สกูตเตอร์เลาะเมืองนนท์ เยือนถิ่นประวัติศาสตร์มอญแบบคาร์บอนต่ำ ตามรอยจิตรกรรมสกุลช่างนนทบุรี
Lite

สกูตเตอร์เลาะเมืองนนท์ เยือนถิ่นประวัติศาสตร์มอญแบบคาร์บอนต่ำ ตามรอยจิตรกรรมสกุลช่างนนทบุรี

Focus
  • จิตรกรรมสกุลช่างนนทบุรี แตกแขนงมาจากยุครุ่งเรืองของช่างไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แตกต่างด้วยการใส่เรื่องเล่าท้องถิ่น วิถีชาติพันธุ์ฝั่งเมืองนนท์ รวมทั้ง ภาพกาก ที่ใส่ความทะลึ่งขบขันฉบับชาวบ้าน
  • พาซอกแซกนนทบุรีแบบคาร์บอนต่ำด้วยสกูตเตอร์ไฟฟ้า ผ่านชุมชน ตลาด ศาลเจ้า เลาะเรียบริมน้ำเจ้าพระยา

เมื่อนึกถึงแหล่งท่องเที่ยว จังหวัดนนทบุรี เกือบร้อยละร้อยจะต้องนึกถึงวันเดย์ทริปนั่งเรือข้ามเจ้าพระยาไปซื้อเครื่องปั้นดินเผา กินข้าวแช่ ทอดมันหน่อกะลา ขี่จักรยานใจกลางชุมชนมอญเกาะเกร็ด แต่มากกว่านั้นนนทบุรียังมีเส้นทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกหลายเส้นโดยเฉพาะเส้นทางตามรอยจิตรกรรม สกุลช่างนนทบุรี ซึ่งแตกแขนงมาจากยุครุ่งเรืองของช่างไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทว่าแตกต่างด้วยการใส่เรื่องเล่าท้องถิ่น วิถีชาติพันธุ์ฝั่งเมืองนนท์ รวมทั้ง ภาพกาก ที่ใส่ความทะลึ่งขบขันฉบับชาวบ้านซึ่งอาจไม่พบเจอในจิตรกรรมฝาผนังฉบับวังหลวง

สกูตเตอร์
สกูตเตอร์ไฟฟ้าพาซอกแซกไปในชุมชนที่รถยนต์เข้าถึงยาก
สกูตเตอร์

พิเศษยิ่งกว่าเพราะเส้นทางประวัติศาสตร์ทริปนี้เราจะพาซอกแซกนนทบุรีแบบคาร์บอนต่ำด้วย สกูตเตอร์ ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้า ลัดเลาะผ่านชุมชน ตลาด ศาลเจ้า เลาะเรียบริมน้ำเจ้าพระยา ด้วยความเร็วระดับ Beginner ราว20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางทั้งหมด17 กิโลเมตรเริ่มจากเช้าไปจนเย็นย่ำโดย สกูตเตอร์ เลาะเมืองนนท์เส้นทางนี้อาจจะเป็นมุมมองเมืองนนทบุรีที่เนิบช้ากว่าการนั่งรถไปสักนิด ทว่ากลับเปิดอีกมุมมองนนทบุรีที่ทำให้เราได้สัมผัสชุมชนจริง ๆ ชนิดฉิวเฉียดหลังคาบ้าน ส่วนสกูตเตอร์ไฟฟ้าจะผ่านที่ไหนบ้างนั้นสวมหมวกกันน็อกให้พร้อมแล้วออกสตาร์ตได้เลย

สกูตเตอร์

“วัดตำหนักใต้” ร่องรอยพระแก้วมรกตกับย่านบางธรณีที่ถูกลืม

ทริปนี้เราเริ่มสตาร์ต สกูตเตอร์ กันที่วัดตำหนักใต้ วัดปลายแผ่นดินอยุธยาที่ได้รับการซ่อมครั้งใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 3 ทั้งนี้ตามจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) กล่าวถึงความสำคัญของวัดตำหนักใต้ในฐานะวัดที่เป็นเส้นทางอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มายังวัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) ในช่วงสถาปนากรุงธนบุรี ซึ่งในจดหมายเหตุความทรงจำได้กล่าวถึงขบวนเรือของพระเจ้าตากที่จัดมารับพระแก้วมรกต ณ ย่านบางธรณีทั้งยังเอ่ยถึงชื่อคลองบางธรณี ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อนี้แล้ว

แม้วัดตำหนักใต้จะได้รับการบูรณะและมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ แต่ไฮไลต์ของสายประวัติศาสตร์ยังคงปรากฏอยู่ในอุโบสถหลังเก่า ภายในประดิษฐานพระประธานปางปาลิไลยก์สร้างสมัยอยุธยา ถือได้ว่าเป็นพระประธานปางที่หาชมได้ยากเพราะเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งห้อยขาไม่ค่อยนิยมสร้างเป็นองค์ประธานส่วนผนังทั้ง 4 ด้านในอุโบสถเลือนรางด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง สกุลช่างนนทบุรี แบ่งสัดส่วนของภาพและเรื่องที่จะเล่าด้วยการใช้ธรรมชาติอย่างแม่น้ำ คันดิน โขดหินเป็นเส้นแบ่งเรื่อง ซึ่งเป็นรูปแบบงานจิตรกรรมฝาผนังที่เริ่มได้รับความนิยมช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อีกทั้งการวาดใบไม้ก็เริ่มสมจริงด้วยการใช้กิ่งกระดังงามายีให้ปลายแตกแล้วจุ่มสีแต้มเป็นพุ่มไม้แตกต่างไปจากเทคนิคการเขียนในสมัยอยุธยา

หลวงพ่อพระบางธรณี

แม้จะเลือนรางแต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดนี้ชัดเจนว่าไม่ได้มีแต่ภาพพุทธประวัติ ทว่าใส่วิถีของชาวบ้านย่านบางธรณี การล่าสัตว์ การเดินเรือในแม่น้ำ ประมงท้องถิ่น ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งฝรั่ง แขก มอญ ไทยที่แต่งกายโพกผ้าสีสันต่างกัน และที่จะขาดไม่ได้คือ ภาพกาก ที่ทะลึ่งขบขันลดทอนความเคร่งเครียดของภาพพุทธประวัติลงได้มาก

อย่างที่กล่าวไปว่าวัดนี้เกี่ยวเนื่องกับเส้นทางการอัญเชิญพระแก้วมรกต ในอุโบสถหลังใหม่จึงมีพระแก้วมรกตองค์จำลองประดิษฐานอยู่ส่วนบริเวณท้ายวัดติดริมน้ำเจ้าพระยาเป็นหอระฆังประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระของวัดบางธรณีเดิมที่หลงเหลืออยู่จึงเรียก “หลวงพ่อพระบางธรณี” เป็นที่ระลึกถึงวัดบางธรณีที่ถูกลืม

“วัดชมภูเวก” พระแม่ธรณีสวยสุดในไทยและภาพกระซิบรักสนั่นคุ้งเจ้าพระยา

สังเกตไหมว่าจิตรกรรมฝาผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานในอุโบสถมักมีการวาดรูป พระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นฉากสำคัญในพุทธประวัติตอนมารผจญ และหนึ่งในภาพวาดพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยติดอันดับต้น ๆ ของประเทศนั้นอยู่ที่ผนังสกัดในอุโบสถสถาปัตยกรรมอยุธยาที่วัดชมภูเวกเป็นผลงานเด่นของ สกุลช่างนนทบุรี ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลายระยะแรก ภาพนี้ใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอรา (Tempera)และที่ว่าสวยก็ด้วยจังหวะฝีแปรงที่เขียนท่าทางการบิดมวยผมพร้อมกับบิดองค์เอวได้อย่างอ่อนช้อยราวกับกำลังร่ายรำ ไม่นับรวมงานปูนปั้นพันธุ์พฤกษาบริเวณหน้าบันประดับเครื่องถ้วยที่สวยมากเช่นกัน

พระธาตุสีขาวที่สร้างตามแบบพระธาตุมุเตา

แม้วัดชมภูเวกจะเป็นวัดสมัยอยุธยาแต่ก็ชัดเจนว่ามีการผสมผสานความเชื่อด้านพระพุทธศาสนาของชุมชนมอญโดยด้านหน้าอุโบสถหลังเก่าประดิษฐานพระธาตุสีขาวที่สร้างตามแบบพระธาตุมุเตาแห่งเมืองพะโค หรือเมืองมอญหงสาวดี ประเทศเมียนมา ทว่าเป็นการจำลองสัดส่วนให้มีขนาดเล็กลงหลายเท่าปลียอดด้านบนสุดเจดีย์ประดับด้วยยอดฉัตรทองแบบเจดีย์มอญในเมืองหงสาวดีและมีเสาหงส์สัญลักษณ์ความเป็นมอญประดับอยู่ด้านข้างเจดีย์ด้วย

 สกุลช่างนนทบุรี
ภาพ ปู่เมง ย่าเมง (ขวาสุด)

สำหรับอุโบสถหลังเก่าเป็นโบสถ์มหาอุตม์ที่มีทางเข้าทางเดียวไฮไลต์ห้ามพลาดชมคือจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรีซึ่งนอกจากพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่อยู่ท่ามกลางหมู่มารผจญหลากหลายชาติพันธุ์แล้วอีกเอกลักษณ์ของช่างชาวบ้านฉบับนนทบุรีคือ ภาพกาก โดยเฉพาะภาพหนุ่มสาวที่กำลังพลอดรักกัน อย่าลืมมองหาภาพ ปู่เมง ย่าเมง เป็นภาพหนุ่มสาวกระซิบรักที่สนั่นคุ้งน้ำเจ้าพระยาไม่แพ้ภาพกระซิบรักบรรลือโลกวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ซึ่งปู่เมง ย่าเมงต่างนุ่งผ้าลายตารางแบบชาวมอญ นอกจากนี้ยังมีภาพประเพณี วิถีชีวิตชาวบ้านนนทบุรีในแถบนี้ที่เล่าได้อย่างสนุกแทรกอารมณ์ขัน เช่น การโปรยทานที่จะเห็นคนนำร่มกางมารับเหรียญทาน รวมทั้งมีการวาดสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะปลาหลากหลายสายพันธุ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนมอญริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้

 สกุลช่างนนทบุรี

“พุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์” วัดร้างกับตำนานหลวงปู่เสือ

พุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์ เป็นอีกวัดสำคัญในอดีตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วย 2 วัดสำคัญตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันคือวัดเชิงท่าและวัดหน้าโบสถ์ ปัจจุบันมีทั้งส่วนที่เป็นโบราณสถานซากปรักหักพังซากของอดีตวัดเชิงท่าและโบสถ์วัดหน้าโบสถ์ที่อยู่ติดฝั่งแม่น้ำด้านในยังคงมีหลักฐานตำนาน “หลวงปู่เสือ” หรือชื่อจริงของท่านก็คือ “หลวงปู่เริ่ม”ซึ่งเล่าลือถึงศาสตร์ด้านคาถาอาคมในอดีตสามารถเข้าไปกราบไหว้ได้แต่ไม่มีภิกษุจำพรรษาแต่อย่างใด

 สกุลช่างนนทบุรี

“วัดกลางเกร็ด” ประวัติศาสตร์การขุดคลองลัดเกร็ด

ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 30 แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นช่วงที่มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่งเพื่อเชื่อมระหว่างศูนย์กลางคือกรุงศรีอยุธยากับปากแม่น้ำทางออกทะเลได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และหนึ่งในนั้นคือ การขุดคลองลัดเกร็ด ซึ่งปัจจุบันได้ผนวกกลายเป็นแม่น้ำใหญ่ของลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนลำน้ำเดิมไหลอ้อมผ่านไปทางตำบลเกาะเกร็ด และตำบลอ้อมเกร็ด อำเภอปากเกร็ด

วัดกลางเกร็ดปัจจุบันมีการบูรณะใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถซึ่งวาดใหม่สีสดใสทว่ายังคงลายเส้นแบบไทยประเพณีอ้างอิงรูปแบบสกุลช่างนนทบุรีเดิมและอ้างอิงจากผลงานช่างหลวงในวัดดังฝั่งพระนครอีกหลายแห่ง ดังนั้นจิตรกรรมที่นี่จึงมีทั้งพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยในย่านริมน้ำนนทบุรีและภาพกากผสมกันไป

เสาโคมพระประทีป

ด้านข้างอุโบสถมีหอไตรเก่ากลางน้ำสร้างช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และรอบอุโบสถยังคงเก็บรักษาเสาโคมพระประทีป เป็นเสาคล้ายเจดีย์แต่มีช่องเล็ก ๆ สำหรับใส่ประทีปเทียนจุดในเวลากลางคืน เป็นเสาโคมพระประทีปที่หาชมไม่ได้ง่ายในปัจจุบัน

สกูตเตอร์

ตลาดเก่าปากเกร็ด

ลัดเลาะวัดเก่าริมแม่น้ำมาครึ่งค่อนวัน สกูตเตอร์พาเราผ่านชุมชนริมน้ำเล็ก ๆ ที่แม้แต่มอเตอร์ไซค์ก็ยังพาลัดเลาะเข้าไปยากจากนั้นออกสู่ท่าเรือที่จะข้ามไปเกาะเกร็ด จากมุมนี้สามารถมองเห็นเจดีย์วัดปรมัยยิกาวาส สัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดชัดเจนอยู่ฟากฝั่งตรงข้าม ริมน้ำมีร้านอาหารเก่าแก่ให้เลือกเรียงรายเช่นฮงเส็งโภชนา ร้านอาหารไทยในห้องแถวไม้ซึ่งติดลิสต์ร้านมิชลินไกด์แนะนำปี ค.ศ. 2022หรืออย่างถ้าลัดเลาะ สกูตเตอร์ เข้าไปใจกลางตลาดเก่าปากเกร็ดก็จะเจอร้านขนมเปี๊ยะเฉลิมชัยพานิช ที่ส่งกลิ่นหอมอบควันเทียนจากรุ่นสู่รุ่นนอกจากนี้ในตลาดยังมีร้านเสื้อผ้า ชุดนักเรียน ร้านขายของเก่าแก่คู่ตลาดปากเกร็ดให้เลือกชอปอีกหลายร้าน 

สกูตเตอร์

“ศาลเจ้าเง็กกวงตั๊ว” ชุมชนชาวจีนในเมืองนนท์

นอกจากวัดที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวมอญแล้ว เส้นทางสกูตเตอร์ครั้งนี้ยังพาลัดเลาะชุมชนริมน้ำสู่ศาลเจ้าเง็กกวงตั๊วศูนย์กลางชุมชนชาวจีนเป็นศาลเจ้าที่มุ่งเน้นคำสอนแห่งลิทธิเต๋า ตัวอาคารของศาลเจ้าเป็นอาคารใหม่ที่ซ่อมแซมจากหลังเดิม ที่เป็นเรือนไม้หลังเล็ก ๆ ทว่าภายในศาลเจ้ายังคงรักษาองค์พระและเทพเจ้าจีนต่าง ๆ ที่อยู่คู่ศาลเจ้าแห่งนี้มาแต่แรกเริ่ม

กลางศาลเจ้าประดิษฐาน เทพไท้เสียงเหล่ากุง ปรมาจารย์ผู้ริเริ่มลัทธิเต๋า โดยท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนบรรลุธรรม จากที่ไม่มีคนเชื่อถือจนมีคนศึกษาคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งเพิ่มมากขึ้น เป็นคำสอนที่ท่านสอน ขนาบข้างด้วย เทพหง่วนสีเทียนจุน และ เทพมูเทียนก้าจู ซึ่งทั้งสามอัญเชิญมาจากประเทศจีนตอนที่ชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาอาศัยอยู่ย่านนี้

 สกุลช่างนนทบุรี

“วัดเกาะพญาเจ่ง” ประติมากรรมพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน

วัดเกาะพญาเจ่ง ตั้งอยู่พื้นที่ที่ดินเดิมของ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) บิดาของ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ต้นสกุลคชเสนี โดยเจ้าพระยามหาโยธา ขุนนางชาวมอญที่เข้ามารับราชการในไทยช่วงแผ่นดินรัชกาลที่ 1และลูกหลานก็รับใช้ราชสำนักในรัชกาลต่อมา อันที่จริงวัดแห่งนี้เดิมชื่อ วัดเกาะ หรือ วัดเกาะบางพูด ตั้งชื่อตามลักษณะของพื้นที่ดั้งเดิมที่เป็นเหมือนเกาะมีน้ำล้อมรอบและชาวบ้านเองก็เรียกแถบนี้ว่า “บางพูด” มีปรากฏชื่ออยู่ใน นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ ความว่า “ถึงบางพูด พูดดีเป็นศรีศักดิ์” ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการก่อตั้งชุมชนชาวมอญขึ้นรอบ ๆ วัดและมีมากจนเรียกชื่อวัดเสียใหม่ตามชื่อเจ้าของที่ดั้งเดิมจึงได้ชื่อ “วัดเกาะพญาเจ่ง”

ไฮไลต์ของวัดนี้อยู่ในพระอุโบสถหลังใหญ่เป็นประติมากรรมพระพุทธเจ้าเข้านิพพานขณะกำลังถวายพระเพลิง ซึ่งปกตินิยมปั้นเป็นลักษณะพระพุทธเจ้าบรรทมหงาย หรือไม่ก็ทำเป็นลักษณะเป็นโลงพระศพไม้สี่เหลี่ยมแล้วมีพระบาทยื่นออกมา แต่ที่วัดเกาะพญาเจ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธเจ้านอนในโลงพระศพ มีพระบาทยื่นออกมา และด้านข้างโลงพระศพเปิดออกเห็นเป็นองค์พระพุทธเจ้าบรรทมหงายอยู่ภายใน

ชาวต่างชาติที่ซ่อนอยู่ในงานพุทธประวัติ

ไม่เพียงแต่ประติมากรรมชิ้นเอก ฝาผนังของที่นี่ยังมีจิตรกรรมเรื่องพิเศษไม่ค่อยพบเจอในวัดอื่น ๆ นั่นก็คือภาพวรรณคดีเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ และเรื่องพระรถเมรีแต่หยิบยกแค่ตอนสำคัญมาวาดท่ามกลางภาพทศชาติชาดกอย่างที่วัดอื่น ๆ นิยม พิเศษคือชุมชนชาวต่างชาตินานาชาติที่ซ่อนอยู่ในพุทธประวัติ ด้านบานประตูมีการวาดทวารบาลเป็นเสี้ยวกางถือกริช 2 ข้างเรียก ทวารบาลรำกริช ซึ่งก็หาชมไม่ง่ายอีกเช่นกัน

และสำหรับใครที่อยากรู้ว่าฝรั่งต่างชาติในอดีตที่เข้ามายังแผ่นดินสยามแต่งตัวอย่างไร ทวารบาลอีกบานประตูเป็นภาพนายฝรั่งขนาดใหญ่ที่เข้ามารับราชการในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สวมหมวกในมือถือผ้าเช็ดหน้าแสดงถึงวัฒนธรรมผ้าเช็ดหน้าและสวมหมวกที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น ปิดท้ายความงามของศิลปะไทยประเพณีในอุโบสถหลังนี้ด้วยพระประธานของอุโบสถเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3เรียกว่าพระพุทธรูปแบบหน้าหุ่น คือ มีพระพักตร์สงบนิ่งราวหุ่น

สกูตเตอร์
อนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ 

ไม่ไกลจากอุโบสถคือโรงงานของเฟอร์นิเจอร์เอสบี(SB)เราสามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าไปยังอนุสรณ์แห่งความรักของรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ฯ หรือที่หลายคนรู้จักในตำนาน พระนางเรือล่ม ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าสถานที่เกิดเหตุเรือล่มแท้จริงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 คือคุ้งน้ำบริเวณหน้าวัดพญาเจ่งแห่งนี้ ความโศกเศร้าในครั้งนั้นทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และบุตรในพระครรภ์ เป็นเจดีย์สีขาวทรงปราสาทแต่มีลักษณะเป็นซุ้มโค้งแบบยุโรป ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำทิศ 4 องค์ในอิริยาบถที่แตกต่างกัน ส่วนอัฐิของพระองค์เก็บอยู่ที่สุสานหลวงวัดราชบพิตรฯ

 สกุลช่างนนทบุรี

“วัดกู้” โบสถ์เก่าที่ซ่อนภาพสรรพสัตว์ท้องถิ่น

ปิดท้ายทริป สกูตเตอร์ ทัวร์คาร์บอนต่ำแบบเย็นย่ำในระยะทาง 17 กิโลเมตรกันที่ วัดกู้ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในช่วงปลายแผ่นดินอยุธยาพร้อม ๆ กับการขุดคลองลัดเกร็ดเชื่อมเจ้าพระยาไปยังกรุงศรีอยุธยาราชธานีซึ่งคำว่า “กู้” นี้มีการตีความหมายทั้งในภาษามอญที่แปลว่า “ไร่” และอีกส่วนหนึ่งก็ตีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์พระนางเรือล่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าวัดกู้น่าจะหมายถึงการกู้พระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งก็มีการสันนิษฐานแตกประเด็นว่าอาจจะมีการกู้พระศพบริเวณคุ้งน้ำหน้าวัดกู้นี้

อาคารสำคัญของที่นี่คืออุโบสถหลังเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงสถาปัตยกรรมฐานแอ่นเป็นท้องเรือสำเภาแบบอยุธยาแท้ ๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบอยุธยาพร้อมจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรีที่ลดทอนภาพพุทธประวัติลง และเน้นเล่าเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่นให้สนุกยิ่งขึ้น เช่นพุทธปะวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จธุดงค์เจอสัตว์ต่าง ๆ ก็มีการนำสรรพสัตว์ในท้องถิ่นมาวาดใส่ลงไปเป็นสีสัน เช่น นก แพะ ม้า งู ไฮไลต์จริง ๆ คือตัวเหี้ยที่หาชมได้ยากในภาพจิตรกรรม

 สกุลช่างนนทบุรี
เรื่องราวเกี่ยวกับชนชาติมอญในจิตรกรรมฝาผนัง

วัดกู้เป็นวัดประจำชุมชนมอญ ดังนั้นในจิตรกรรมฝาผนังจึงมีวิถีชีวิตสัญลักษณ์ของชาวมอญแต้มลงไปเป็นสีสัน เช่น การใส่เสาหงส์ธงตะขาบซึ่งบ่งบอกสถานะของวัดว่าเป็นวัดมอญอย่างแน่แท้ เสื้อผ้าลายอย่างมอญหรืออย่างภาพวาดด่านเจดีย์สามองค์ ก็เป็นการเล่าถึงเส้นทางการเดินทัพและการเดินทางของชาวมอญมายังไทย อีกทั้งตัวเจดีย์ทั้งสามองค์ก็มีลักษณะแบบเจดีย์มอญเช่นกัน

Fact File

สนใจโปรแกรมสกูตเตอร์ที่เน้นพิกัดสายประวัติศาสตร์แบบเจาะลึกทั้งนนทบุรี กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/scootdeurban หรือ โทร 086-404-3786


Author

วาสนา แซ่จั่น
ฉายาเด็กประวัติสายติ่งไม่ได้มาเล่นๆ นิ่งเป็นหลับขยับเป็นติ่ง รักการซอกแซกซอกมุมต่างๆ ของประวัติศาสตร์

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์