ชมคอลเล็กชัน เซรามิกญี่ปุ่นโบราณ กว่า 97 ชิ้น จากแหล่งเตาเผาอาริตะ เก่าแก่ย้อนไปสมัยเอโดะ
- คอลเล็กชันเซรามิกจำนวน 97 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่นได้นำมาจัดแสดงที่นิทรรศการหมุนเวียน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- ผลงานเซรามิกที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่มาจากเตาเผาเมืองอาริตะ จังหวัดซากะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเอโดะ
- เครื่องปั้นดินเผาของไทยจำนวน 90 รายการร่วมจัดแสดงด้วยเนื่องในวาระครบรอบ 135 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศใน พ.ศ. 2565
พร้อมเปิดให้เข้าชมแล้วสำหรับนิทรรศการที่หลายคนรอคอยโดยไม่ต้องบินไปชมถึงประเทศญี่ปุ่นกับคอลเล็กชัน เซรามิกญี่ปุ่นโบราณ จำนวน 97 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชูโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงาน เซรามิก จากเตาเผาเมืองอาริตะ จังหวัดซากะ แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ในยุคเอโดะซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
นอกจาก เซรามิกญี่ปุ่นโบราณ แล้วนิทรรศการครั้งนี้ยังมีเครื่องปั้นดินเผาของไทยจากหลายแหล่งมาร่วมจัดแสดงด้วยเนื่องในวาระครบรอบ 135 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศใน พ.ศ.2565 โดยนิทรรศการ เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก จะจัดแสดงเป็นเวลา 3 เดือนระหว่างวันที่ 14 กันยายน-14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
“เมื่อ ค.ศ.1990 พิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู ได้จัดนิทรรศการ ‘เครื่องปั้นดินเผาของฮิเซน’ (Hizen คือชื่อเดิมของจังหวัดซากะ) และได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของไทยให้ยืมศิลปวัตถุไปจัดแสดง และจากการสำรวจและวิจัยร่วมกันพบว่ามีเครื่องถ้วยเซรามิกของจังหวัดซากะจำนวนมากโดยเฉพาะจากเมืองอาริตะถูกส่งมาประเทศไทยตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ในนิทรรศการนี้เราจึงเน้นนำเสนอเซรามิกจากอาริตะตั้งแต่ยุคแรกของการผลิตในปี ค.ศ.1610 ต่อเนื่องไปถึงช่วงที่เริ่มมีการส่งออกไปยังเอเชียและยุโรปในปี ค.ศ.1640 จนกระทั่งถึงเซรามิกในยุคปัจจุบัน” อายาโกะ ยามาโมโตะ (Ayako Yamamoto) ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู กล่าวถึงคีย์หลักของนิทรรศการ
โบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาอาริตะชิ้นสำคัญที่นำมาจัดแสดง ได้แก่ จานลายครามเขียนภาพบุคคลและศาลาแบบจีน (1610s-1630s) ขวดทรงแปรงตีชาเขียนลายบนเคลือบเป็นลายดอกโบตั๋น (1650s-1660s) กุณฑีเขียนสีบนเคลือบเป็นภาพพระศรีอริยเมตไตรย (1660s-1670s) และเด็กชายจับปลาดุกด้วยน้ำเต้าตกแต่งด้วยการเขียนสีบนเคลือบ (1670s-1700s) นอกจากนี้ในนิทรรศการยังจำลองยูนิตทำงานในขั้นตอนการผลิต เช่น การปั้นดินและขึ้นรูป การวาดลวดลาย และการเผาในเตา
สำหรับโบราณวัตถุของไทยที่นำมาจัดแสดงมีจำนวน 90 รายการ เช่น กระปุกสังคโลกสองหูจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-21) กุณฑีสังคโลก (พุทธศตวรรษที่ 20-21) จากการขุดค้นที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัยและชุดชามเบญจรงค์ (พุทธศตวรรษที่ 24)
“ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 กลุ่มช่างเซรามิกเกาหลีที่อาศัยในเมืองอาริตะค้นพบหินสีขาวที่นำมาใช้ในการทำ เซรามิก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการปั้นเซรามิกและเผาในอุณหภูมิสูง ในช่วงเริ่มต้นเซรามิกของอาริตะเป็นแบบลายครามและเลียนแบบสไตล์ของจีน ต่อมาจึงมีการพัฒนาเป็นการเขียนสีบนเคลือบ และเริ่มมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เซรามิก ของอาริตะเริ่มมีการส่งออกสู่ต่างประเทศในปี ค.ศ.1640 เป็นการส่งออกมายังเอเชียอาคเนย์เป็นพวกเครื่องถ้วยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีหลักฐานบันทึกว่ามีเรือสำเภาจีนนำเครื่องถ้วยจากอาริตะไปค้าขายยังประเทศไทยและกัมพูชา” อายาโกะกล่าว
แม้แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาและส่งออกไปทั่วโลกในขณะนั้นมีประเทศจีนเป็นผู้ครองตลาด แต่จุดเปลี่ยนเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1644 เมื่อการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาของจีนต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากสงครามในประเทศและเกิดการผลัดเปลี่ยนจากราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ชิง เครื่องปั้นดินเผาของอาริตะที่ได้รับอิทธิพลจากเทคนิคและรูปแบบของจีนจึงเข้ามาทดแทนตลาดตรงนี้ และสามารถส่งออกไปทั่วโลกโดยเฉพาะผ่านทางเรือของบริษัท Dutch East India Company หรือ Vereenigde Oostindische Compagnie (VOC) ในนิทรรศการจึงได้จัดแสดงจานลายครามขนาดใหญ่เขียนลายนกฟินิกซ์และตรา VOC (1690s-1719s) ในรูปแบบที่นิยมผลิตในนครจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซีของจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องลายครามที่ใช้ในราชสำนักช่วงราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง และถึงแม้ทางจีนจะเริ่มกลับมาส่งออกเครื่องปั้นดินเผาได้ในปี ค.ศ.1684 เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มคลี่คลาย แต่เซรามิกของอาริตะก็ได้แชร์ส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมเซรามิกโลกไปได้แล้ว
“เซรามิกของอาริตะสามารถผลิตจำนวนมากได้และออกแบบให้เข้ากับรสนิยมของแต่ละประเทศ เช่น ในแถบเอเชียอาคเนย์จะชอบภาชนะใส่น้ำและเครื่องถ้วยเล็กๆ ที่มีฝาปิดเพื่อไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทางฝั่งยุโรปจะนิยมของชิ้นใหญ่ เช่น แจกันหรือโถพร้อมฝา เพื่อใช้ประดับในพระราชวังหรือคฤหาสน์” อายาโกะภัณฑารักษ์ที่เดินทางมาควบคุมการติดตั้งชิ้นงานในไทยให้ข้อมูล
นอกจาก เซรามิกญี่ปุ่นโบราณ แล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานเซรามิกอาริตะร่วมสมัยที่น่าสนใจของช่างญี่ปุ่นมาร่วมแสดงถึงพัฒนาการ เช่น แจกันเขียนสีบนเคลือบสีน้ำนม “นิโกะชิเดะ” (Nigoshide) ลายดอกกุหลาบพันปี (ค.ศ.1990) แจกันเขียนลายครามและเขียนสีบนเคลือบพร้อมเทคนิคหมึกล่องหน “สุมิฮะจิกิ” (Sumihajiki) ในปี ค.ศ.2004 และแจกันเคลือบแบบเทนโมกุ (Tenmoku) ตกแต่งลายดอกไฮเดรนเยีย (ค.ศ.2006) อีกทั้งระหว่าง 3 เดือนของนิทรรศการยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับงาน เซรามิกญี่ปุ่นโบราณ และเซรามิกไทยที่น่าสนใจให้ได้เข้าร่วมอีกด้วย
Fact File
- นิทรรศการ เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก จัดแสดงระหว่างวันที่ 14 กันยายน-14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- การบรรยายเกี่ยวกับนิทรรศการโดย ยูกิโอะ ซูซูตะ (Yukio Suzuta) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เซรามิกแห่งคิวชู วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565 เวลา 14.00 น. ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก)
- วันที่ 14-16 กันยายน พ.ศ. 2565 กิจกรรมจากจังหวัดซากะได้แก่ กิจกรรมลงสีเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิสำหรับผู้ร่วมกิจกรรม 20 คนต่อวัน ซึ่งจานที่ลงสีแล้วจะนําไปเผาอบให้สีอยู่ตัวก่อนจะมอบให้ผู้ร่วมกิจกรรมต่อไป และกิจกรรมทําเครื่องประดับจากเศษกระเบื้องที่เกิดจากกระบวนการเผาเครื่องปั้นดินเผาอาริตะยากิสำหรับผู้ร่วมกิจกรรม 60 คนต่อวัน โดยสามารถเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมคนละ 1 ครั้งเท่านั้น และยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณของญี่ปุ่น การจัดแสดงและจําหน่ายของดีจังหวัดซากะ
- กิจกรรมเวิร์กช็อปจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้แก่ การขึ้นรูปชิ้นงานจาน 3 ครั้งครั้งละ 4 รอบ ในวันที่ 25 กันยายนและ วันที่ 9 และ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และการเขียนสีใต้เคลือบ 3 ครั้งครั้งละ 4 รอบ ในวันที่ 6 และ 20 พฤศจิกายน และ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ผู้ร่วมกิจกรรมรอบละ 30 คน
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok