จากขรัวอินโข่งจนถึง Molly และ Alex Face เปิดคลังสะสมศิลปะไทยสมัยใหม่กว่า 500 ชิ้นโดย พิริยะ วัชจิตพันธ์
- พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทยและบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center เปิดคลังสะสมงานศิลปะส่วนตัวกว่า 500 ชิ้น เน้นตามไทม์ไลน์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทย
- อาคารที่พักอาศัยได้รับการตกแต่งดั่งแกลเลอรีร่วมสมัยโดยมีผลงานตั้งแต่ยุคขรัวอินโข่งในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงงานของศิลปินรุ่นใหม่มาแรง อย่าง Alex Face, Suntur และ Molly
- พิริยะตั้งเป้าจะนำคอลเล็กชันสะสมมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวและเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย
“งานที่ดีมักไม่ถูกวางขาย เราต้องค้นหาและเมื่อเจอก็ต้องเทียวไล้เทียวขื่อเหมือนกับเราไปจีบลูกสาวเขา บางชิ้นกว่าจะได้มาก็ใช้เวลาหลายปีเช่นภาพเขียนของอาจารย์มีเซียม ยิบอินซอย” พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ที่มุ่งมั่นสะสมงานศิลปะและจดหมายเหตุ (archive) ให้ครบถ้วนตามไทม์ไลน์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทยกล่าวถึงการเสาะหางานศิลปะของเขา
จากผู้ที่จบสายงานบริหารธุรกิจและไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะเลย แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พิริยะได้สนใจศึกษาเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่อย่างจริงจังจนกลายเป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวยงและมีงานหายากในครอบครองกว่า 500 ชิ้น อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย และบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center รวมไปถึง บริษัท พิกเซลเพ้นท์ ที่นำงานศิลปะไทยเข้าสู่ตลาด NFT นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความเรื่องศิลปะและมีโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์จากคอลเล็กชันสะสมส่วนตัวอีกด้วย
“งานที่ดีและหายากของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี คืองานยุคเขียนสีที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผมก็ไปเจอว่ามีบริษัทประมูลที่นั่นเอางานอาจารย์ถวัลย์มาประมูลก็เลยไปที่เนเธอร์แลนด์และตามหาเจ้าของงานจนเจอ ผมไปหาเขาที่บ้านและจีบจนได้งานบางชิ้นมา จากนั้นผมก็ถามว่ามีใครที่นั่นมีงานอาจารย์ถวัลย์อีกบ้าง เขาก็ให้คอนแท็กมาจึงทำให้ผมได้งานของอาจารย์เพิ่ม หรืองานของ กาลิเลโอ คีนี (Galileo Chini: ศิลปินชาวอิตาลีผู้เขียนภาพบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม) ผมก็ไปถึงบ้านเขาที่อิตาลีเลยและได้ภาพเขียน งานสเกตช์ งานประดับตกแต่งอย่างประตูหน้าต่างสเตนกลาส และแม้แต่ถ้วยชาม เหมือนตามล่าหาสมบัติ”
นักธุรกิจหนุ่มวัย 34 ปี ผู้ที่มีธุรกิจในมืออีกมากมายเช่นบริหารบริษัทเจ้าพระยาทัวริสโบ๊ทซึ่งเป็นกิจการเรือท่องเที่ยวล่องแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของร้านอาหารชื่อดัง Chef Man ย่านราชดำริ ได้เปิดอาคารพักอาศัยเจ็ดชั้นย่านห้วยขวางที่ตกแต่งด้วยผลงานศิลปะล้ำค่ามากมายให้ทาง Sarakadee Lite ได้เข้าชม เช่น ผลงานสีฝุ่นบนแผ่นไม้ของ ขรัวอินโข่ง ศิลปินไทยชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพสีน้ำมันรูปนู้ดของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ปี 2497 ภาพเขียนสีรูปไก่ของ ถวัลย์ ดัชนี ปี 2511 ภาพเขียนกึ่งนามธรรมขนาดความยาวเกือบ 9 เมตรของ ประเทือง เอมเจริญ ปี 2520 และภาพเขียนรูปดอกไม้ขนาด 4 เมตรของ ทวี นันทขว้าง ซึ่งคาดว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนท่านเสียชีวิตในปี 2534
เริ่มจากหาภาพประดับคอนโดมิเนียมสู่การศึกษาและสะสมศิลปะจริงจัง
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ พิริยะ ได้เข้ามาสู่วงการศิลปะเริ่มขึ้นเมื่อเขาซื้อคอนโดมิเนียมในปี 2556 และต้องการภาพศิลปะมาตกแต่งกำแพงที่ว่างโดยเขายอมรับว่าในตอนนั้นรู้จักงานศิลปินไทยแค่สองคนคือ ถวัลย์ ดัชนี และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เมื่อตัดสินใจว่าอยากได้งานของถวัลย์ซึ่งน่าจะเหมาะกับคอนโดฯ ของเขาแต่ปัญหาคือจะซื้อที่ไหน ราคากี่บาท และจะรู้ได้อย่างไรว่าจริงหรือปลอม
“วันหนึ่งมีรุ่นพี่คนหนึ่งเขาเป็นนักสะสมและชวนเราไปที่บ้าน เราเห็นภาพรูปช้างจากฝีแปรงของอาจารย์ถวัลย์และชอบก็เลยขอซื้อ เขาบอกให้ราคาเท่าทุนคือ 5 แสน ตอนนั้นก็ยังลังเลเขาจึงบอกให้ยืมไปลองแขวนที่คอนโดฯ ก่อนก็ได้ และเมื่อเราเอามาก็เหมือนเราโดนดูดเข้าไปในผลงานเลยตัดสินใจซื้อ แต่ยอมรับว่าเครียดและลังเลมากกว่าจะโอนเงินได้ จากนั้นมีรุ่นพี่อีกคนมาที่คอนโดฯ และเห็นภาพเขาขอซื้อต่อเลยในราคา 1 ล้านบาท เราก็เริ่มคิดว่างานศิลปะนั้นดีทั้งในแง่คุณค่าเพราะแค่เราชื่นชมและชื่นชอบก็ถือว่าเป็นกำไรและยังมีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย จากนั้นจึงเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างจริงจัง”
เริ่มแรกที่สะสมพิริยะกล่าวว่าเขาซื้องานแบบเบี้ยหัวแตก คือชอบอะไรก็ซื้อ จนมาคิดว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปเขาก็จะเก็บงานแบบไร้ทิศทางและซื้อแบบไม่มีจุดจบ หลังจากนั้นเขาจึงตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บงานให้ครบสมบูรณ์ตามไทม์ไลน์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทยตั้งแต่ยุคขรัวอินโข่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ริเริ่มใช้เทคนิควาดภาพแบบทัศนียวิทยา (perspective) แบบตะวันตกไปจนถึงงานของศิลปินยุคใหม่อย่าง Alex Face, Suntur และ Molly รวมทั้งยังวางแผนจะนำคอลเล็กชันสะสมมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวต่อไป
“ศิลปะสมัยใหม่ของไทยเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 ผมก็เริ่มหางานของขรัวอินโข่ง จากนั้นก็ไล่ยุคเรื่อยมา เช่น ยุคอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์อย่าง อาจารย์เฟื้อ อาจารย์ทวี ยุคศิลปินที่ศึกษาด้วยตนเองอย่างอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ และจ่าง แซ่ตั้ง ยุคงาน conceptual และงาน installation เช่นงานอาจารย์มณเฑียร บุญมา และยุคงานศิลปินรุ่นใหม่จนถึงอาร์ตทอย (art toy) เราพยายามต่อจิ๊กซอว์ให้ครบ งานบางชิ้นหายากและราคาสูงนับ 10 ล้านบาท”
ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่เขาตั้งใจทำนั้นอยู่ในระหว่างการหาพื้นที่ที่เหมาะสมโดยเขาอยากได้พื้นที่ใกล้กับแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น บริเวณใกล้กับวัดพระแก้ว
“เวลาไปเมืองนอกและเข้าชมพิพิธภัณฑ์เราจะเห็นประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการศิลปะของประเทศนั้นๆ พิพิธภัณฑ์ในบ้านเรายังไม่ครบเครื่องขนาดนั้น ผมจึงอยากทำสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย”
แกลเลอรีส่วนตัวในอาคารที่พักอาศัยสูง 7ชั้น
ถึงแม้พิพิธภัณฑ์ยังไม่ก่อร่าง แต่อาคารที่พักอาศัยของพิริยะผู้เขียนคอลัมน์ศิลปะในนามปากกา “ตัวแน่น” ให้เว็บไซต์ “อ่านเอา” ถือได้ว่าเป็นแกลเลอรีส่วนตัวที่เต็มไปด้วยงานศิลปะมากมาย เริ่มตั้งแต่ชั้น 6 บริเวณที่เขาให้สัมภาษณ์นั้นรายล้อมไปด้วยงานจิตรกรรมและประติมากรรมหายากหลายชิ้นโดยศิลปินชั้นครู เช่น ภาพแกะสลักไม้ลงสีทอง และตู้พระธรรมทรงสามเหลี่ยมถมดำและระบายสีทองของ ถวัลย์ ดัชนี ภาพสีน้ำมันรูปภูเขาทองบนกระดานไม้ของ ทวี นันทขว้าง ภาพวาดของ ชลูด นิ่มเสมอ กลุ่มประติมากรรมรูปนู้ดของ สมโภชน์ อุปอินทร์, ชิต เหรียญประชา และ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ และประติมากรรมสำริดชื่อ “เริงระบำ” ขนาดสูงเกือบ 1 เมตรของ เขียน ยิ้มศิริ
“ประติมากรรมเริงระบำมี 2 เวอร์ชัน อันแรกเป็นไซซ์ขนาดประมาณ 3 ฟุตที่อาจารย์เขียนส่งประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อปี 2496 และได้รางวัลเหรียญเงิน และอีกเวอร์ชันในรูปแบบเดียวกันแต่ขนาดใหญ่เกือบเท่าคนที่ตามประวัติกล่าวว่าท่านทำให้กับโรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งภายหลังปิดตัวไปและไม่ทราบว่างานชิ้นนี้อยู่ที่ไหน จนวันหนึ่งมีเพื่อนชวนไปบ้านญาติที่เขาจะขายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านเพราะบ้านจะถูกรื้อเพื่อสร้างเป็นคอนโดฯ ผมตกตะลึงมากเมื่อเห็นประติมากรรมชิ้นนี้ซึ่งที่ฐานมีลายเซ็นของอาจารย์เขียนตั้งอยู่ริมสระว่ายน้ำ เป็นวาสนาของผมที่ในที่สุดได้งานชิ้นนี้มา”
บริเวณชั้น 3 ประดับด้วยผลงานชุดประตูเหล็กในช่วงราวปี 2520 ของ อิทธิพล ตั้งโฉลก ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินที่บุกเบิกงานแนวนามธรรมในประเทศไทยและที่โดดเด่นสะดุดตาคือภาพวาดกึ่งนามธรรมขนาดยาวเกือบ 9 เมตรของ ประเทือง เอมเจริญ ถัดมาเป็นประติมากรรมสีขาวของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ และประตูไม้แกะสลักสองบานที่ถวัลย์ ดัชนี ทำไว้สำหรับใช้เป็นประตูหน้าของวิหารที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำของเขาในจังหวัดเชียงราย
“เพื่อนของอาจารย์ประเทืองให้วาดภาพเพื่อนำมาประดับที่ดิสโกเทค แต่เมื่อเห็นภาพแล้วเขาว่าไม่เหมาะกับสถานที่จึงเก็บไว้และผมไปขอซื้อต่อมา นับว่าประจวบเหมาะพอดีกับการติดตั้งบริเวณนี้”
บริเวณชั้น 2 เป็นห้องที่พิริยะนำผลงานบางส่วนมาจัดแสดงให้เห็นไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทยแบบย่อม เริ่มตั้งแต่ภาพเขียนของขรัวอินโข่งซึ่งคนส่วนใหญ่จะเห็นอยู่เพียงจิตรกรรมฝาผนังของวัดสำคัญ ภาพเหมือนของพระบรมวงศานุวงศ์ที่วาดโดยศิลปินชาวอิตาลีในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการว่าจ้างช่างเขียนและสถาปนิกต่างชาติเข้ามารับราชการในสยาม รวมไปถึงประติมากรรมรูปช้างของ วิตโตรีโอ โนวี (Vittorio Novi) ประติมากรชาวอิตาลีผู้ปั้นลวดลายประดับในพระที่นั่งอนันตสมาคมและประติมากรรมนูนต่ำบนสะพานมหาดไทยอุทิศ รูปปั้นของรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งปั้นจากแบบจริงโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และภาพสเกตช์การออกแบบลวดลายต่างๆ ของอาจารย์ศิลป์ที่ปรากฏในหนังสือ ทริสดีแห่งองค์ประกอบ และ พิริยะได้ภาพเหล่านี้มาจากรถซาเล้งรับซื้อของเก่า
อีกหนึ่งภาพหายากคือภาพวาดรูปน้ำตกโดย เหม เวชกร และต้นฉบับภาพประกอบจำนวนกว่า 1,000 รูปที่เขียนด้วยปากกาดำสำหรับหนังสือ ราชาธิราช รวมไปถึงภาพเขียนสีน้ำมันของ เฟื้อ หริพิทักษ์ และ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ผู้ได้ฉายาว่า “แวนโก๊ะเมืองไทย” ภาพเหมือน “วิสุตา หัสบำเรอ” โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่วาดขณะเป็นนักศึกษาปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 16 เมื่อปี 2508 และภาพเขียนขนาด 4 เมตรของ ทวี นันทขว้าง ซึ่งคาดว่าเป็นรูปสุดท้ายที่ท่านวาดก่อนเสียชีวิตและยังไม่ได้เซ็นชื่อ
โซนถัดมาเป็นงานแนวคอนเซปชวลและนามธรรม เช่น ผลงานของ จ่าง แซ่ตั้ง ที่ใช้ร่างกายตัวเองละเลงสีแทนพู่กัน ภาพนามธรรมของ ชลูด นิ่มเสมอ ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานของแจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ภาพสื่อผสมโดย มณเฑียร บุญมา ที่วาดด้วยสีสนิมและครามเมื่อครั้งจัดแสดงนิทรรศการสีน้ำในนามกลุ่มไวท์ ภาพนรกภูมิ Inferno ของ วสันต์ สิทธิเขตต์ ภาพธงชาติโดย นที อุตฤทธิ์ ภาพวาดของศิลปินรุ่นใหม่ Line Censor และอีกมากมาย
นักสะสมและการลงทุนในศิลปะ
ในการสะสมงานศิลปะ พิริยะให้ความเห็นว่าต้องศึกษาดูงานให้มากเพื่อหาความชอบของตัวเอง และไม่จำเป็นว่าต้องมีเงินเยอะถึงจะเป็นนักสะสมได้
“ถ้าชอบงานศิลปะต้องดูเยอะๆ ถามตัวเองว่าชอบอะไร อะไรถูกจริตเราและศึกษาว่างานแบบนี้มีใครทำบ้าง เก็บงานอย่างมีคอนเซปต์ไม่ใช่สะเปะสะปะ คนคิดว่าต้องมีเงินถึงจะเก็บงานได้แต่หลายคนไม่ต้องมีเงินเยอะก็ทำได้ อยากให้ลองศึกษาประวัติของ Herbert และ Dorothy Vogel ซึ่งเป็นพนักงานไปรษณีย์ในนิวยอร์กและอาศัยในห้องเช่าเล็กๆ พวกเขาซื้องานศิลปะขนาดเล็กเพราะที่พักแคบและต้องเดินทางด้วยซับเวย์และหลายชิ้นต้องผ่อนกับศิลปิน แต่ต่อมาคอลเล็กชันของพวกเขาที่เก็บมาทั้งชีวิตได้กลายเป็นงานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะของอเมริกา”
เขากล่าวว่านักสะสมรุ่นใหม่มองว่าศิลปะเป็น alternative investment หรือ การลงทุนทางเลือก และมีรสนิยมที่ชอบงานแบบคาแรกเตอร์สวยๆ
“งานแบบคอนเซปชวลจัดๆอาจยังไม่ตรงใจคนรุ่นใหม่ตอนนี้ เหมือนเราอาจเริ่มจากกินรสชาติจืดก่อนแล้วค่อยขยับไปเผ็ดซึ่งต้องใช้เวลาและคาดหวังว่าเขาจะเข้าใจศึกษาและชื่นชอบงานของ old masters ด้วย ศิลปะเป็น alternative investment ซึ่งต่างจากนาฬิกา รถ หรือกระเป๋าแบรนด์เนมซึ่งมีราคากลาง แต่งานศิลปะเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ ซึ่งบางครั้งไม่อาจคาดเดาราคาได้”
ส่วนกระแสตลาด NFT นั้น พิริยะมองว่าปี 2565 เริ่มซาลงหลังจากบูมมากในปี 2564 แต่ข้อดีคืองานดิจิทัลของศิลปินที่ได้รับการยอมรับในตลาด NFT ทำให้งานแบบ physical ของศิลปินคนนั้นมีมูลค่าเพิ่มตามไปด้วย
“NFT และ blockchain เป็นวิวัฒนาการของโลกดิจิทัลเท่านั้นเอง ศิลปินไทยรุ่นใหม่อย่าง Line Censor เป็นคนแรกๆ ที่นำงานเข้า NFT และเมื่องานประมูลปีที่แล้ว (2564) ไฟล์งานของเขาขายได้ถึงหลักล้านและทำให้งาน physical ของเขาขยับตามจากหลักแสนเป็นหลักล้านด้วย หรืองานของ Suntur ก้องกาน และ Molly ก็ขึ้นไปถึงหลักล้าน เป็นก้าวกระโดดที่หวือหวาเพราะผมไม่คาดหวังว่าราคาจะสูงขนาดนี้ ในขณะที่การเก็บงาน old masters เหมือนหุ้น ปตท. ไม่หวือหวาแบบนี้แต่ก็ไม่ตก ถือเก็บไว้ได้แบบชิลล์”
พิริยะให้ความเห็นว่าคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนและมีเอกลักษณ์ของศิลปินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยต่อความชื่นชอบและสะสมงาน
“คนรุ่นใหม่ซื้องานเพราะตัวศิลปินและไลฟ์สไตล์ด้วยนะ เช่น Suntur และ ก้องกาน ศิลปินเป็นทั้งแบรนด์และดีไซเนอร์ของงานและการที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับแบรนด์ใหญ่ๆ เช่น Gucci หรือ Louis Vuitton ทำให้เพิ่มคุณค่าและมูลค่า คิดว่าเป็นศิลปินแล้วจะทำตัวกระเซอะกระเซิงไม่ได้นะ”
ตั้งเป้าจัดประมูลงานศิลปะของศิลปินไทยอย่างต่อเนื่อง
บริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center ที่พิริยะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งได้จัดการประมูลงานศิลปะมาแล้ว 5 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2564 และครั้งที่ 6 จะจัดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
“ตอนเริ่มเก็บงานศิลปะ ปัญหาที่เจอคือเราจะซื้องานจากไหน ราคาเท่าไร แต่ถ้ามีบริษัทประมูลที่จัดงานต่อเนื่องก็จะช่วยให้เรามีข้อมูลในเรื่องราคาย้อนหลังได้ นอกจากนี้งานที่ผ่านบริษัทประมูลช่วยให้เรามั่นใจว่างานเป็นของแท้เพราะเขาไม่เอาชื่อเสียงมาเสี่ยงแน่และงานที่นำมาประมูลย่อมคัดมาแล้วระดับหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาในไทยเราไม่มีบริษัทที่จัดอย่างต่อเนื่องเพราะค่าใช้จ่ายสูง ต้องมี know how ต้องมีบุคลากรที่ชำนาญ และอีกหลายๆปัจจัย ผมจึงอยากจัดงานประมูลเพราะเรารู้จักทั้งคนซื้อและคนขาย และการประมูลเป็นอะไรที่แฟร์เพราะคุณสามารถใส่ราคาประมูลที่คุณแฮปปี้”
ความต้องการของพิริยะประจวบเหมาะกับที่ ยุทธชัย จรณะจิตต์ ผู้บริหารกลุ่มอิตัลไทยและศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกซึ่งมี RCB Auctions บริษัทประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแห่งแรกในประเทศไทยที่ยืนยงในวงการสะสมและแลกเปลี่ยนของเก่ามานานกว่า 35 ปีต้องการขยายตลาดการประมูลให้ครอบคลุมถึงศิลปะสมัยใหม่จึงเกิดความร่วมมือในการใช้จุดแข็งของสถานที่และบุคลากรของ RCB Auctions ที่มีประสบการณ์มายาวนาน
“งานของศิลปินประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ราคาเขาแตะไปที่หลักล้านแล้วในตลาดโลก แต่ของบ้านเรายังนิ่งเพราะไม่มีการประมูลอย่างต่อเนื่องซึ่งถ้าเราทำได้ก็จะเป็นเหมือนบันไดให้ไปต่อในตลาดการประมูลที่ฮ่องกงและขยับไปยังนิวยอร์ก เป็นสเตปที่ช่วยให้งานโกอินเตอร์ได้”
รอบพรีวิวของการประมูลครั้งที่ 6 ในธีม “ความสลับซับซ้อนของธรรมชาติ” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-12 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก โดยพิริยะเผยว่ามีผลงานไฮไลต์ อาทิ ภาพเขียนรูปดอกบัวของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่วาดในยุคเดียวกับภาพเหมือน สุวรรณี สุคนธา งานสเกตช์ของ มณเฑียร บุญมา สำหรับนิทรรศการที่ออสเตรเลียที่แตกต่างกับงานจัดแสดงจริง ภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ของ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ภาพกราฟฟิตีขนาด 4×4 เมตรของ Alex Face และภาพเขียนของศิลปินรุ่นใหม่มาแรง Karms
“กำไรของศิลปะคือการที่เราได้ชื่นชมทุกวัน นอกเหนือจากนั้นเป็นผลพลอยได้” พิริยะ วัชจิตพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย