10 ไฮไลต์นิทรรศการเซรามิกญี่ปุ่น จากเตาเผาเมืองอาริตะ ต้นกำเนิดเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นต้นศตวรรษที่ 17
- คอลเล็กชันเซรามิกจำนวน 97 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่นได้นำมาจัดแสดงที่นิทรรศการหมุนเวียน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- ผลงานเซรามิกที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่มาจากเตาเผาเมืองอาริตะ จังหวัดซากะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเอโดะ
- เซรามิกของอาริตะได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 17 และมีการส่งออกไปทั่วโลกรวมถึงมีการติดต่อค้าขายกับไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
เป็น นิทรรศการเซรามิกญี่ปุ่น ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเครื่องกระเบื้องกับคอลเล็กชันเซรามิกจำนวน 97 ชิ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากเตาเผาเมืองอาริตะ จังหวัดซากะ อันเป็นต้นกำเนิดการผลิตเครื่องกระเบื้องของญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ที่ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก ระหว่างวันที่ 14 กันยายน-14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
เมืองอาริตะ ในภูมิภาคคิวชูเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเอโดะ เซรามิกของอาริตะได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 17 และมีการส่งออกไปทั่วโลกรวมถึงมีการติดต่อค้าขายกับไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
คอลเล็คชันที่นำมาจัดแสดงมาจาก พิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ในนิทรรศการนำเสนอเซรามิกจากอาริตะตั้งแต่ยุคแรกของการผลิตในปี ค.ศ.1610 ต่อเนื่องไปถึงช่วงที่เริ่มมีการส่งออกไปยังเอเชียและยุโรปในปี ค.ศ.1640 จนกระทั่งถึงเซรามิกร่วมสมัยที่ผสมผสานเทคนิคต่างๆ มากมายโดยศิลปินแห่งชาติ Sarakadee Lite ขอหยิบยกผลงานชิ้นไฮไลต์บางส่วนมาให้ได้ชมและร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์โลกผ่านผลงานใน นิทรรศการเซรามิกญี่ปุ่น เหล่านี้
01 จานลายครามภาพบุคคลและศาลาแบบจีน (1610s-1630s)
ก่อนที่จะสามารถผลิตครื่องกระเบื้่องสีขาวเนื้อแข็งได้เองทางญี่ปุ่นนำเข้าเครื่องกระเบื้องส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 จนกระทั่งในปี ค.ศ.1610 มีการค้นพบแร่สีขาวเกาลินในเมืองอาริตะ จังหวัดซากะซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องกระเบื้องและยังได้รับการถ่ายทอดเทคนิคการผลิตเครื่องเคลือบจากช่างฝีมือชาวเกาหลีนำโดย คานากาเอะ ซังเป (Kanagae Sanbei) เซรามิกอาริตะที่ผลิตในยุคแรกช่วงต้นศตวรรษที่ 17 จึงมีการผสมผสานเทคนิคแบบจีนและแบบเกาหลีและผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก
02 ขวดทรงแปรงตีชาเขียนสีลงยาบนเคลือบลายดอกโบตั๋น (1650s-1660s)
อายาโกะ ยามาโมโตะ (Ayako Yamamoto) ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู ที่เดินทางมาควบคุมการติดตั้งชิ้นงานในไทยกล่าวว่า “ในช่วงเริ่มต้นเซรามิกของอาริตะเป็นแบบลายครามและเลียนแบบสไตล์ของจีน ต่อมาจึงมีการพัฒนาเป็นการเขียนสีบนเคลือบและเริ่มมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เซรามิกของอาริตะเริ่มมีการส่งออกสู่ต่างประเทศในปี ค.ศ.1640 เป็นการส่งออกมายังเอเชียอาคเนย์เป็นพวกเครื่องถ้วยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีหลักฐานบันทึกว่ามีเรือสำเภาจีนนำเครื่องถ้วยจากอาริตะมาค้าขายยังประเทศไทยและกัมพูชา”
03 จานแบบคราก (Kraak) เขียนลายครามลายหงส์และตรา VOC
ค.ศ.1644 เกิดการเปลี่ยนราชวงศ์ของจีนจากราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ชิง การส่งออกเครื่องปั้นดินเผาของจีนต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากความไม่สงบจากสงครามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเครื่องกระเบื้องทางตอนใต้ของจีน เครื่องปั้นดินเผาของอาริตะที่ได้รับอิทธิพลจากเทคนิคและรูปแบบของจีนจึงเข้ามาทดแทนตลาดและสามารถส่งออกไปทั่วโลกโดยเฉพาะผ่านทางเรือของบริษัท Dutch East India Company หรือ Vereenigde Oostindische Compagnie (VOC) ดังชื่อที่ปรากฏในงานเซรามิกชิ้นนี้
04 กุณฑีเขียนสีบนเคลือบภาพพระศรีอริยเมตไตรย (1660s-1670s)
กุณฑีปั้นเป็นรูปพระศรีอริยเมตไตรย (โฮเทอิ – Hotei) ในรูปทรงนูนและเขียนสีบนเคลือบด้วยสีน้ำเงินและแดงโดยคาดว่างานชิ้นนี้ทำเพื่อส่งออกมาขายยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้เครื่องถ้วยที่ทำจากอาริตะได้ส่งออกไปยุโรปโดยขึ้นที่ท่าเรือที่อิมาริ (Imari Port) ซึ่งห่างออกไปเพียง 15 กิโลเมตร ชาวยุโรปจึงเรียกนิยมเรียกเครื่องกระเบื้องจากอาริตะว่า “อิมาริ” ตามชื่อท่าเรือขนส่งสินค้า
05 จานปากหยักเขียนสีบนเคลือบลายมังกรและเสือแบบคากิเอมอน (1670s-1690s)
เครื่องกระเบื้องคากิเอมอน (Kakiemon) เป็นเครื่องใช้คุณภาพสูงและเป็นที่นิยมในเหล่าขุนนางของญี่ปุ่นและชนชั้นสูงในยุโรป ตระกูลคากิเอมอนคิดค้นรูปแบบที่เรียกตามชื่อตระกูลซึ่งหมายถึงการเขียนหลายสีบนเคลือบบนผิวเครื่องกระเบื้องสีขาว เครื่องกระเบื้องแบบนี้มีการผลิตในช่วงปี ค.ศ. 1670-1690 โดยเตาเผาส่วนตัวของตระกูลตามคำสั่งซื้อพิเศษของผู้ปกครองซากะและขุนนางรวมถึงคำสั่งซื้อจากบริษัท Dutch East India
06 โถใส่น้ำพร้อมฝาทรงระฆังเขียนลายครามลายหงส์และมังกร (1670s-1690s)
เครื่องกระเบื้องชิ้นนี้ถือเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่ผลิตในยุคเฟื่องฟูของเอโดะจากรูปทรงที่แปลกใหม่และการประดับตกแต่งด้วยลวดลายหลากหลาย เช่น นกฟินิกซ์ มังกร ก้อนเมฆ ซากุระ กิ่งไผ่และเถาวัลย์ ได้อย่างลงตัว และถึงแม้ทางจีนจะเริ่มกลับมาส่งออกเครื่องปั้นดินเผาได้ในปี ค.ศ.1684 เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มคลี่คลายแต่เซรามิกของอาริตะก็ได้แชร์ส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมเซรามิกโลกไปแล้ว
07 โถพร้อมฝาขนาดใหญ่เขียนสีบนเคลือบลายต้นสนและดอกเบญจมาศ (1690s-1730s)
เครื่องกระเบื้องเขียนสีสดใสบนเคลือบตัดกับพื้นหลังสีขาวที่เรียกว่าแบบ คากิเอมอน (Kakiemon) เป็นรูปแบบแรกๆที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยุโรปและเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงเพื่อแสดงฐานะทางสังคม เช่น โถพร้อมฝาขนาดใหญ่ชิ้นนี้ซึ่งมีความสูง 80 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบเครื่องกระเบื้องลายครามคุณภาพสูงที่ผลิตจาก เตานังกาวาระ (Nangawara) ซึ่งเป็นหนึ่งในเตาคากิเอมอนที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในช่วงศตวรรษที่ 17 ในหลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ
08 กาน้ำเขียนสีบนเคลือบลายหงส์และดอกคิริ (1730s-1760s)
เครื่องกระเบื้องจากจีนและญี่ปุ่นร่วมครองส่วนแบ่งการตลาดในยุโรปเป็นเวลานานเนื่องจากในยุโรปยังไม่มีการผลิตเครื่องกระเบื้องจนกระทั่งในปี ค.ศ.1709 จึงสามารถผลิตได้ที่เมืองไมเซิน ประเทศเยอรมนี
“เซรามิกของอาริตะสามารถผลิตจำนวนมากได้และออกแบบให้เข้ากับรสนิยมของแต่ละประเทศ เช่น ในแถบเอเชียอาคเนย์จะชอบภาชนะใส่น้ำและเครื่องถ้วยเล็กๆ ที่มีฝาปิดเพื่อไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทางฝั่งยุโรปจะนิยมของชิ้นใหญ่ เช่น แจกันหรือโถพร้อมฝา เพื่อใช้ประดับในพระราชวังหรือคฤหาสน์” อายาโกะภัณฑารักษ์กล่าว
09 แจกันสามขามีหูเขียนสีบนเคลือบลายมังกรและหงส์ (1875-1880s)
หลังจากการส่งออกเซรามิกหยุดชะงักเป็นเวลากว่า 40 ปี ประเทศจีนกลับมาส่งออกเซรามิกได้อีกครั้งในปี ค.ศ.1684 หลังจากมีการประกาศยกเลิกข้อจำกัดการค้าขายทางทะเลทำให้การส่งออกเครื่องกระเบื้องจากอาริตะไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หยุดชะงักและการส่งออกไปยุโรปมีปริมาณลดลงด้วยเพราะเครื่องกระเบื้องจากเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซีประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องลายครามที่ใช้ในราชสำนักช่วงราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง นอกจากนี้ทางยุโรปสามารถผลิตเครื่องกระเบื้องเองได้ในต้นศตวรรษที่ 18 อีกทั้งอังกฤษยังเข้ามาเป็นผู้นำในตลาดการค้ากับเอเชียทำให้การส่งออกเซรามิกของอาริตะกับบริษัท Dutch East India สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1757
10 แจกันเขียนลายครามและเขียนสีบนเคลือบพร้อมเทคนิคหมึกล่องหน (2004)
แหล่งเตาฮิเซ็น (Hizen) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดซากะและนางาซากิได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2016 ด้วยคุณค่าของการเป็นแหล่งต้นกำเนิดวัฒนธรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอาริตะ ที่สามารถผลิตเครื่องกระเบื้องได้เป็นแห่งแรกในญี่ปุ่นเมื่อกว่า 400 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับศิลปินผู้สร้างผลงานอันโดดเด่นโดยยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
แจกันลายครามและเขียนสีบนเคลือบชิ้นนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ อิมาอิสุมิ อิมาเอมอน (Imaizumi Imaemon) รุ่นที่ 14ศิลปินแห่งชาติที่โดดเด่นในการผลิตเครื่องกระเบื้องเขียนสีบนเคลือบโดยผสมผสานลวดลายเกล็ดหิมะที่ใช้เทคนิคหมึกล่องหน“สุมิฮะจิกิ” (Sumihajiki) อันเป็นเอกลักษณ์ของเขาและเทคนิคดั้งเดิมของเครื่องปั้นดินเผาแบบนาเบชิมะ (Nabeshima)
Fact File
- นิทรรศการเซรามิกญี่ปุ่น เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย : สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก จัดแสดงระหว่างวันที่ 14 กันยายน-14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok