจิทัลคอลลาจที่นำตัวบทกฎหมายเฉพาะกาลเกี่ยวกับโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มาวางทับบนเนื้อหาในหนังสือเรียนสอนศาสนาเพื่อบอกถึงการตรวจสอบและควบคุมเสรีภาพการสอนศาสนาอย่างเข้มงวดโดยรัฐ
งานที่น่าสนใจคือ VDO ที่วันมุฮัยมีนถ่ายทำในสถานที่จริงขณะเด็กนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติก่อนเข้าชั้นเรียนสอนศาสนา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการเรียนศาสนาและการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมภายในชุมชนยังถูกแทรกแซงด้วยกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมจากรัฐส่วนกลาง
15 Aleaf
ประเภท : ประติมากรรมไฟเบอร์กลาส
ศิลปิน : นวิน หนูทอง
พิกัด : วัดอรุณราชวราราม
งานหนึ่งเดียวที่จัดแสดงอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม เป็นงานที่นำอีกามาแปลงเป็นคาแรกเตอร์ พร้อมนำสำนวน “ตาบอดคลำช้าง” มาเล่าถึงพฤติกรรมของอีกาที่มันมักจะถ่ายทอดความเชื่อที่ได้รับการบอกเล่าจากอีกาแต่ละตัวจากรุ่นสู่รุ่นคล้ายกับ DNA แต่จะมีอีกาตัวไหนล่ะที่กล้าตัดด้ายแดงที่พันธนาการไว้แล้วออกไปโบยบิน
16 When the fish is chirping
ประเภท : ศิลปะจัดวาง
ศิลปิน : อริญชย์ รุ่งแจ้ง
พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อริญชย์ รุ่งแจ้ง สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวาง ประกอบด้วยประติมากรรมรูปแถบโมเบียส (Möbius strip) และวิดีโอชุด When the fish is chirping (เมื่อปลากำลังส่งเสียงจิ๊บๆ) ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดเรื่องของอาณาเขต การสร้างระเบียบ เพื่อจัดการกับความโกลาหลที่เกิดจากกลไกธรรมชาติ มนุษย์จัดการความโกลาหลนั้นด้วยการสร้างรูปแบบโครงสร้างความเชื่อ และระเบียบวัตถุที่สร้างเป็นสังคม ด้วยการใช้เครื่องมืออย่างปัญญาประดิษฐ์ จักรกลอุตสาหกรรม อาวุธยุทโธปกรณ์
17 The Eye of the Storm
ประเภท: ศิลปะจัดวางจากเชือกและกระดาษ
ศิลปิน : Chiharu Shiota
พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
งานศิลปะที่ใช้เพียงกระดาษสีขาวหลายพันแผ่นเชื่อมต่อกันด้วยเชือกสีแดงแต่กลับทำให้ความรู้สึกหมุนวนเหมือนพายุไต้ฝุ่นกำลังก่อตัว กระดาษที่อยู่รอบๆ ปลิวขึ้นลอยคว้างเหมือนถูกลมพัดแต่จุดศูนย์กลางยังคงสงบนิ่ง โดยศิลปินได้ตั้งคำถามถึงความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างความสงบนิ่งใจกลางพายุไต้ฝุ่นกับการเคลื่อนไหวของเส้นรอบวงของพายุ ยิ่งเวลาที่เข้าไปสู่ศูนย์กลางของพายุไต้ฝุ่นลมก็จะยิ่งสงบ ฝนตกเล็กน้อยหรือไม่ตกเลยและบางครั้งก็จะเห็นท้องฟ้าสีน้ำเงินแต่ลมจะแรงที่สุดในเขตพายุโซนร้อนที่อยู่รอบนอกศูนย์กลางยิ่งห่างจากศูนย์กลางเท่าไรลมก็ยิ่งแรงขึ้นและสร้างความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากจะตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอันแปลกประหลาดนี้ ศิลปินก็เชื่อมคำถามสู่สังคมมนุษย์และจิตใจของมนุษย์ ว่าจะเป็นเหมือนใจกลางพายุหรือไม่
18 Mortalverse
ประเภท: AR, ประติมากรรม
ศิลปิน : เถกิง พัฒโนภาษ
พิกัด : วัดประยุรวงศาวาส
เถกิง พัฒโนภาษ มีชิ้นงานอีกชิ้นซ่อนอยู่เงียบๆ รอบเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส ในส่วนของที่เก็บอัฐิ โดยจุดนี้เขาได้เล่าเรื่องราวของเขาและคู่รักรวมทั้งการตั้งคำถามถึงชีวิต ชิ้นงานเป็นการผสมผสานระหว่างงาน AR งานประติมากรรม และงานออกแบบเสียง ศิลปินจะตั้งชิ้นงานไว้ห้าชิ้นผู้ชมต้องดาวโหลดฟิลเตอร์และยิงไปที่ชิ้นงานแต่ละชิ้น เช่นยิงไปที่ป้ายที่เก็บกระดูกซึ่งสลักชื่อศิลปินและคู่รักเอาไว้
19 Eternity
ประเภท : ประติมากรรมจัดวาง
ศิลปิน : Xu Zhen
พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Eternity เป็นชุดงานประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยรูปปั้นเลียนแบบงานสมัยคลาสสิกที่ถูกจัดให้เป็นอารยธรรมชิ้นเยี่ยมของตะวันตกและเอเชีย รูปปั้นเลียนแบบซึ่งทำจากแร่ผสมเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ประกอบกับรูปปั้นเทพเจ้าของเอเชียซึ่งมาจากวัดวาอารามทั่วประเทศจีน ส่วนศีรษะของรูปปั้นตะวันตกที่หายไปแทนที่ด้วยรูปปั้นที่วางกลับหัวต่อกันสำหรับชิ้นงานมี 2 ชิ้นจัดแสดงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
20 Disasters of War IV
ประเภท : ประติมากรรม
ศิลปิน : Jake/Dinos Chapman
พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เจกและดิโนส แชปแมนเป็นศิลปินคู่ที่ทำงานประติมากรรม ภาพพิมพ์และศิลปะจัดวางด้วยกันมานานกว่า 30 ปี หลังจบการศึกษาจากรอยัลคอลเลจออฟอาร์ตที่ลอนดอนเมื่อปี2534 หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของสองพี่น้องในช่วงแรกก็คือ Disasters of War และในครั้งนี้ทั้งสองได้นำเสนองานรุ่นที่ 4 ชื่อว่า Disaster of War IV นำตัวละครจากตำนานฟาสต์ฟู้ดของแม็คโดนัลด์อย่างโรนัลด์มาเล่าความเป็นไปของสังคมในมุมเสียดสี ใส่ความตลกแบบร้ายๆ
Fact File
- Bangkok Art Biennale 2022 จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 รายละเอียด www.bkkartbiennale.com
- สำหรับพื้นที่แสดงงานศิลปะกระจายใน 12 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาส, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ , มิวเซียมสยาม, เซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์ , เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก และ JWD Art Space รวมทั้งในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue