เกร็ดประวัติศาสตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ ผ่าน 4 เซเลบชื่อดังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- ภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ ภาคต่อหลังจากครองรักกันอย่างหวานชื่นจนตายจากเมื่อครั้งสมัยอยุธยา พี่หมื่นและแม่หญิงการะเกดก็ได้กลับมาเกิดใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กำกับการแสดงโดย อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
- ใน บุพเพสันนิวาส ๒ ผู้ชมจะได้พบกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็น สุนทรภู่ กวีเอกของโลก, หมอบรัดเลย์ บิดาแห่งการพิมพ์, บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ผู้นำกล้องถ่ายรูปเข้ามาในประเทศเป็นคนแรก และนายห้างหันแตร เจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย และยังเป็นผู้นำเรือกลไฟ “เอ็กสเปรส” มาเสนอขายแก่สยาม
ตามรอยตำนานรักข้ามภพบทใหม่ใน บุพเพสันนิวาส ๒ ที่นอกจากจะลุ้น ฮา น่ารักแล้วก็ยังได้สาระแน่นๆ กับ 4 เซเลบชื่อดังแห่งกรงุรัตนโกสินทร์ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ส่วนจะมีใครบ้างนั้น และแต่ละคนมีส่วนสำคัญต่อประวัติศาสตร์สยามอย่างไร Sarakadee Lite นำเกร็ดกรุบกริบรู้ไว้ก่อนดู บุพเพสันนิวาส ๒ มาฝากกัน
01 “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งยุคผู้ไม่เคยเมาเหล้าแต่เมารัก
สุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเช็กสเปียร์แห่งสยาม โดยใน บุพเพสันนิวาส ๒ สุนทรภู่คือรุ่นพี่คนสนิทที่เป็นที่ปรึกษาปัญหาหัวใจให้ ภพ (รับบทโดย โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) ด้วยความที่แต่งนิทานคำกลอนมาจนช่ำชอง จึงมีมุมมองในเรื่องความรักที่เฉียบคม เมื่อภพมีปัญหาจึงมักนึกถึง “อาภู่” เป็นคนแรก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องรักที่ไม่คล้องจอง จนต้องขอให้อาภู่จัดสักกลอนมาคล้องใจ
สำหรับสุนทรภู่ฉบับประวัติศาสตร์นั้นเขาอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำแห่งพระนครยุคต้นรัตนโกสินทร์ เป็นข้าราชการในกรมพระอาลักษณ์ทั้งยังเป็นนักปราชญ์ที่รับใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ เป็นครูสอนหนังสือของเจ้านายเยาว์วัยในวัง เป็นยอดกวีเอกที่ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาด้านกาพย์กลอนในราชสำนัก แม้ชีวิตมีจังหวะตกอับ แต่อย่างไรก็ไม่ถึงกับต้องแต่งกลอนขายกิน ไม่นับรวมว่ายุคนั้นคนไทยอ่านออกเขียนได้กันน้อยนัก นั่นจึงทำให้นามสุนทรภู่โดดเด่น และมีผลงานที่อยู่ยงข้ามกาลเวลากับเนื้อหาที่ถือว่าล้ำยุคสมัยในยุคนั้น เขียนเรื่องราววิถีชีวิต ความรัก ความคิดถึง ตำนานเรื่องเล่าผ่านรูปแบบกลอนแปดอันไพเราะด้วยจังหวะเสียงสูงต่ำและคำสัมผัส จนถึงกับยกย่องกันว่าเป็นกลอนแปดแบบใหม่ที่สุนทรภู่เป็นผู้สร้างขึ้น
02 “หมอบลัดเลย์” ปลูกฝีครั้งแรกในสยาม
นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือ หมอบลัดเลย์ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 พร้อมเหล่ามิชชันนารี เขาได้ก่อตั้งโรงพิมพ์และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์ภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2382 พร้อมก่อตั้งกิจการหนังสือพิมพ์และโรงพิมพ์ การออกหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม และสั่งซื้อแท่นพิมพ์เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ มา ตรงกับช่วงเวลาหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบอร์นี และสยามประเทศอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี เทคนิควิทยาการ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ เครื่องจักรไอน้ำ และสิ่งประดิษฐ์นานาชนิดจากตะวันตกที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา โดยเฉพาะความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ที่หมอบลัดเลย์นำเข้ามา ได้เข้ามาสั่นคลอนรากฐานความรู้และคติความเชื่อเดิมของสังคมไทย นอกจากนั้น บางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยของหมอบลัดเลย์ ยังได้นำเอาวิธีการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้นเข้ามาด้วย
อีกผลงานสำคัญของหมอบลัดเลย์คือการปลูกฝีครั้งแรกในสยาม เป็นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษในสยาม เกิดจากคำถามของ เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งถามหมอบรัดเลย์เมื่อแรกพบกันว่า หมอบรัดเลย์สามารถรักษาไข้ทรพิษได้ไหม เพราะในตอนนั้นเป็นที่รู้กันว่าหมอบรัดเลย์และเหล่ามิชชันนารีอเมริกัน ต่างนำความรู้และการรักษาโรคตามศาสตร์การแพทย์ตะวันตกเข้ามาในสยาม ซึ่งมีการระบาดของโรคไข้ทรพิษชุกชุม และหลังจากคำถามนั้นก็ทำให้หมอบรัดเลย์ศึกษาวิธีการรักษาไข้ทรพิษอย่างจริงจังจนเป็นที่มาของการปลูกฝี สร้างภูมิคุ้มกันไข้ทรพิษ ซึ่งไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน
03 “หันแตร” เจ้าของห้างแห่งแรกในสยาม
นายห้างหันแตร หรือ หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช หรือชื่อเดิม โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสกอต และเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้ง ร้านค้าในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2367 ในรูปแบบที่คล้ายห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมๆ มีสินค้าจากยุโรปมาจำหน่าย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 โรเบิร์ต ฮันเตอร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช หลังจากเหตุการณ์ทูลเกล้าฯ ถวายปืนคาบศิลาจำนวน 1,000 กระบอก ซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงให้ฝั่งสยามซึ่งขณะนั้นกำลังมีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์
ด้วยความที่คนไทยยังไม่คุ้นชินกับภาษาต่างชาติทำให้เรียกชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็น “นายหันแตร” และเรียกชื่อห้างของโรเบิร์ต ว่า “ห้างหันแตร” หรือในภาษาอังกฤษคือ The British Factory ถือได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่มีสินค้าแปลกใหม่จากยุโรปมาขาย เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของชาวพระนคร รวมทั้งยังเป็นผู้นำเรือกลไฟ “เอ็กสเปรส” มาเสนอขายแก่สยามจนนำมาซึ่งเรื่องราวสำคัญในภาพยนตร์ที่อาจทำให้ประวัติศาสตร์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกิดการเปลี่ยนแปลง
มากกว่าเรื่องการค้าชื่อของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ยังถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับแฝดสยาม “อิน-จัน” ผู้บุกเบิกสายสัมพันธ์ไทย-อเมริกา โดยตอนอิน-จัน อายุได้เพียง 8 ขวบ พ่อของเขาก็มาเสียชีวิตลง อิน-จัน ต้องช่วยแม่ทำงานในไร่สวนเยี่ยงคนปกติ แต่ชีวิตก็มาพลิกผันเมื่อพ่อค้าชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เดินเรือมาพบทั้งคู่กำลังเล่นน้ำอยู่ในคลองอย่างเด็กปกติ เขาจึงขอรับอิน-จัน มาเลี้ยงดู โดยให้เงินจำนวนหนึ่งกับผู้เป็นแม่ และเมื่ออิน-จัน อายุได้ 18 ปี ก็พาเดินทางออกจากสยามไปยังอเมริกา ทั้งคู่ตระเวนออกโชว์ตัวในคณะละครสัตว์จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวต่างชาติในนาม Siamese Twins
04 “ปาลเลอกัวซ์” บาทหลวงชาวฝรั่งเศส
“ปาลเลอกัวซ์” หรือ “สังฆราช ฌอง แบปติสต์ ปาลเลอกัวซ์” (Bishop Jean-Baptiste Pallegoix) เป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 และพำนักอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และที่สำคัญคือการถ่ายภาพ ถือเป็นบุคคลแรกที่สั่งซื้อกล้องถ่ายรูป แบบดาแกร์โรไทพ์ (Daguerreotype) จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในกรุงสยาม โดยกล้องถ่ายรูปเข้ามาในสยามเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2388 และสังฆราชปาลเลอกัวซ์ก็ถือเป็นช่างภาพคนแรกของสยามเลยก็ว่าได้โดยภาพที่ถ่ายส่วนใหญ่จะเป็นภาพวัด ทิวทัศน์ และมีภาพวิถีชีวิตผู้คนอยู่บ้างแต่น้อย ทว่ากลับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่บอกเล่าถึงสยามประเทศในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี
Fact File
บุพเพสันนิวาส ๒ ภาพยนตร์รักแอ็กชันคอมเมดี้ดัดแปลงจากละครโทรทัศน์บุพเพสันนิวาส (2561) กำกับโดย อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม นำแสดงโดย โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เบลล่า-ราณี แคมเปน เป็นผลงานร่วมทุนสร้างระหว่าง GDH และ บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด
ชมตัวอย่างภาพยนตร์