ถอดสูตร สีฝุ่นไทยโทน จากธรรมชาติ
- แม้สีจากเคมีจะง่ายต่อการใช้ แต่สำหรับงานอนุรักษ์ที่ต้องการคงเฉดสีแบบไทยโทนอย่างงานจิตรกรรมไทยโบราณกลับยังมีความต้องการใช้สีฝุ่นที่ผลิตจากธรรมชาติ ได้แก่ หิน ดิน พืช และสัตว์
- กว่าจะเป็นสีฝุ่นไทยโทนจากธรรมชาติได้นั้น ช่างทำสีต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจอย่างมาก บางสีใช้เวลานานหลายเดือน บ้างร่วมปีเพื่อสกัดเอาแร่ธาตุในหิน ทำการถ่ายน้ำถ่ายพิษ อีกทั้งแร่บางชนิดราคาสูงถึง 15,000-18,000 บาทต่อกิโลกรัม
“เก่ง” นพพล นุชิตประสิทธิชัย เป็นหนึ่งในไม่กี่คนของช่างศิลปะไทยที่ผลิตสีฝุ่นธรรมชาติจาก Pigment ของหิน ดิน พืช และสัตว์ เพื่อให้ได้เฉดสีแบบไทยโทนอย่างงานจิตรกรรมไทยโบราณ สีฝุ่นไทยโทน ของเขาภายใต้แบรนด์ กระยารงค์ ผลิตด้วยกระบวนการทำมือทุกขั้นตอนและได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงศิลปะไทยและกลุ่มนักอนุรักษ์อย่างกว้างขวาง สำนักช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากรยังเคยสั่งสีชาดของเก่งไปใช้ในการบูรณะพระราชยานคานหามเมื่อครั้งเตรียมการในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2560
เก่ง เปิดบ้านสวนของเขาย่านถนนพุทธมณฑลสาย 2 ที่ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสตูดิโอชื่อ Nop-Art-Studio ให้ Sarakadee Lite ได้เห็นขั้นตอนคร่าวๆ ว่ากว่าจะได้แต่ละสีนั้นต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจมากแค่ไหน บางสีใช้เวลานานหลายเดือนหรือร่วมปี การสกัดเอาแร่ธาตุในหินต้องผ่านกระบวนการตำมือด้วยครกศิลาและบดด้วยถ้วยบดเซรามิกให้เนื้อเนียนละเอียด ถ่ายน้ำเป็นร้อยๆ รอบเพื่อกรองเอาคราบฝุ่นและเศษผงอื่นๆ ออกให้หมด จากนั้นเกรอะให้เหลือเพียง Pigment แท้ของสีเท่านั้นก่อนจะนำไปตากแดดให้แห้ง บางสีต้องผ่านการถ่ายน้ำถ่ายพิษซึ่งต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เรียกว่าเป็น “งานหิน” ของแท้
หากได้เห็นกระบวนการทำงานว่ากว่าจะได้แต่ละสีไม่ใช่เรื่องง่าย และตัวหินบางชนิดเองที่เป็นกึ่งอัญมณีก็มีราคาแพงอยู่แล้ว จะไม่แปลกใจว่าทำไมสีฝุ่นบางเฉด เช่นสีครามที่เขาสกัดจากแร่อะซูไรต์ (Azurite) หรือแร่ลาพิสลาซูลี (Lapis Lazuli) จึงราคาสูงถึง 15,000-18,000 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนสีเขียวตังแชจากแร่มาลาไคต์ (Malachite) หรือจากสนิมทองแดงราคากิโลกรัมละ 7,000-8,000 บาท
แบรนด์ กระยารงค์ มี สีฝุ่น ครบตามสีหลักเบญจรงค์คือขาว เหลือง ดำ แดง เขียว(คราม) ซึ่งสามารถนำไปผสมแตกย่อยได้อีกเป็นร้อยๆ เฉด Sarakadee Lite ขอนำตัวอย่างวัสดุธรรมชาติของบางสีมาให้ชมกัน
สีครามจากแร่อะซูไรต์
เก่งหยิบหินมาก้อนหนึ่งที่มีทั้งแร่อะซูไรต์สีน้ำเงิน แร่มาลาไคต์สีเขียวและดินสีเหลืองปะปนกันไปหมด เพื่อให้ได้สีครามจากแร่อะซูไรต์ เขาต้องค่อยๆ สกัดเอาแต่แร่สีน้ำเงินออกโดยการตำด้วยมือด้วยครกศิลา และนำแร่ธาตุที่สกัดได้มาบดให้เนื้อเนียนละเอียดด้วยถ้วยเซรามิกสีขาว จากนั้นนำไปถ่ายน้ำเป็นร้อยๆ รอบเพื่อกรองเอาคราบฝุ่นและเศษผงอื่นๆ ออกให้หมด เกรอะให้เหลือเพียง Pigment แท้ของสีเท่านั้นก่อนจะนำไปตากแดดให้แห้ง ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาร่วมเดือนกว่าจะได้สีครามจากแร่อะซูไรต์
สีชาดจากแร่ซินนาบาร์
หนึ่งในสีที่ขายดีของแบรนด์กระยารงค์คือ สีชาดที่สกัดจากแร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) ราคากิโลกรัมละ 8,000 บาท แม้กระบวนการทำไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่าสีอื่นเพราะไม่ใช่แร่ที่มีความแข็งมาก แต่ตัวแร่เองมีราคาแพงและที่สำคัญคือต้องใช้เวลาบดนานกว่าจะได้เฉดสีตามต้องการ
“ช่างส่วนใหญ่จึงเลี่ยงที่จะไม่ทำ เพราะต้องใช้เวลาบดนานมากและมีเทคนิคการบดเฉพาะเพื่อให้ได้สีที่สด” เก่งอธิบาย
สีเขียวตังแชจากสนิมเขียวของทองแดง
แม้สีเขียวตังแชที่ได้จากสนิมเขียวของทองแดงเป็นสีที่ทำง่ายที่สุด แต่ต้องอดทนในการรอนานเป็นปี เก่งนำเส้นทองแดงที่ซื้อมาจากร้านรับซื้อของเก่ามาใส่ในโหลแก้วและใส่กรดเกลือเพื่อให้กัดทองแดงจนเป็นผง จากนั้นจึงค่อยผ่านกระบวนการล้างน้ำ กรองน้ำหลายร้อยรอบจนใสสะอาดและหมดความเค็ม
สีเขียวตังแชจากแร่มาลาไคต์
หากไม่อยากรอนานเป็นปีเพื่อให้ได้สีฝุ่นเฉดสีเขียวตังแชจากสนิมของทองแดง แร่มาลาไคต์สามารถสกัดเอา Pigment ให้สีเขียวตังแชได้ เก่งต้องสั่งหินที่มีแร่มาลาไคต์จากประเทศจีนซึ่งนำเข้ามาจากประเทศบราซิลอีกทอดหนึ่งและราคาสูงถึง 3,000-4,000 บาทต่อกิโลกรัม
สีเขียวใบแคจากใบแค
ในขณะที่หลายคนกล่าวว่าเฉดสีเขียวแบบใบแคนั้น ไม่ได้สกัดจากใบแคจริงๆ แต่เป็นแค่คำเปรียบเทียบเฉดสีเท่านั้น เพราะเมื่อนำใบแคมาบดจะได้สีเข้มเกือบดำ เก่งก็ยังเชื่อว่าเมื่อมีชื่อเรียกก็ต้องสกัดสีนั้นได้จริงจึงทดลองทำเรื่อยมาจนได้สูตรว่า
“กว่าจะได้เฉดสีเขียวแบบใบแคก็ต้องผสมสีเหลืองที่ได้จากการต้มไม้ ‘แกแล’ หรือบางคนเรียกว่า ‘เข’ ซึ่งแก่นของมันให้สีเหลืองสดและคนนิยมนำไปย้อมผ้า เมื่อสีเขียวเข้มจากใบแคเจอสีเหลืองของแกแลก็จะได้สีเขียวตามที่ต้องการ ใบแค 4 กระสอบเมื่อนำมาบดแล้วได้สีฝุ่นไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม” เก่งในวัย 29 ปีกล่าว
สีขาวจากเปลือกหอย ดินขาวและปูนขาว
ด้านนอกสตูดิโอมีเปลือกหอยหลายตันตากแห้ง เพื่อให้คลายความเค็มก่อนจะนำไปล้างและเกรอะน้ำจนจืด จากนั้นนำไปเผาและบดให้ละเอียดจะได้สีฝุ่นสีขาวที่ติดคงทน ส่วนสีขาวกระบังได้จากดินขาวที่เผาให้สุกแล้วบดละเอียด จากนั้นกรองและเอากากออกสีขาวปูนได้จากปูนขาวที่ต้องล้างให้คลายความเค็มแล้วเกรอะเอาแต่เนื้อปูนมาบดให้ละเอียด และกรองให้สะอาด นอกจากสีชาดแล้ว เฉดสีขาวเป็นอีกเฉดสีที่ขายดีที่สุด
สีเหลืองจากยางต้นรงทองและดิน
สีเหลืองสดได้จากยางของต้นรงทองและสีเหลืองดินจากดินในธรรมชาติ
สีดำจากหมึกและเขม่า
สีดำได้จากทั้งเขม่าก้นกระทะที่นำมาบดให้ละเอียด และจากหมึกดำธรรมชาติของจีน
เก่งยังคงหลงใหลในเสน่ห์ของสีฝุ่นที่ได้จากธรรมชาติที่เขาทำมากว่า 10 ปี ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาศิลปะที่วิทยาลัยเพาะช่าง ด้วยเหตุว่า “อยากรู้ อยากใช้และอยากทำให้เป็นของแท้ โดยไม่ใช้สารเคมี”
“แต่ละสีมีลักษณะเฉพาะตัวและมีประกายระยิบระยับในตัวเนื้อสี ค่าสีมีความเสถียรคือเวลาผ่านไปเฉดสีไม่เปลี่ยนและยังมีความคงทนอยู่ได้เป็นพันปีถ้าเก็บรักษาดี ๆ นอกจากนี้เฉดสียังออกนวลไม่จัดจ้านเหมือนสีเคมี และเมื่อหลายสีอยู่รวมกันในหนึ่งภาพแต่ละสีไม่ดร็อปและอยู่ร่วมกันได้ดี” เก่งอดีตอาจารย์สอนจิตรกรรมไทยที่วิทยาลัยในวังชาย กล่าวถึงความพิเศษของสีฝุ่นจากวัสดุธรรมชาติ
Fact File
ติดตามการสร้างสรรค์ สีฝุ่นไทยโทน จากธรรมชาติได้ที่ Facebook: กระยารงค์ by Nop-Art-Studio