MYTHOS ย้อนสำรวจภูมิปัญญา “จักรวาลทวยเทพกรีก” ปลายปากกา สตีเฟน ฟราย
- MYTHOS เป็นหนังสือเล่าใหม่จากเรื่องปรัมปราเกี่ยวกับจักรวาลแห่งทวยเทพกรีกจากปลายปากกาของสตีเฟน ฟราย (Stephen Fry) นักเขียนอังกฤษผู้มากประสบการณ์ด้านการเล่าเรื่อง
- ความน่าสนใจของการเล่าตำนานเทพปกรณัมกรีกในรูปแบบของ MYTHOS คือการชวนผู้อ่านมาขบคิดประเด็นร่วมสมัยผ่านเรื่องราวปรัมปรา
- จุดเด่นในการเขียนของฉบับนี้คือการเปรียบเปรยนามธรรมให้เข้าใจได้ด้วยการอุปมาเป็นเรื่องใกล้ตัว
MYTHOS หนังสือเล่าใหม่จากเรื่องปรัมปราคลาสสิค (ในมุมมองใหม่) เกี่ยวกับจักรวาลแห่งทวยเทพกรีก ผลงานชิ้นโด่งดังจากปลายปากกาของ สตีเฟน ฟราย (Stephen Fry) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มากประสบการณ์ด้านการเล่าเรื่อง ทั้งในสายนักเขียน นักแสดง นักแสดงตลก ผู้กำกับ และนักเขียนบทภาพยนตร์รวมทั้งบทละครโทรทัศน์ที่สามารถเข้าถึงองค์ประกอบด้านอารมณ์ขัน สำหรับ MYTHOS สตีเฟน ฟราย เลือกที่จะเล่าเรื่องผ่านการผลิตตำนานเทพกรีกในโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบเฉพาะที่เจือความขบขันตามลายเซ็น สตีเฟน ฟราย ทว่าไม่ลืมที่จะใส่ความครุ่นคิดลงไปในลีลาเดียวกัน และนั่นจึงทำให้เรื่องราวเทพกรีกฉบับนี้มีสีสันและน่าสนใจอย่างมากเล่มหนึ่ง…ท่ามกลางหนังสือและสื่อที่พูดถึงประเด็นเทพกรีกที่มีอยู่มากมายในตลาด ณ เวลานี้
ทำไมเรื่องเทพเทวากรีกถึงน่าสนใจไม่เสื่อมคลาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเรื่องราวปรัมปราเกี่ยวกับเทพเทวากรีกได้รับการเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง บ่อยจนเหมือนว่าเรารู้จักคุ้นเคยกับเทพเจ้ากรีกเหล่านี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะในรูปแบบภาพยนตร์ ซีรีส์ เว็บไซต์ สื่อออนไลน์ และหนังสือต่าง ๆ มากมาย เช่น ภาพยนตร์ยอดนิยมอย่าง THOR โดยมาร์เวลสตูดิโอส์ หรือซีรีส์ Ragnarok จาก Netflix แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือ MYTHOS ของ สตีเฟน ฟราย กลายเป็นอีกหนังสือเทพเทวากรีกที่น่าจับตาไม่ได้มีเพียงอารมณ์ขันของเรื่องเล่า ทว่ายังเป็นการปูความรู้ด้านจักรวาลวิทยาของเทพปรณัมกรีกทั้งหมดอย่างกระชับ และชวนมองในมิติทางความคิดร่วมสมัยมากมาย เปรียบได้กับหนังสือขายดียอดนิยมแห่งยุคอย่าง Sapiens: A Brief History of Humankind ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ที่เล่าประวัติศาสตร์พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องทั่วไปหาได้ตามสารานุกรมเช่นเดียวกับเทพปกรณัมกรีก แต่ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักเขียนกลับมีไม้เด็ดอยู่ที่การเรียบเรียงเรื่องให้เข้าใจได้อย่างสอดคล้องกันตามทัศนะของผู้เขียน และยังดึงผู้อ่านให้ร่วมสังเกตเรื่องราวเหล่านั้นขนานไปกับชวนคิดเรื่องราวเก่าแก่ด้วยสายตาร่วมสมัยซึ่งเป็นสายตาที่ MYTHOS ใช้มองเรื่องคลาสสิกอย่างเทพกรีกเช่นกัน และสายตาของความร่วมสมัยนี่แหละที่ทำให้เรื่องเก่าๆ อย่างเทวาเทพกรีกยังคงความน่าสนใจไม่เสื่อมคลาย
ทั้งนี้หากการอ่านพัฒนาการของมนุษย์ Sapiens ทำให้เราเข้าใจที่มา เข้าใจการเดินทางผ่านจุดเปลี่ยนที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเราก้าวหน้ามาอย่างทุกวันนี้เพื่ออธิบายปัจจุบัน และยังชวนคิดถึงจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ว่าจะเดินหน้าด้วยการสร้างข้อต่อทางประวัติศาสตร์อย่างไรเพื่อเชื่อมอนาคต การอ่านเรื่องราวตำนานแห่งทวยเทพฉบับ สตีเฟน ฟราย นี้ก็ชวนคิดถึงกรอบความคิดและจินตนาการของมนุษย์ เพราะอย่าลืมว่าที่มาของภูมิปัญญาตะวันตกมากมาย หลายความรู้ของฝั่งตะวันตกล้วนพัฒนามาจากรากฐานวรรณกรรมตำนานเทพเจ้ากรีกทั้งสิ้น
การอ่านเรื่องราวตำนานเทพกรีก MYTHOS จึงเป็นการพาผู้อ่านเข้าร่วมกับแนวความคิดภูมิปัญญาที่สืบสายมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เช่น การตั้งข้อสงสัยกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความต้องการแสวงหาเหตุผลมาอธิบายอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่มนุษย์มี ความรู้ในการต่อต้านหรือครอบครองอำนาจในการปกครอง การตั้งคำถามเชิงปรัชญาว่าด้วยการมีอยู่ของสรรพสิ่งและอื่น ๆ ผ่านการอุปมาเป็นเรื่องเล่าเชิงวรรณกรรมหรือเรื่องเล่า
ใน MYTHOS สตีเฟน ฟราย ยังพาเราไปสงสัย อธิบายปรากฏการณ์ รวมทั้งชวนครุ่นคิดผ่านเรื่องเล่าที่แทรกมุกตลกเปรียบเปรยตามสไตล์ของเขาตลอดเล่ม เช่น เปรียบเทียบอธิบาย เอนโทรปี (Entropy) ชะตาที่เลี่ยงไม่ได้กับวัฏจักรที่เชื่อมโยงกับการกำเนิดจักรวาลอย่าง เคออส (Chaos) ด้วยเรื่องราวของการใส่ ถอด และทิ้งกางเกงใน การใช้มุกตลกแพรวพราวที่นำมาอธิบายเรื่องราวใหญ่โตให้อยู่ในชีวิตประจำวันอันเป็นลีลาสำคัญที่ สตีเฟน ฟราย ใช้เล่าเรื่องซับซ้อนเชิงนามธรรมให้ผู้อ่านเห็นถึงแนวคิดที่มาจากเรื่องเทพกรีก ดังนั้นหนังสือเล่าเรื่องเทพกรีกฉบับนี้จึงไม่เพียงเรียบเรียงหรือเล่าเหตุการณ์หรือเล่าถึงบุคคลต่างๆ แต่ยังเป็นการชวนวิเคราะห์ให้เข้าใจถึงแนวคิดในเรื่องราวเหล่านั้นอย่างเพลิดเพลินอีกด้วย
เมื่ออยากมีเหตุผลให้จักรวาล จึงอุปมาสร้างมหาเทพ
“ชาวกรีกโบราณมีความคิดที่ต่างไปจากชาวโลกปัจจุบัน คือ สรรพสิ่งมิได้ถือกำเนิดจากบิกแบง (Big Bang) แต่เกิดจากเคออส(Chaos) หรือความยุ่งเหยิง”
“เคออสคือพระเจ้าหรือเทพเจ้า หรืออย่างไร หรือเป็นเพียงสภาวะไร้รูป หรือเป็น ‘เคออส’ อย่างที่เราเรียกกันทั่วไป หรือเป็นความโกลาหลวุ่นวายราวกับห้องนอนรก ๆ ของวัยรุ่นแต่รุงรังยิ่งกว่า”
สตีเฟน ฟราย อธิบาย เคออส ที่ให้กำเนิดสรรพสิ่งอย่างมีมิติและนำพาเคออสในเรื่องราวของการกำเนิดสรรพสิ่งสู่คำถามเชิงปรัชญาและภาษา ว่า เราจะเข้าใจสิ่งหนึ่งผ่านอะไรได้บ้างและเมื่อเราเข้าใจสิ่งนั้นแล้วจะนำไปสู่ความรู้แบบไหน เช่น หากเราเข้าใจในฐานะเทพเจ้า เรามีจินตนาการแบบไหนต่อ หรือหากไม่มีรูปกายเป็นนามธรรม เราจะเข้าใจผ่านการเปรียบเปรยกับห้องนอนรก ๆ ได้หรือไม่และชัดพอไหมที่จะเข้าใจความโกลาหล ดังนั้นจึงกลับไปสู่คำอธิบายในเรื่องราวตำนานโลกเกิดจากเคออส หรือว่าความโกลาหลคือผู้ปั้นโลกแบบพระเจ้าผู้สร้าง หรือเป็นลักษณะทางนามธรรมที่สถิตสร้างโลกโดยอยู่ในสรรพสิ่งต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติของความโกลาหลความวุ่นวาย ความคาดเดาไม่ได้แบบสุ่ม หรืออื่น ๆ ที่เรามักเห็นได้ในประวัติศาสตร์โลกที่หลายสิ่งดูเหมือนจะเหนือการควบคุมและโกลาหลในแบบของสิ่งนั้น
การทำความเข้าใจกำเนิดสรรพสิ่งผ่านนามธรรม ทำให้เกิดคำถามครุ่นคิดจนไม่น่าแปลกใจนักที่สังคมกรีกนอกตำนานจะเต็มไปด้วยนักปรัชญาและความรุ่งเรืองของปัญญาที่มักครุ่นคิดกับคำถามอันซับซ้อน โกลาหล และหาคำตอบที่แปลกใหม่กว่าตาเห็นอยู่เสมอ การให้เหตุผลกับสิ่งต่าง ๆ จึงไม่เพียงหาเป้าหมายในการอธิบายสิ่งนั้น แต่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาที่ใช้ในการเข้าใจสิ่งที่เหนือไปจากประสาทสัมผัส ซึ่งเราจะเห็นได้จากการพยายามเข้าใจธรรมชาติ จักรวาล อารมณ์ความรู้สึก โดยในหนังสือเล่มนี้ได้ยกการอุปมาและตั้งคำถามว่าหากตัวละครต่าง ๆ ไม่ใช่ร่างกาย แต่เป็นนามธรรมบางอย่างที่ประกอบกัน เราจะเข้าใจเรื่องราวรอบตัวในฐานะสิ่งอุปมาได้อย่างไรบ้าง การทดแทนความไม่เข้าใจด้วยเหตุผลหลาย ๆ แบบนี้จึงเป็นการพยายามหาความเป็นไปได้อยู่เสมอและสิ่งนี้อยู่ในทั้งตำนานปกรณัมปรัชญาและหนังสือเล่มนี้
MYTHOS ของ สตีเฟน ฟราย จึงแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการย้อนอ่านเรื่องเก่าด้วยมุมมองใหม่และเล่าออกมาด้วยความถนัดและทักษะการเล่าเรื่องเฉพาะตนเองผสมมุกตลกและการส่งทอดแรงบันดาลใจทางปัญญาแบบเดียวกับที่ตำนานกรีกฉบับต่าง ๆ ทำมาตลอด สามารถสังเกตได้จากทฤษฎีหรือปรัชญามากมายจากโลกตะวันตกก็มักมีที่มาจากการอุปมาตำนานเทพกรีกหลายเรื่อง เช่น การหลงตัวเองแบบนาซิสซัส (Narcissism) ทฤษฎีคำอธิบายอาการทางจิตเกี่ยวกับผู้ที่ลุ่มหลงในตนเองและปมเอดิปัส (Oedipus complex) ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ หรือจะเป็นการเปรียบเปรยความบากบั่นไร้เหตุผลของชีวิตกับ ตำนานซิซีฟัส (The Myth of Sisyphus) ในงานเขียนของ อาลแบร์ กามูว์ (Albert Camus) นักปรัชญาผู้เสนอแนวคิดความไร้เหตุผลของชีวิต เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะสามารถมองเห็นได้ว่า นิทานไม่ใช่เพียงเรื่องกล่อมนอน ตำนานไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวเพลิดเพลินหรือการส่งต่อยุคสมัยเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องราว วรรณกรรม และตำนานต่างก็เป็นต้นธารแห่งปัญญาและแรงบันดาลใจทางการแสวงหาความรู้อย่างไม่สิ้นสุดในจักรวาลแสนโกลาหลที่พวกเราอาศัยอยู่
FACT FILE
- MYTHOS เล่าขานตำนานเทพกรีก
- เขียนโดย : สตีเฟน ฟราย
- แปลโดย : อรสิริ พลเดช และ พรวิภา วัฒรัชนากูล
- สำนักพิมพ์สารคดี (facebook.com/sarakadeepress)
- ราคา 499 บาท