อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ศิลปินที่ใช้เส้นผมและการถักโครเชต์มองสังคมและชายแดนใต้
Arts & Culture

อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ศิลปินที่ใช้เส้นผมและการถักโครเชต์มองสังคมและชายแดนใต้

Focus
  • (UN)SEEN เป็นนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ที่ 1Projects แกลเลอรี ศิลปินใช้เส้นผมซึ่งได้รับบริจาคจากคนทั่วประเทศมาถักโครเชต์ผสมกับเทคนิคภาพถ่ายเพื่อสื่อถึงมุมมองของตัวเองในนามคนนอกและผู้รับสารผ่านสื่อเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • อิ่มหทัยใช้เส้นผมที่หลุดร่วงตามธรรมชาติทั้งของตัวเอง ของบุคคลในครอบครัวและคนอื่นๆ มาสร้างสรรค์งานศิลปะที่โดดเด่นด้วยการใช้เทคนิคการถักโครเชต์จนกลายเป็นซิกเนเจอร์มากว่า 15 ปี
  • ศิลปินเลือกใช้เส้นผมเป็นวัสดุหลักเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ความเสื่อมสลาย และวัฏจักรของชีวิต

เป็นเวลากว่า 15 ปีที่ อิ่ม อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ใช้เส้นผมเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์งานศิลปะผสมกับเทคนิคการถักโครเชต์ โดยเริ่มจากเส้นผมของพ่อ ต่อมาเป็นของตัวเอง จากนั้นขยายไปสู่เส้นผมของผู้ป่วยโรคมะเร็งและกลุ่มผู้หญิงให้บริการทางเพศ เพื่อสะท้อนทั้งจังหวะชีวิตในแต่ละช่วงของศิลปินเองและปัญหาของสังคม

อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์
ภาพถ่ายมัสยิดกรือเซะ ถ่ายโดยใช้เส้นผมที่ถักด้วยโครเชต์เป็นโฟร์กราวด์และให้ภาพซ้ายขวามีจุดโฟกัสต่างกันในนิทรรศการ (UN)SEEN

นิทรรศการเดี่ยวชุดล่าสุด (UN)SEEN ที่ 1Projects แกลเลอรี ในซอยเจริญกรุง 28 กรุงเทพฯ อิ่มได้ใช้วัสดุและเทคนิคที่เป็นซิกเนเจอร์ของเธอผสมกับภาพถ่ายเพื่อสะท้อนสิ่งที่เธอรับรู้เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บนผนังสีขาวในห้องนิทรรศการขนาดย่อมจัดแสดงภาพถ่าย 4 คู่ ในกล่องไฟทรงกลมซึ่งจัดวางให้มีลักษณะคล้ายเลนส์แว่นตา

อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์
ห้องแสดงนิทรรศการที่ 1Projects แกลเลอรี

อิ่มเล่นกับ “การมองผ่านเลนส์” และ “จุดโฟกัส” ในการถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดมุมมองของตัวเองที่ไม่ใช่คนในพื้นที่และรับรู้เรื่องราวของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะของ “ผู้รับสารผ่านสื่อ” เท่านั้น ภาพถ่ายที่จัดแสดงเป็นคู่เปรียบเสมือนเลนส์ซ้ายและเลนส์ขวาที่มองวัตถุชนิดเดียวกันแต่โฟกัสภาพต่างกัน

มองผ่านเลนส์ของคนนอกและผู้รับสารผ่านสื่อ

อิ่มเลือกถ่ายภาพสถานที่สำคัญ 4 แห่งในจังหวัดปัตตานี ภาพคู่แรกเป็นภาพหลังคาบ้านของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ผู้มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิของชาวไทยมุสลิมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และหายสาบสูญไปพร้อมกับบุตรชายและผู้ติดตามตั้งแต่ พ.ศ.2497 ส่วนอีก 3 ภาพเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา คือ มัสยิดกรือเซะ วัดช้างไห้ และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เพื่อสื่อถึงชาวไทยมุสลิม ชาวไทยพุทธ และไทยจีน ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่

อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์
ภาพบ้านของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา

สำหรับภาพแต่ละคู่นั้นจะถ่ายผ่านเส้นผมที่อิ่มถักเป็นลายดอยลี (doily) ซึ่งเป็นแพตเทิร์นพื้นฐานของการถักโครเชต์ โดยมีจุดโฟกัสภาพต่างกัน ภาพด้านซ้ายจะโฟกัสเลนส์ให้เห็นลายที่ถักจากเส้นผมซึ่งเป็นโฟร์กราวด์ชัดและสถานที่ที่เป็นแบ็กกราวด์เบลอ ในทางตรงกันข้ามภาพด้านขวาปรับโฟกัสให้แบ็กกราวด์ที่เป็นสถานที่ชัดและเส้นผมเบลอ 

อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ปัตตานี

“การจัดวางภาพซ้ายขวาเพื่อให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเลนส์แว่นตา ที่แม้จะมอง Object เดียวกัน แต่เมื่อใช้เลนส์และการปรับโฟกัสที่ต่างกัน ภาพที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน ภาพสถานที่ทั้ง 4 แห่ง อิ่มจงใจเลือกถ่ายแค่บางมุมของสถานที่ เช่นหลังคาบ้านของหะยีสุหลง หรือบางส่วนของเจดีย์ในวัดช้างไห้ แทนที่จะเห็นสถานที่ทั้งหมด เราในฐานะคนที่รู้เรื่องราวของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ผ่านสื่อ 100% เพราะไม่ใช่คนในพื้นที่และไม่มีญาติอยู่ที่นั่นเลยจึงควรถอยออกมาและมองอย่างคนที่ไม่ได้รู้อะไรทั้งหมด สิ่งที่เรารู้อาจจะเป็นความจริงแค่บางส่วน” อิ่ม ศิษย์เก่าและอดีตอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงงานชุดล่าสุดที่จัดแสดงถึงวันที่ 15 มีนาคมนี้

เส้นผมที่ใช้ถักโครเชต์เป็นลายดอยลี

ภาพถ่ายพิมพ์ลงบนกระดาษดูราแทรน (Duratrans) ที่เป็นวัสดุโปร่งแสง ทนความร้อนและกระจายแสงจากกล่องไฟ หรือ Light box ได้ดี จึงนิยมใช้ในงานโฆษณาสินค้า อิ่มเลือกใช้เทคนิคและการนำเสนอเหมือนสื่อโฆษณา เพื่อเล่นกับคำว่า “สื่อ” ว่านี่คือสิ่งที่เธอรับรู้ผ่านสื่อ ส่วนแพตเทิร์นการถักโครเชต์เป็นลายดอยลี ซึ่งเป็นลายพื้นฐานทรงเรขาคณิตโดยการถักจะเริ่มจากจุดศูนย์กลางและแผ่ขยายลายออกเป็นวงกว้างจากการคำนวณอย่างเป็นสัดส่วน เส้นผมที่เธอถักได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย

“ลายมีความคล้ายกับบางลายที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมของศาสนาอิสลาม จึงหยิบมาเชื่อมโยงกับงานชุดนี้” เธอกล่าว

เส้นผมที่ถักทอเรื่องราว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นิทรรศการ (UN)SEEN เป็นผลงานต่อเนื่องจากโปรเจกต์ของมูลนิธิพระดาบส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ชวนศิลปินจากสาขาวรรณกรรม ดนตรี ภาพถ่ายและวิจิตรศิลป์ มาสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อิ่มซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินรับเชิญจึงประกาศขอบริจาคเส้นผมผ่านทาง Facebook ของเธอและได้เส้นผมจำนวนมากส่งมาจากคนทั่วประเทศ และได้ลงไปที่ปัตตานีเพื่อเก็บภาพถ่ายสถานที่สำคัญๆ

อิ่มหทัยใช้การถักเส้นผมด้วยโครเชต์เป็นซิกเนเจอร์ในงานศิลปะของเธอมากว่า 15 ปี

“ตอนลงพื้นที่ 2 รอบ ครั้งละ 3-5 วัน เราอยากพูดคุยกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงหรือผู้ประสบเหตุ แต่การจะ walk-in ไปเจอใครไม่ใช่ง่ายๆ เราจึงได้แค่คุยกับชาวบ้านทั่วไปและศิลปินในพื้นที่ และทุกครั้งที่ลงไปก็จะมีทหารคอยดูแลตลอด เราจึงทำงานในฐานะของผู้เสพสื่อ”

ผลงานที่แสดงในนิทรรศการหนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้อง: ศิลปะเพื่อก้าวข้ามความไม่รู้เมื่อปีพ..2560

ผลงานของศิลปินที่ร่วมในโปรเจกต์ของมูลนิธิพระดาบส ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่มชื่อ “หนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้อง: ศิลปะเพื่อก้าวข้ามความไม่รู้” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2560 ในครั้งนั้นอิ่มจัดแสดงผลงานภาพถ่าย 2 ชุด ชุดแรกเป็นภาพถ่ายเดียวกับชุดในนิทรรศการล่าสุด แต่พิมพ์ลงบนกระดาษฟิล์มธรรมดาและใส่เมาท์เป็นรูปทรงกลมก่อนเข้ากรอบรูปทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งแตกต่างจากที่จัดแสดงใน (UN)SEEN ที่พิมพ์ใหม่ลงบนกระดาษดูราแทรนและจัดแสดงผ่านกล่องไฟ ชุดที่สองเป็นภาพถ่ายพอร์ตเทรตของผู้คนในปัตตานี โดยอิ่มให้แต่ละคนสวมแว่นตาที่เธอถักเส้นผมแทนที่เลนส์แว่น

หนึ่งในภาพภ่ายพอร์ตเทรตของผู้คนในปัตตานี
ที่ศิลปินให้สวมแว่นตาที่เธอถักเส้นผมแทนที่เลนส์แว่น

“เส้นผมเป็นสิ่งที่มาจากคนและยังนำมาต่อยอดทำงานได้อีกเยอะ หลายคนอาจจะมองว่าอิ่มทำงานแบบซ้ำๆ แต่จริงๆ อิ่มพยายามทดลองเทคนิคใหม่ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเอามารวมกับงานภาพถ่าย จิตรกรรม ประติมากรรม หรือแม้แต่งาน performance เราอยากใช้เส้นผมสื่อสารกับคนตลอดไป เพื่อเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์และแง่มุมต่างๆ” อิ่มวัย 39 ปี กล่าว

จากเลือดเนื้อของพ่อก่อร่างเป็นงานศิลปะเฉพาะตัว

เส้นผมสำหรับอิ่ม หมายถึงเลือดเนื้อและชีวิตโดยมีจุดเริ่มต้นจากพ่อ พ่อของอิ่มเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งเมื่อปี พ.ศ. 2546 ก็เริ่มไว้ผมยาวและเมื่อยาวจนถึงระดับเอว เขาถักผมเปียเป็น 4 เส้นและแบ่งให้ลูกสาว 4 คน อิ่มเล่าว่า พ่อบอกว่าพ่อไม่ใช่คนร่ำรวย ดังนั้นสิ่งที่พ่อให้ได้คือการศึกษาและเส้นผมที่เกิดจากร่างกายและเลือดเนื้อของพ่อ เพื่อเป็นตัวแทนยามเขาจากโลกนี้ไปแล้ว

ผมเปียของพ่อนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ DNA เมื่อปีพ.. 2550

ในนิทรรศการ DNA เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ White Space Gallery อิ่มจึงนำผมเปียของพ่อที่เธอได้รับมาวางลงบนหนังสติ๊กไม้ 3 อันที่พ่อทำเอง พร้อมกับรูปถ่ายขาวดำขณะที่อิ่มกำลังถักผมเปียให้พ่อ เธอยังเก็บหมอนที่พ่อใช้หนุนในขณะรักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลและใช้เส้นผมที่ร่วงของตัวเองถักเป็นปลอกหมอนและนำมาจัดแสดงในครั้งนั้นด้วยเพื่อสื่อถึงสายใยในครอบครัว การพลัดพราก และการระลึกถึง

อิ่มใช้เส้นผมที่ร่วงของตัวเองถักเป็นปลอกหมอนที่พ่อใช้ขณะรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาล
และนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ
DNA

จากงานศิลปะที่สะท้อนชีวิตส่วนตัว งานจากเส้นผมของอิ่มเริ่มขยับมาเกี่ยวเนื่องกับสังคมมากขึ้น ในนิทรรศการ Hair for Hope ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2555 เธอใช้เส้นผมที่ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับเคมีบำบัดมาถักโครเชต์เป็นรูปผีเสื้อ เพื่อสื่อให้เห็นว่าเส้นผมที่หลุดร่วงตายไปสามารถนำมาถักทอเกิดใหม่เป็นสิ่งสวยงาม รูปผีเสื้อจึงเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและรายได้จากการขายผลงานเธอมอบให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

บันทึกช่วงจังหวะชีวิตผ่านเส้นผมที่สะท้อนถึงวัฏจักรของชีวิต

รูปปั้นขนาดครึ่งตัวของศิลปินโดยคลุมใบหน้าด้วยเส้นผมถักเป็นตาข่าย
ในนิทรรศการ
ออกเรือน..2557

เส้นผมยังมีบทบาทสำคัญในการบันทึกแต่ละช่วงชีวิตของตัวเอง เมื่ออิ่มต้อง “ออกเรือน” ไปสร้างครอบครัวของตัวเองกับคนรัก เธอจึงตั้งคำถามถึงชีวิตบทใหม่ของตัวเองและขนบธรรมเนียมประเพณีการแต่งงานในนิทรรศการชื่อ “ออกเรือน: Rebirth” ที่จัดแสดงที่นำทองแกลเลอรี เมื่อปี พ.ศ. 2557 ไฮไลต์ของงานชุดนั้นคือรูปปั้นขนาดครึ่งตัวของเธอเองโดยใบหน้าถูกคลุมด้วยเส้นผมถักเป็นตาข่าย บนศีรษะของรูปปั้นประดับด้วยงานเป่าแก้วเป็นรูปทรงเชิงกรานของผู้หญิงและคลุมด้วยตาข่ายเส้นผมเช่นกัน

น้ำหอมเป็นหนึ่งผลงานในนิทรรศการเรือนสามน้ำสี่เมื่อปีพ.. 2560

ต่อเนื่องมาสู่นิทรรศการ “เรือนสามน้ำสี่” เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่นำทองแกลเลอรี อิ่มพูดถึงบทบาทของผู้หญิงที่ต้องบาลานซ์หน้าที่ทั้งการทำงาน และเป็นทั้งภรรยาและแม่บ้านที่ดี ชื่อนิทรรศการมาจากคำสอนวิธีการครองเรือนของคนโบราณ แต่ศิลปินนำมาตีความใหม่ว่า เรือนสามได้แก่ เรือนกาย เรือนครัว เรือนนอน ส่วนน้ำสี่ได้แก่ น้ำคำ น้ำหอม น้ำเงิน และน้ำ และสร้างงานศิลปะสะท้อนความหมายของทั้ง 7 คำนี้ เช่นคำว่า “น้ำหอม” อิ่มเลือกใช้ขวดน้ำหอมบรรจุน้ำหอมกลิ่นกุหลาบสีชมพูมาถักหุ้มด้วยตาข่ายเส้นผมผสมกับเส้นผมที่ปล่อยให้ยาวสยายซึ่งดูสวยและน่าสะพรึงไปพร้อมกัน

“No More Sewing Machine” ในมหกรรมศิลปะ Bangkok Art Biennale พ.. 2561

อิ่มเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะ Bangkok Art Biennale เมื่อปี พ.ศ. 2561 เธอได้ร่วมงานกับมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ที่เชียงใหม่ เป็นองค์การพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมโอกาสด้านต่างๆ ให้กับผู้หญิงที่ทำงานในสถานบริการ โดยอิ่มถอดชิ้นส่วนจำนวน 174 ชิ้นของจักรเย็บผ้าตัวหนึ่งที่มีผู้บริจาคให้มูลนิธิ และถักหุ้มแต่ละชิ้นส่วนด้วยเส้นผมที่ได้รับบริจาคจากหญิงให้บริการทางเพศ จากนั้นนำมาจัดเรียงใหม่ตามไดอะแกรมของจักรเย็บผ้าและจัดแสดงในตู้กระจกใสและตั้งชื่อว่า “No More Sewing Machine” (ไม่เอาจักรเย็บผ้าแล้ว) เนื่องจากเธอพบว่ามีคนบริจาคจักรเย็บผ้าให้กับมูลนิธิเยอะมากเพราะคิดว่าหากหญิงให้บริการต้องการเลิกอาชีพ อาชีพเย็บเสื้อผ้าน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ความจริงนั่นไม่ใช่อาชีพที่เขาเลือก ทำให้มีจักรเย็บผ้าจำนวนมากที่ไม่ได้นำไปใช้งาน

อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์

เส้นผมที่อิ่มนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะล้วนมาจากเส้นผมที่ร่วงตามธรรมชาติ ไม่ใช่เส้นผมที่ได้จากการตัดผม

“อิ่มชอบวัสดุที่เป็นธรรมชาติ มีความเปราะบาง มีความเสื่อมสลาย สะท้อนให้เห็นการเกิดและการตาย” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันอิ่มย้ายจากกรุงเทพฯ กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่บ้านเกิด อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และสร้างสตูดิโอเล็กๆ ชื่อ “ในนา สตูดิโอ” ที่โอบล้อมด้วยทุ่งนาและสวน และมีเพื่อนศิลปินและนักเรียนศิลปะแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ

** ภาพ: แกลเลอรี 1Projects และ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์

Fact File

  • นิทรรศการ (UN)SEEN ที่แกลเลอรี 1Projects ในซอยเจริญกรุง 28 กรุงเทพฯ จัดแสดงถึงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563
  • แกลเลอรีเปิดเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 13.00-19.00 น. (วันอื่นต้องนัดหมายล่วงหน้า) โทรศัพท์  08-1699-5298 หรือ www.1projects.org

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ