คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง : ว่าด้วยการฟื้นประเทศจากซากสงครามสู่เสถียรภาพของการพัฒนา
Lite

คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง : ว่าด้วยการฟื้นประเทศจากซากสงครามสู่เสถียรภาพของการพัฒนา

Focus
  • คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง แปลจากต้นฉบับ Why the Germans Do it Better: Notes from a Grown – up Country โดย จอห์น แคมป์ฟเนอร์
  • จอห์น แคมป์ฟเนอร์ เป็นนักเขียนที่สนใจและศึกษาการเปลี่ยนแปลงในเยอรมนีตั้งแต่ ค.ศ.1949, 1968, 1989 เรื่อยมาถึงยุคสมัยใหม่ในช่วง ค.ศ. 2015

ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจไทยตกต่ำและมีปัญหาเสถียรภาพการเมืองอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ได้นำไปสู่คำถามที่น่ากังวลว่า “แล้วประเทศจะไปต่ออย่างไร” แน่นอนว่าหนทางการรื้อฟื้นประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญที่สุด และหลังจากนั้นคำถามข้างต้นจะปรากฏเพื่อควานหาจินตนาการถึง “ประเทศที่ดี” ที่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบการปกครองให้เลือกและพัฒนาต่อไป ไม่ว่าจะประชาธิปไตยในทุนนิยมกลไกตลาดเสรีไปจนถึงรัฐสวัสดิการ และถ้าหากจะคิดจินตนาการถึงคำถามอนาคต การได้อ่านบทเรียนด้านการพัฒนาประเทศของเหล่าโลกประเทศที่กำลังเดินก้าวหน้านั้นคงน่าสนใจไม่น้อย เช่นเดียวกับการพัฒนาเยอรมนีที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือ Why the Germans Do it Better: Notes from a Grown – up Country โดย จอห์น แคมป์ฟเนอร์ (John Kampfner) ฉบับแปลภาษาไทยโดย เจนจิรา เสรีโยธิน สำนักพิมพ์ Be(ing) ในชื่อว่า คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง อาจเป็นหนึ่งในคำตอบเบื้องต้นของการชวนคิดจินตนาการไปสู่อนาคตประเทศที่ดีกว่านี้ พร้อมทั้งต่อยอดคำถามถึงอนาคต…ถ้าการเมืองดีเราจะตัดสินใจผลักประเทศไปทางไหนและอย่างไร

ตื่นขึ้นจากบาดแผลหลังเถ้าสงครามและการฝ่ามหาวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า

คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง ผู้เขียนได้นำผู้อ่านไปสู่แนวคิดที่ประเทศเยอรมนีได้ตกผลึกจากการฝ่าวิกฤตใหญ่หลายต่อหลายครั้งตั้งแต่สงครามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการสถาปนารัฐธรรมนูญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำวิกฤตผู้ลี้ภัย ไปจนถึงการปูทางสู่ความคิดท้าทายสถานการณ์โรคระบาด และด้วยความที่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาดั้งเดิมในปี ค.ศ.2020 ทำให้สิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์หลังกำแพงเบอร์ลินสองฝั่ง แต่เนื้อหาค่อนข้างทันสมัยครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์หลังควันและความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครบตั้งแต่ภายใต้ภัยของมหาเผด็จการฮิตเลอร์มาจนถึงความท้าทายในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เขย่าโลก

จอห์นแคมป์ฟเนอร์ ศึกษาเจาะไปช่วง 4 ปีของการเปลี่ยนเยอรมนีตั้งแต่หลังสงครามถึงปัจจุบันแบ่งเนื้อหาออกเป็นช่วงสำคัญทั้งหมด 4 ช่วงนั่นคือค.ศ.1949, 1968, 1989 และ 2015 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญมากมายเกิดขึ้น เริ่มจากการประกอบสร้างเมืองใหม่จากเศษซากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945-1949 ช่วงนั้นได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างการอนุมัติ รัฐธรรมนูญกรุนด์เกเซทซ์ (Grundgesetz – Basic Law) ให้เป็นแม่บทการปกครองและเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม แม้รัฐธรรมนูญกรุนด์เกเซทซ์ต้องแก้ไขกว่า 60 ครั้ง แต่ในที่สุดระเบียบกลางนี้ก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จของฝ่ายประชาธิปไตยเสรีอันเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศเพื่อเป็นเยอรมนีสมัยใหม่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ต่อมาคือช่วงปี ค.ศ.1968 เยอรมนีระหว่างการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจก็เจอกับกลุ่มขบถที่พัฒนาไปจนเป็นกลุ่มก่อการร้ายบาเดอร์-ไมน์ฮอฟ (Baader-Meinhof) ซึ่งเป็นกองกำลังที่อันตรายตต่อรัฐบาลในขณะนั้นเพราะกลุ่มก่อการร้ายนี้ถือเป็นปัญหาความวุ่นวายครั้งใหญ่ตั้งแต่การระเบิดสังหารลักพาตัวปล้นธนาคาร ไปจนถึงขั้นทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้เยอรมนีในเวลานั้นเหมือนเข้าสู่วิกฤตความรุนแรงอีกครั้งแต่ในท้ายที่สุดกลุ่มขบถไม่อาจคว้าชัยทำให้รัฐบาลเยอรมนีที่จัดการปัญหานี้ได้พร้อมกลับมาฟื้นฟูประชาธิปไตยและความเชื่อมั่นให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

หลังจากภัยก่อการร้ายจบลงเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดตัดครั้งใหญ่ระหว่างอดีตกับแนวโน้มการพัฒนาเพื่อมาสู่เยอรมนียุคปัจจุบันอยู่ในปี ค.ศ. 1989 ถือว่าเป็นปีที่สำคัญมากที่สุดอีกครั้งเมื่อกำแพงเบอร์ลินที่ผ่ากั้นสองฝั่งอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ถูกทำลายลง ปิดฉากเขตแดนกั้นพื้นที่ทางความคิดระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับตะวันออกเยอรมนีได้หลอมรวมประเทศเพื่อก้าวหน้าต่อไปพร้อมลดความขัดแย้งภายในลงกว่าเดิม ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการก้าวต่อในการพัฒนาประเทศและการเลือกเส้นทางของการพัฒนาเศรษฐกิจ

และวิกฤตสุดท้ายใน 4 ปีสำคัญในมุมมองของ จอห์น แคมป์ฟเนอร์ คือช่วง ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นปีที่ทั้งโลกประสบปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ โดยเยอรมนีตัดสินใจเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยด้วยมนุษยธรรมซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลเองก็มีปัญหารายล้อมประเทศทั้งการข้องเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สินของกรีซ และการต่อต้านการเปิดรับผู้ลี้ภัยจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศเองถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดในโลกร่วมสมัยอีกครั้ง

เปรียบประเทศดั่งมวลมนุษยชาติในแนวคิดที่ไม่จำกัดพรมแดน

สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งนอกจากประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศคือการที่ จอห์นแคมป์ฟเนอร์ผู้เขียนพาเราสำรวจประเทศเยอรมนีผ่านทัศนคติของคนในประเทศที่เขาได้พบเจอ เช่นชาวเยอรมันหลายคนเข้าใจความหงุดหงิดนี้พวกเขาพยามยามให้คำอธิบายหรือข้อแก้ตัวข้อแรกคือ“ทุกประเทศก็มีอะไรพิลึกทั้งนั้นแหละ” หรืออย่างทัศนคติเกี่ยวกับความเหนื่อยหน่ายกับสงครามที่พบว่า “เราต้องมีกฎเพื่อคอยตรวจสอบตัวเอง” และอีกข้อที่น่าสนใจที่สุดคือแนวคิดต่อสังคมที่ว่า

“สังคมเยอรมันตั้งอยู่บนสำนึกของหน้าที่ต่อกันความพยายามร่วมกันและความเชื่อที่ว่าระเบียบกฎกติกาเป็นรากฐานนั้นมีประโยชน์”

3 ทัศนคติที่ จอห์น แคมป์ฟเนอร์ พบเป็นแนวคิดที่ใช้ได้ทั้งกับประเทศและน่าครุ่นคิดในมุมพื้นฐานแนวคิดส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดีตั้งแต่การเปิดใจยอมรับตนเองหรือการเข้าใจว่าบางครั้งบางเรื่องมีคุณสมบัติเฉพาะคล้ายกับสิ่งอื่นๆที่ก็มีเอกลักษณ์ในแบบของสิ่งนั้นและหมั่นตรวจสอบตนเองอยู่เสมอจนไปถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เชื่อในหน้าที่ต่อกัน และท้ายที่สุดกฎกติกาที่เป็นธรรมไม่ว่าจะต้องแก้ไขกี่สิบรอบเพื่อความยุติธรรมเหมือนรัฐธรรมนูญกรุนด์เกเซทซ์นั้นหากทำให้สังคมดีขึ้นได้ก็ย่อมคุ้มค่าต่อการครุ่นคิดและแก้ไข เพราะท้ายที่สุดสิ่งนี้จะเป็นรากฐานของสังคมและการเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคตของประเทศ

คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง เล่มนี้จึงสามารถอ่านเพื่อคิดจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่านี้ได้อ่านเพื่อเข้าใจวิกฤตและอ่านเพื่อนำแนวคิดต่าง ๆ มาอุปมาสู่ความคิดที่กว้างใหญ่กว่าเขตแดนประเทศเพราะการเปิดใจยอมรับการตรวจสอบตนเองและการอยู่ร่วมกันล้วนแต่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสากลทั้งในชีวิตสังคมครอบครัวประเทศและมวลมนุษยชาติใต้ฟ้าเดียวกันแห่งนี้

Fact File

  • คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง
  • John Kampfner (จอห์น แคมป์ฟเนอร์) เขียน
  • เจนจิรา เสรีโยธิน แปล
  • สำนักพิมพ์ Be(ing)
  • ราคา 359 บาท

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน