เปิดคฤหาสน์ 119 ปี บ้านพระพิทักษ์ชินประชา ให้เข้าพักแบบเอ็กซ์คลูซีฟครั้งแรกในรอบ 50 ปี
Lite

เปิดคฤหาสน์ 119 ปี บ้านพระพิทักษ์ชินประชา ให้เข้าพักแบบเอ็กซ์คลูซีฟครั้งแรกในรอบ 50 ปี

Focus
  • อังมอเหลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมจีนที่นิยมสร้างในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 โดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากทางปีนัง โดยในตัวเมืองเก่าภูเก็ตมีอังมอเหลาอยู่ประมาณ 20 หลัง
  • ลักษณะสถาปัตยกรรมของบ้านพระพิทักษ์ชินประชาเป็นแบบนีโอคลาสสิก (Neo-classic) มีหลังคาทรงปั้นหยาและมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ลักษณะภายนอกที่โดดเด่นคือมุขรูปเหลี่ยมตรงกึ่งกลางอาคารและราวลูกกรงปูนปั้นสีขาว

สายประวัติศาสตร์ที่ชอบกลิ่นอายของบ้านเก่าซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวทางศิลปะ สถาปัตยกรรม และเรื่องเล่าความเป็นมาที่ยาวนานต้องไม่พลาดข่าวนี้เมื่อ บ้านพระพิทักษ์ชินประชา หนึ่งในคฤหาสน์หรูหรือ อังมอเหลา ที่โด่งดังของภูเก็ตได้ติดสินใจประกาศเปิดบ้านให้แขกผู้มาเยือนได้เข้าพักเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะสงกรานต์ 2565 เพียง 3 วัน 2 คืน เท่านั้น ผ่านการจองในแพลตฟอร์ม Airbnb

บ้านพระพิทักษ์ชินประชา

หากเอ่ยถึงจุดเช็กอินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือนภูเก็ตคงหนีไม่พ้นกลุ่มตึกแถวสองชั้นแบบชิโนยูโรเปี้ยนในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งนอกจากจะสะท้อนอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนกับยุโรปแล้ว ตึกเหล่านี้ยังบอกเล่าเรื่องราวการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาตั้งรกรากยังเกาะภูเก็ต แหล่งทรัพยากรแร่ดีบุกของประเทศไทยในอดีต เช่นเดียวกับคฤหาสน์ที่เรียกว่า อังมอเหลา ซึ่งในจังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะตัวเมืองเก่ามีอังมอเหลามากกว่า 20 หลังให้ได้แวะชม ในภาษาจีนฮกเกี้ยนคำว่า “อังมอ” แปลว่า “ผมแดง” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกชาวต่างชาติที่เชื้อสายยุโรปหรือชาวผิวขาวโดยที่มิได้ระบุเชื้อชาติหรือสัญชาติ ส่วนคำว่า “เหลา” หมายถึง “ตึก” หรือ “คฤหาสน์” ดังนั้นคำว่า อังมอเหลา จึงมีความหมายว่า คฤหาสน์แบบฝรั่ง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ตึกฝรั่งนั่นเอง

สำหรับคฤหาสน์หลังใหญ่สีเหลืองครีมที่เรียกขานกันในย่านเมืองเก่าภูเก็ตว่า บ้านพระพิทักษ์ชินประชา หลังนี้ที่ปัจจุบันให้ร้านอาหารไทย Blue Elephant เช่าพื้นที่ เป็นบ้านที่อำมาตย์ตรีพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม้าเสียง) ต้นสกุลตัณฑวณิช ผู้ร่ำรวยจากกิจการเหมืองแร่ดีบุกและค้าขายกับปีนัง สร้างขึ้นราว พ.ศ.2447 ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นเรือนหอให้บุตรชายคนโตคือ ขุนชินสถานพิทักษ์

พระพิทักษ์ชินประชาสร้างบ้านไว้ในบริเวณเดียวกันไว้ถึง 2 หลังด้วยกันบนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ โดยบ้านหลังแรกคือ บ้านพระพิทักษ์ชินประชา ส่วนอีกหลังคือ บ้านชินประชา ซึ่งสร้างหลัง พ.ศ.2454 ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เรียนรู้เรื่องวิถีบาบ๋า ย่าหยา

บ้านพระพิทักษ์ชินประชา
บ้านพระพิทักษ์ชินประชา

สำหรับลักษณะสถาปัตยกรรมของบ้านพระพิทักษ์ชินประชาเป็นแบบนีโอคลาสสิก (Neo-classic) มีหลังคาทรงปั้นหยาและมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ลักษณะภายนอกที่โดดเด่นคือมุขรูปเหลี่ยมตรงกึ่งกลางอาคารและราวลูกกรงปูนปั้นสีขาวใต้แนวหน้าต่าง และในช่วงสงกรานต์ 2565 นี้ บ้านพระพิทักษ์ชินประชาได้ถูกปรับโฉมใหม่ให้กลายเป็นโรงแรมที่พัก ออกแบบโดย ศรัณย์ เย็นปัญญา ดีไซเนอร์ชาวไทยที่ได้ทำการออกแบบตกแต่งพื้นที่ใหม่ในคอนเซ็ปต์การรำลึกต่อสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งได้เลือกผลงานออกแบบชิ้นสำคัญของนักออกแบบไทยมาร่วมตกแต่งพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น โยธกา (Yothaka), ฆิด-ตา-โขน, Masaya, สัมผัส แกลเลอรี, Thaniya และ โม จิรชัยสกุล ผสมผสานกับเครื่องเรือนคลาสสิกของชาวภูเก็ตที่เป็นของเดิมอยู่ในคฤหาสน์หลังเก่าและจากพิพิธภัณฑ์ในภูเก็ต และนอกจากบรรยากาศที่ชวนนึกไปถึงยุคเหมืองแร่ภูเก็ตรุ่งเรืองแล้ว อีกความพิเศษของการเข้าพักครั้งนี้คือเมนูอาหารไทยชุด “เทศกาลสงกรานต์” โดย เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟใหญ่ประจำร้านอาหารไทย Blue Elephant

บ้านพระพิทักษ์ชินประชา เปิดให้เข้าพัก 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 15-17 เมษายน 2565 นี้ ในอัตราค่าเข้าพัก 50 ดอลล่าร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1,700 บาท) โดยเปิดให้จองได้ในวันที่ 5 เมษายน 2565 เวลา 8.00 น. ผ่าน airbnb.com/governorsmansion ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี ที่คฤหาสน์หลังใหญ่นี้ได้กลับมาเปิดประตูต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองให้ได้มาพักค้างคืนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตอีกครั้ง


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite