สงคราม การเมือง ผู้ลี้ภัย ความตลกร้ายๆ ฉบับ Banksy
- THE ART OF BANKSY: WITHOUT LIMITS เน้นสื่อสารความคิดของ Banksy ที่ถูกมองว่าปลุกปั่น เสียดสี ประชดประชันได้อย่างแสบสันผ่านผลงานเด่นที่เคยสร้างความสั่นสะเทือนมาแล้วทั่วโลก
- THE ART OF BANKSY: WITHOUT LIMITS ที่จัดแสดงในไทยเป็นนิทรรศการที่ไม่ได้จัดโดยศิลปิน Banksy โดยตรง แต่เป็นการจัดแสดงโดยบริษัท EVENTS ซึ่งได้สร้างนิทรรศการ THE ART OF BANKSY หมุนเวียนไปจัดแสดงทั่วโลก
เป็นอีกนิทรรศการที่ถูกจับตามองตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดทำการแสดงสำหรับ THE ART OF BANKSY: WITHOUT LIMITS นิทรรศการฉบับเวิลด์ทัวร์ที่รวบรวมผลงานและแรงบันดาลใจจากศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตชื่อดังแห่งยุคนาม Banksy (แบงก์ซี) ผู้มีความคลุมเครือทั้งตัวตน การสร้างงาน ไปจนถึงเรื่องลิขสิทธิ์ที่ปลุกให้ทั้งผู้ชมและวงการศิลปะเกิดการถกเถียงกันอย่างไม่จบสิ้น ใครจะคิดว่าจะมีศิลปินที่บ้าบิ่นทำลายงานตัวเองภายในไม่กี่วินาทีทันทีที่เสียงค้อนประมูลเคาะราคาไปแตะราว 8000,000 ปอนด์ และก็ทำให้ภาพเด็กผู้หญิงถือลูกโป่งรูปหัวใจได้ชื่อใหม่ว่า Love is in the bin (2018)
ทั่วโลกรู้จักเขาแค่เพียงศิลปินนิรนามชาวอังกษผู้เริ่มทำงานกราฟิตี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ผ่านเทคนิคพ่นสีผ่านพิมพ์ หรือ Stencil จากการงานใต้ดินสู่งานงานบอมกำแพงสาธารณะไปจนถึงบอมผนังพิพิธภัณฑ์ระดับชาติแบบไม่บอกกล่าวกันล่วงหน้า ทว่าเรื่องราวที่สื่อสารออกมากลับสร้างแรงกระเพื่อมได้ในระดับโลก เพราะขึ้นชื่อว่าBanksy แน่นอนว่าเรื่องราวของสีสเปรย์ที่พ่นลงไปล้วนใส่ความเจ็บแสบ เสียดสี เป็นตลกร้ายที่มักจะพูดถึงการเมือง สงคราม ผู้ลี้ภัย ความเท่าเทียม ไปจนถึงการต่อต้านทุนนิยมแบบสุดขั้ว (โดยใช้วิธีแบบทุนนิยมนี่แหละ) แม้แต่ดินแดนแห่งความสุขดิสนีย์แลนด์เองก็ยังเคยถูกศิลปินนิรนามผู้นี้หยิบมาหยอกล้อด้วยการสร้างดินแดนใหม่ Dismaland (2015) สวนสนุกที่มีเนื้อหาความรุนแรง ไม่เหมาะกับเด็กเล็กและครอบครัว เป็นสวนสนุกที่มีมีแต่อาวุธ สงคราม และการนองเลือด
สำหรับ THE ART OF BANKSY: WITHOUT LIMITS ที่จัดแสดงในไทยเป็นนิทรรศการที่ไม่ได้จัดโดยศิลปินโดยตรง แต่เป็นการจัดแสดงโดยบริษัท EVENTS ซึ่งได้สร้างนิทรรศการชุดนี้หมุนเวียนไปจัดแสดงทั่วโลก มีทั้งงาน Original ต้นฉบับที่เป็นคอลเล็คชันสะสมของทางบริษัทผู้จัดงานเอง และงานทำซ้ำด้วยเทคนิคภาพพิมพ์สเตนซิล (Stencil) รวมทั้งการนำเสนอสารคดีวิดีโอที่จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของ Banksy
ล่าสุดตัวนิทรรศการชุดนี้ได้บินมาจัดแสดงในไทย เปิดประตูต้อนรับสู่ Dismaland อีกครั้งกับผลงานต้นฉบับและทำใหม่รวมทั้งหมด 150 ชิ้นงาน จัดแสดงบนเนื้อที่ 700 ตารางเมตรของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย MOCA BANGKOK มูลค่าการลงทุนในการจัดนิทรรศการสูงถึง 8 หลัก ซึ่ง คิด-คณชัย เบญจรงคกุล ผู้อำนวยการ MOCA BANGKOK กล่าวกับเราว่านี่เป็นงานนิทรรศการที่มีมูลค่าลงทุนสูงที่สุดเท่าที่ MOCA BANGKOK เคยจัดมา และเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากเวิลด์ทัวร์ที่เกาหลีใต้จบลง
“การจะตามไปดูผลงานของแบงก์ซีไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะงานเขากระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในหลายประเทศ หลายงานเป็นคอลเล็คชันสะสมส่วนตัว และหลายงานก็ถูกทำลายลงไปแล้ว สำหรับงานครั้งนี้มีทั้งานต้นฉบับ 30 ชิ้นจากคอลเล็คชันสะสมของทางบริษัท EVENTS เอง ซึ่งเขามีครอบครองอยู่ราว 100 ชิ้น แบ่งออกเป็น 3 ชุดสำหรับจัดแสดงงานหมุนเวียนไปทั่วโลก ซึ่ง 30 ชิ้นที่นำมาจัดแสดงในไทยได้รับการรับรองจาก Pest Control ซึ่งเป็นบริษัทผู้ตรวจสอบงานต้นฉบับของแบงก์ซีโดยเฉพาะ ส่วนงานที่เหลือก็เป็นงานที่ทำจำลองผลงานอันเป็นแนวคิดที่โดดเด่นของเขา”
ผู้อำนวยการ MOCA BANGKOK กล่าวถึงชิ้นงานที่นำมาจัดแสดงในไทย โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการขายบัตรเข้าชมจะนำไปมอบให้กับองค์กร M.V.Louise Michel ที่ ศิลปินนิรนามผู้นี้ให้การสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางทะเลบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเป็นหนึ่งในประเด็นทีอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
ด้านเนื้อหานิทรรศการเน้นสื่อสารความคิดของBanksy ที่ถูกมองว่าปลุกปั่น เสียดสี ประชดประชันได้อย่างแสบสันผ่านผลงานเด่นที่เคยสร้างความสั่นสะเทือนมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Flower Thrower (2002) ชายนักเคลื่อนไหวที่กำลังปาดอกไม้แทนที่จะเป็นระเบิด ภาพนี้ถูกพ่นลงบนกำแพงเขตเวสต์แบงก์ในเมืองเยรูซาเลมเป็นการแสดงความสันติที่อยากให้เกิดขึ้นท่ามกลางพื้นที่สงคราม ภาพ Kissing Koppers (2006) ภาพตำรจอังกฤษ 2 นายกำลังจูบกันอย่างดูดดื่มที่ของจริงถูกวาดลงบนผนังของผับ Price Albert ในเมืองไบรตันและถูกลบออกในภายหลัง ภาพนี้ย้อนแย้งเจ็บแสบกับกฏหมายของอังกฤษที่คนรักร่วมเพศยังเป็นเรื่องต้องห้ามในกองทัพ
นอกจากผลงานพ่นกำแพงแล้วนิทรรศการนี้ยังพาทัวไปยังโรงแรมหนึ่งเดียวที่เขาสร้าง Dismaland (2018) ตั้งอยู่ท่ามกลางวิวสงครามระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล โดยผู้เข้าพักในโรงแรมจะได้รับประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ที่สื่อสารเกี่ยวกับสงครามเป็นของที่ระลึก และแน่นอนว่าจะได้ชมในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
นอกจากสงคราม การเมืองแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังนำผลงานที่สร้างสรรค์ใหม่ในช่วงล็อคดาวน์โควิด-19 มาจัดแสดง ทั้งงาน Game Changer (2020) ที่ภาพต้นฉบับเขาได้มอบให้กับโรงพยาบาลในเซาแธมป์ตัน เป็นภาพเด็กผู้ชายทิ้งตัวการ์ตูนฮีโร่ตัวเก่าอย่างสไปเดอร์แมน แบทแมนของเขาลงในตระกร้า และหยิบฮีโร่ตัวใหม่ของเขามาเล่นซึ่งก็คือนางพยาบาล หรืออย่าง Bathroom (2020) ก็เป็นผลงานที่ถูกพูดถึงอย่างมาก โดย Banksy ได้โพสต์ผลงานรูปห้องน้ำที่เต็มไปด้วยหนูท่อที่เขาชอบวาดลง Instagram พร้อมแคปชันว่า “ภรรยาเกลียดที่ผมต้องทำงานจากบ้าน” ที่กล่าวว่าผลงานนี้ถูกพูดถึงอย่างมากก็เพราะเป็นครั้งแรกที่ Banksy เปิดเผยตัวตนของเขาแม้จะเป็นมุมหนึ่งในห้องน้ำที่บ้านก็ตาม
Fact File
- THE ART OF BANKSY: WITHOUT LIMITS จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม -31 ธันวาคม 2565 ที่ MOCA BANGKOK กรุงเทพฯ
- บัตรราคา 250 บาท และ 350 บาท จำหน่ายบัตรที่ ZipEvent : https://bit.ly/3f7EDgi