Dine in the Dark ประสบการณ์กินอาหารในโลกมืดที่มีเพียงผู้พิการทางสายตาเป็นแสงนำทาง
- ร้านอาหาร Dine in the Dark โรงแรมเชอราตันแกรนด์สุขุมวิท เป็นร้านที่เปิดประสบการณ์การรับประทานอาหารในร้านที่มืดสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ และได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า6 ปี
- พนักงานเสิร์ฟในร้านทั้งหมดเป็นผู้พิการทางสายตาเพื่อเป็นแสงนำทางให้คนสายตาปกติและพิสูจน์ศักยภาพว่าพวกเขาทำได้มากกว่าอาชีพขายลอตเตอรี่หรือพนักงานนวด
- อาหารเสิร์ฟเป็นเซตเมนู 4 คอร์สและโรงแรมจะบริจาค 50 บาทต่อ 1 ที่ให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอด
หากเกณฑ์ในการเลือกร้านอาหารสักร้าน คือต้องเป็นร้านที่ตกแต่งสวยงาม มีมุมให้ถ่ายรูปชิคๆ และอาหารจัดจานแปลกตาเหมาะกับการแชะและแชร์ ร้าน Dine in the Dark (ไดน์ อิน เดอะ ดาร์ค) ที่ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ล้วนไม่เข้ากฎเกณฑ์ใดๆ ตามสมัยนิยม เพราะนอกจากร้านจะมืดสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์จนทำให้เราไม่เห็นทั้งบรรยากาศการตกแต่งร้านและหน้าตาอาหารที่เสิร์ฟ และก็ลืมไปได้เลยว่าจะหยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิดโหมดไฟฉายเพื่อเก็บภาพเพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพรวมถึงเครื่องประดับเรืองแสงทุกชนิดไม่อนุญาตให้นำติดตัวเข้าไปด้วย
คอนเซ็ปต์ของร้านคือให้ลูกค้าลองสัมผัสประสบการณ์อยู่ในโลกมืดของผู้พิการทางสายตา และเปิดประสาทการรับรสให้เต็มที่โดยปราศจากสิ่งเร้าจากภายนอก พนักงานเสิร์ฟคัดเฉพาะผู้พิการทางสายตาเพื่อเป็นแสงนำทางให้คนสายตาปกติ และพิสูจน์ศักยภาพของพวกเขาว่าทำได้มากกว่าอาชีพขายลอตเตอรี่หรือพนักงานนวดอย่างที่หลายคนมักตีกรอบไว้ให้
เปิดประสบการณ์การกินอาหารในโลกมืด
ค่ำวันศุกร์หนึ่งเราจึงถือโอกาสลองเปิดประสบการณ์ดูบ้างตามที่ โรเบิร์ต วิทท์บรูด (Robert Wittebrood) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหารของโรงแรม กล่าวไว้ว่า “นอกจากประสบการณ์ใหม่แล้ว คุณอาจจะพบว่าเมื่อไม่สามารถมองเห็น เราใส่ใจกับอาหารที่เรากินและเครื่องดื่มที่เราดื่มมากขึ้นเช่น เรามีไวน์เทสติ้ง 4-5 แก้ว เป็นไวน์แบบเดียวกันต่างกันแค่ปีที่ผลิต เมื่อดื่มเสร็จเราลองถามลูกค้าว่าเขาชอบแก้วไหนมากที่สุด หลายคนตอบว่าแก้วสุดท้ายทั้งที่เป็นไวน์ราคาถูกที่สุดของที่เราเสิร์ฟ ถ้าให้เลือกดื่มส่วนใหญ่อาจจะเลือกตามสลากของไวน์”
พนักงานเสิร์ฟประจำที่เป็นผู้พิการทางสายตามีจำนวน 4 คน และแต่ละคนรับรองแขกไม่เกินคนละ 3 โต๊ะ โต๊ะละประมาณ 2-4 คน หากมีลูกค้าจองมามากกว่าที่พนักงานประจำจะรับได้ ทางร้านมีพนักงานพาร์ตไทม์คอยเสริม สูงสุดเคยมีพนักงานเสิร์ฟถึง 12คนต่อคืน
ร้านอยู่ภายในบริเวณเดียวกับบาร์ชื่อ BarSu (บาร์สุ) ซึ่งใช้เป็นส่วนต้อนรับลูกค้า อาหารที่เสิร์ฟเป็นเซตเมนู 4 คอร์ส มีให้เลือก 4 แบบคือ อาหารแบบตะวันตก แบบมังสวิรัต แบบเอเชีย และแบบเซอร์ไพรส์ ราคา1,450 บาท++ ต่อคน สำหรับอาหารเท่านั้น และโรงแรมจะบริจาค 50 บาทต่อ 1 ที่ให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดเมนูอาหารมีการปรับเปลี่ยนทุก 4 เดือนและมีเมนูพิเศษในเทศกาลสำคัญๆ
“เราต้องจำชื่อและที่นั่งของลูกค้าแต่ละคนให้ถูกต้อง เพราะแต่ละคนเลือกอาหารต่างกันและบางคนแพ้อาหารบางอย่าง เราต้องไม่เสิร์ฟอาหารผิดจาน เราต้องจำบล็อกบล็อกกิ้งที่นั่งด้วย เพราะการเซตโต๊ะอาหารเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนของลูกค้าในแต่ละวัน” หมู-วาริน ไตรสนาคม กล่าวถึงงานประจำที่เธอทำตั้งแต่ร้านเปิดให้บริการเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
ผู้พิการทางสายตาที่เป็นแสงนำทางในความมืด
พนักงานที่ทำหน้าที่เป็น “ตา” ให้เราในวันนั้น แนะนำตัวเองว่าให้เรียกชื่อเธอง่ายๆ ว่า กันนี่ ก่อนจะเข้าไปในร้านเธอจะนำทางโดยให้เราแตะบ่าและค่อยๆก้าวเท้าตาม กันนี่จะคอยบอกให้ระวังขั้นบันไดและค่อยๆพาเรามายังที่นั่ง แนะนำอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารว่าด้านซ้ายขวาคืออะไรบ้างและคอยบอกตลอดว่าเธอกำลังทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร เก็บจาน หรือขอเวลาสักครู่ไปรับลูกค้าท่านอื่น
“หากรู้สึกกลัวหรือต้องการอะไรเรียกกันนี่ได้ตลอด กันนี่อยู่ตรงนี้ตลอดค่ะ เคยมีลูกค้าบางคนไม่รู้ว่าตัวเองกลัวความมืดมากจนไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ พนักงานเราพูดได้หลายภาษาค่ะทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน กันนี่เองก็พูดภาษาญี่ปุ่นได้โดยเรียนจาก YouTube” เธอกล่าวและชวนคุยเรื่อยๆก่อนจะขอตัวสักครู่ไปต้อนรับลูกค้าชาวญี่ปุ่น
เหมือนอย่างที่กันนี่เพิ่งเล่าให้ฟัง ลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ามาไม่ถึง 5 นาที เรียกชื่อกันนี่เสียงดังและพูดเป็นภาษาอังกฤษแปลได้ว่า “ฉันว่าฉันไม่ไหว มันน่ากลัวไป” จนกันนี่พาเธอออกไปนอกร้านและกลับมาบริการเราต่อและเล่าว่า “บางคนไม่ไหวจริงๆเราก็ต้องพาเขาออกมา เราก็เสิร์ฟอาหารที่ BarSu แทน”
“หน้าที่เราคือเป็นตาให้เขา ในงานบริการเราจึงต้องพูดคุยให้ลูกค้าผ่อนคลาย ให้เขาไว้ใจเราว่าเขาจะปลอดภัย เคยมีบางคนขอออกไปตั้งหลักก่อนแล้วค่อยเข้ามาใหม่ เวลาเสิร์ฟอาหารเราจะบอกให้เขาลองสัมผัสจานอาหารเพื่อให้คุ้นชินว่าเราเสิร์ฟอาหารปกติไม่ต่างจากที่อื่น อุปกรณ์บนโต๊ะมีอะไรบ้างอยู่ตรงตำแหน่งไหน เชพของเราเป็นคนสายตาปกติและรับรองว่าคุณภาพมาตรฐานอาหารเราเป็นระดับ โรงแรม สิ่งสำคัญที่เราเน้นย้ำคือห้ามแชร์อาหารกัน เพราะแต่ละคนแพ้อาหารต่างกัน” หมูกล่าวเสริม
กันนี่จะคอยบอกก่อนเสิร์ฟอาหารแต่ละจาน เช่น appetizer แนะนำให้ลองกินจากซ้ายไปขวา ต่อไปเป็นซุปร้อนให้ระวังขณะสัมผัสภาชนะ ตามด้วยอาหารจานหลักและของหวานตามลำดับ สิ่งที่สนุกคือทำให้เราค่อยๆละเมียดในแต่ละคำที่กินและคิดว่ารสชาติและรสสัมผัสแบบนี้น่าจะเป็นอะไร บทเฉลยจะปรากฏเมื่อเรารับประทานเสร็จและออกมาด้านนอกจะมีแบบสอบถามความพึงพอใจในการบริการและรสชาติของอาหาร และพนักงานจะเฉลยว่าอาหารแต่ละจานคืออะไรเป็นรูปภาพบนจอแท็บเล็ต
ฟังและสังเกตมากขึ้นเมื่อตามองไม่เห็น
ริชาร์ด แชปแมน (Richard Chapman) ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ให้ข้อมูลว่าประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบ Dine in the Dark มาจากคำว่า Dans le Noir ในภาษาฝรั่งเศส และเริ่มต้นที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยชายชาวสวิสที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ในปี ค.ศ. 1999 เริ่มแรกเขาได้เชิญเพื่อนของเขาที่มีสายตาปกติมากินอาหาร ประสบการณ์ในค่ำคืนนั้นก่อให้เกิดความตื่นเต้นและประสบการณ์ครั้งใหม่ของการสนทนา การกิน การดื่ม ทั้งหมดในห้องที่มืดสนิท และในปีเดียวกันการรับประทานอาหารรูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปตามร้านอาหารและคลับต่างๆ จากนั้นคอนเซ็ปต์ Dine in the Dark หรือ DID ได้แผ่ขยายไปหลายประเทศเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย
Julien Wallet-Houget ลูกครึ่งสวิส-ฝรั่งเศส เริ่มนำคอนเซ็ปต์นี้เข้ามาในเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากเปิดเป็นโปรเจกต์ระยะสั้นๆ ส่วนหนึ่งของเทศกาล La Fêteที่โรงแรมคิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ และเปิดเป็นร้าน Dine in the Dark ที่โรงแรมแอสคอทถนนสาทรเมื่อ พ.ศ.2555 ก่อนที่จะย้ายมาที่โรงแรมเชอร์ราตันแกรนด์สุขุมวิท ในปี พ.ศ. 2557
“ผมจำได้ว่าพบคุณ Julien ขณะนั้นผมเป็น F&B Manager และกำลังดูแลความเรียบร้อยที่ BarSuเราคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิด Dine in the Dark ที่โรงแรม ผมคิดว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจมาก นอกจากสร้างประสบการณ์แปลกใหม่แล้ว ยังท้าทายจินตนาการให้คนคาดเดาและให้เรารู้จักฟังสิ่งรอบข้างมากขึ้นเมื่อตามองอะไรไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นเราก็จะเริ่มใช้มือคลำไปรอบๆว่ามีอะไรบ้าง พนักงานจึงต้องคอยบอกว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง พนักงานเองก็ต้องคอยฟังเสียงลูกค้าว่าต้องการอะไร กลัวหรือหวาดวิตกหรือเปล่าและต้องให้ลูกค้ามั่นใจว่าเขาอยู่ข้างๆเสมอ และเมื่อเริ่มปรับตัวคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมใหม่ การคาดเดาว่าอาหารคืออะไรจากการดม จับ และค่อยๆรับประทานก็กลายเป็นเรื่องสนุกและเป็นหัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหาร” โรเบิร์ตกล่าว
ถึงแม้แชปแมนยอมรับว่าการโปรโมตหรือการให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ 6 ปีที่เปิดให้บริการมาและมีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาอยู่เสมอนับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม
“เราอยากให้เห็นว่าคนตาบอดทำได้มากกว่า นวด ร้องเพลง และขายลอตเตอรี่ ร้านอาหารแบบนี้ช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพให้พวกเรา เราดีใจที่ได้เจอคนที่มีทัศนคติที่ดีกับเราและกับร้าน และยิ่งประทับใจเมื่อเขาพาเพื่อน พาคนในครอบครัวกลับมากินอาหารกับเราอีก” หมูซึ่งสายตาเห็นเพียงแค่แสงเลือนรางกล่าวด้วยรอยยิ้ม
Fact File
- ร้านอาหาร Dine in the Dark (DID) เปิดให้บริการที่ BarSu ชั้น G ของโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิทในวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป (รับออเดอร์สุดท้ายเวลา 21.30 น.)
- อาหารเสิร์ฟเป็นเซตเมนู 4 คอร์สราคา1,450 บาท++ ต่อคน สำหรับอาหารเท่านั้น และโรงแรมจะบริจาค 50 บาทต่อ 1 ที่ให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอด
- รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2649-8358 หรืออีเมล :bkklcdining@marriott.com หรือเว็บไซต์ www.dineinthedarkbangkok.com