ย้อนฟัง หมอลำโบราณ ทำไมอีสานยังคงแว่วหวานด้วยเสียง หมอลำ
Arts & Culture

ย้อนฟัง หมอลำโบราณ ทำไมอีสานยังคงแว่วหวานด้วยเสียง หมอลำ

Focus
  • หมอลำพื้น เป็นหมอลำพื้นบ้านดั้งเดิม หมายถึงการเล่านิทานพื้นบ้านโดยมีหมอลำเป็นคนเล่า และมีหมอแคนเป็นผู้ให้ทำนองดนตรี
  • ขอนแก่น ถือได้ว่าเป็นจังหวัดในภาคอีสานที่โด่งดังจนได้ฉายา เมืองแห่งหมอลำ
  • แม่วันดี หรือ ดร.วันดี พลทองสถิตย์ หรือ หมอลำอุดมศิลป์ เป็นคณะหมอลำที่ยังคงลำหมอลำพื้นแบบดั้งเดิม ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน

ว่ากันว่ารสชาติข้าวเหนียวส้มตำแซ่บอีหลีฉันใด รสชาติการฟัง หมอลำ ของชาวอีสานก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างกัน แต่อรรถรสของหมอลำไม่ได้มีเพียงความสนุกสนานม่วนชื่นแค่ หมอลำซิ่ง หมอลำเพลิน อย่างที่คนในภูมิภาคอื่นๆ เข้าใจและกลายเป็นภาพจำของหมอลำเท่านั้น หากจะตามหารสความรื่นรมย์ของ หมอลำ จริงๆ ต้องย้อนไปที่จุดเริ่มต้นฉบับหมอลำโบราณที่มีรากมาจากวัฒนธรรมชาวบ้านโดยมี หมอ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในการใช้ เป็นผู้เล่า ส่วนคำว่า ลำ นอกจากจะหมายถึงการขับร้องแล้ว ก็ยังเป็นลักษณะนามบอกถึงความยาว เช่น ลำไม้ไผ่ ลำน้ำ รวมทั้งวรรณคดีเรื่องยาวก็เรียกว่า ลำ เช่นกัน อย่างลำการะเกด ลำสินไซ (สังสินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย)

หมอลำ
แม่วันดี หรือ ดร.วันดี พลทองสถิตย์ หรือ หมอลำอุดมศิลป์

ดังนั้น หมอลำ ในความเข้าใจของคนอีสานสมัยก่อนจึงหมายถึงคนที่สามารถจดจำวรรณคดีเรื่องยาวและนำมาบอกเล่าผ่านการท่อง ใส่ท่วงทำนองลงไป เช่นเดียวกับท่วงทำนอง หมอลำพื้น ของ แม่วันดี หรือ ดร.วันดี พลทองสถิตย์ หรือ หมอลำอุดมศิลป์ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ Sarakadee Lite ได้มีโอกาสรับฟังในกิจกรรม Molam House Hopping หนึ่งในไฮไลต์งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม พ.ศ. 2565

หมอลำ

“คนอีสานสมัยก่อนมี หมอลำ อยู่ในวิถีชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมต่างๆ เช่น หมอลำผีฟ้า ในส่วนของหมอลำบันเทิงที่เราเห็นในปัจจุบันมีต้นกำเนิดจาก หมอลำพื้น ซึ่งเป็นหมอลำพื้นบ้านดั้งเดิม หมายถึงการเล่านิทานพื้นบ้านโดยมีหมอลำเป็นคนเล่า หมอลำหนึ่งคนจะสวมบทบาทเป็นทุกตัวละครในละครเรื่องนั้น และใส่ทำนองดนตรีจากแคน หมอลำพื้นจึงถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของหมอลำที่พัฒนาต่อมาสู่หมอลำยุคใหม่ เช่น หมอลำซิทคอม หมอลำกลอน หมอลำซิ่ง ที่สร้างเศรษฐกิจนับพันล้านในอีสานปัจจุบัน”

อาทิตย์ กระจ่างศรี อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มต้นอธิบายถึงรากเหง้าหมอลำเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจสำหรับคนต่างถิ่นอย่างเราๆ ที่เดินทางไปถึงบ้านแม่วันดี ครูหมอลำแห่งเมืองขอนแก่นที่กำลังเตรียมตัวลำ หมอลำพื้น ที่ดูแล้วก็คลับคล้ายกับวงดนตรีทรีโอ้ของฝรั่ง เพราะมีเพียง 3 คนดนตรีก็สามารถเปิดม่านการแสดงได้ ในครั้งนี้มี แคน กลอง และแม่วันดีผู้ทำหน้าที่ หมอลำ สวมผ้าซิ่นอีสาน เสื้อผ้าไหม และมีผ้าขาวม้าเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงเพียงหนึ่งเดียวที่จะสร้างความบันเทิงต่อจากนี้ให้ผู้ชม ซึ่งการที่หมอลำต้องจดจำเนื้อเรื่องทั้งหมดและด้นสดโดยไม่ต้องดูบท ทำให้หมอลำพื้นกลายเป็นหมอลำโบราณที่หาชมได้ยาก และไม่ค่อยมีคณะที่เจาะจงแสดงหมอลำประเภทนี้มากนัก

หมอลำ
อาทิตย์ กระจ่างศรี อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“คำว่า พื้น มาจากภาษาอีสานว่า เว้าพื้น หมายถึงการพูดถึงคนนั้นๆ หรืออาจหมายถึงคำว่า พื้นบ้าน หมายถึงการเล่าอยู่กับพื้นบ้านโดยไม่มีเวที ดังนั้นคำว่า พื้น จึงมีได้หลายความหมาย แต่โดยรวม หมอลำพื้น เป็นการเล่าเรื่องที่สื่อให้เห็นถึงลักษณะของตัวละคร ไม่จำเป็นต้องมีเวทีใหญ่โต แต่เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพชัดเจน ผู้เล่าจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เข้ามาช่วยเสริมในการขยายความว่าตัวละครนั้นๆ คือใคร มีลักษณะอย่างไร กำลังทำอะไรอยู่ และอุปกรณ์ที่ว่าก็คือ ผ้าขาวม้า เป็นสื่อที่หมอลำใช้ให้เห็นภาพตัวละครมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ชาย ผู้หญิง พระอินทร์ ท่าทางขี่ม้า ลงเรือ หมอลำก็จะใช้ผ้าขาวม้าเป็นสื่อหลักในการสื่อสารกับคนดู บางคนจึงเรียกการแสดงนี้ว่า หมอลำผ้าขาวม้า”

อาจารย์อาทิตย์ ขยายภาพของหมอลำพื้นที่แม่วันดีกำลังแสดงอยู่เบื้องหน้า ซึ่งเป็นหมอลำในแบบที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยนัก โดยเมื่อจะเปลี่ยนบท เปลี่ยนตัวละคร แม่วันดีก็จะนำผ้าขาวม้ามามัด ม้วน คลี่คลายออกเป็นลักษณะท่าทางต่างๆ เช่นเมื่อจะขี่ม้า แม่วันดีก็ก้าวคร่อมผ้าขาวม้าให้เหมือนกำลังขี่ม้าอยู่จริงๆ

หมอลำ
เมื่อจะขี่ม้า แม่วันดีก็ก้าวคร่อมผ้าขาวม้าให้เหมือนกำลังขี่ม้าอยู่จริงๆ

“จริงๆ แล้วในขอนแก่นหมอลำพื้นเกิดขึ้นมาจากคุณ พ่ออินตา บุตรทา ศิลปินหมอลำชาวขอนแก่นผู้วางฐานรากทำให้เกิดคณะหมอลำชื่อดังมากมาย ท่านมีลูกศิษย์ไม่ต่ำกว่า 500 คน เช่น คณะเทพประสิทธิ์ศิลป์  คณะประถมบันเทิงศิลป์ คณะระเบียบวาทะศิลป์ คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ล้วนเป็นลูกศิษบย์ของคุณพ่ออินตา ท่านเป็นหมอลำพื้นที่ต่อมาได้พัฒนาสู่เป็นหมอลำเมืองที่สร้างรายได้ในภาคอีสานอยู่ทุกวันนี้”

อาจารย์อาทิตย์ย้อนเล่าถึงประวัติศาสตร์หมอลำในขอนแก่นซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดแดนอีสานที่โด่งดังเรื่องหมอลำอย่างมากจนได้ฉายาว่า เมืองหมอลำ โดยประวัติของหมอลำนั้นนอกจากจะมีรากมาจากการเล่านิทานพื้นบ้านแล้ว ผู้รู้หลายคนยังได้ให้ความเห็นว่าหมอลำยังมีพัฒนาการมาจากการอ่านหนังสือในงาน มหรสพงันเฮือนดี (สมโภชเรือนที่มีคนตาย) และ งันหม้อกรรม (สมโภชเรือนที่มีหญิงคลอดลูก) เมื่อมีงานก็มักจะเชิญหมอเว้า (พูด) มาเว้าให้ฟัง ซึ่งบางคนก็สามารถท่องจำเนื้อหาได้โดยไม่ต้องดูหนังสือ และในงานเหล่านี้ก็มักมีคนเป่าแคนอยู่แล้ว เว้าไปเว้ามาก็เกิดสอดประสานกับทำนองของเสียงแคน และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมหมอลำและหมอแคนจึงต้องมีคู่กัน และเพียง 2 คนก็สามารถตรึงคนดูได้ไม่ต่างจากดนตรีวงใหญ่เลยทีเดียว

หมอลำ
ผ้าขาวม้า อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่ขาดไม่ได้ในหมอลำพื้น

ในวันที่เราได้เข้าร่วมกิจกรรม Molam House Hopping แม่วันดีร้องหมอลำเรื่อง จำปาสี่ต้น เป็นนิทานพื้นบ้านและเป็นกลอนลำมาตรฐานที่คนจะเป็นหมอลำต้องท่องจำให้ได้ เพราะเรื่องจำปาสี่ต้นนี้สามารถแตกแขนงออกไปเป็นเรื่องอื่นๆ ได้ อีกทั้งมีตัวละครมาก ว่ากันว่าใครที่สามารถลำเรื่องจำปาสี่ต้นคนเดียวได้ทั้งหมดเท่ากับได้รับประกาศนียบัตรการันตีว่าสามารถออกไปรับงานหมอลำได้

แม่วันดี หรือที่รู้จักในนาม หมอลำอุดมศิลป์ ถือได้ว่าเป็นหมอลำที่ร้องหมอลำทำนองขอนแก่นดั้งเดิมนั่นก็คือ หมอลำพื้น เป็นการร้องหมอลำเน้นไปที่เนื้อเรื่องมากกว่าการเอื้อนทำนอง โดยหมอลำจะต้องจำเนื้อเรื่องทั้งหมดให้ได้ บ้างก็ต้องมีด้นสดสอดแทรก ทั้งนี้แม่วันดีเคยให้สัมภาษณ์กับศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า ตนเองนั้นรักชอบหมอลำมาตั้งแต่ยังเด็กและได้เข้าร่วมแสดงในคณะหมอลำสามัคคีรุ่งนครเพื่อหารายได้ จากนั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จักในภาคอีสานเมื่อได้รับบทเป็นนางเอกหมอลำในการแสดงหมอลำพื้นบ้านเรื่อง “ปลาบู่ทอง” แม้ตอนนั้นเป็นเพียงการบันทึกเสียงที่ผู้ฟังยังไม่ได้เห็นหน้า ทว่าเพียงได้ยินเสียงลำ ผู้ฟังก็ถามหานางเอกของเรื่องกันแล้ว

แม่วันดีเริ่มเป็นที่รู้จักของคนอีสานมากยิ่งขึ้นเมื่อได้แสดงเป็นนางเอกหมอลำเรื่อง “ขูลู – นางอั้ว” และจากนั้นก็ได้ตัดสินใจตั้งคณะหมอลำ “อุดมศิลป์” ใน พ.ศ. 2516 โดยเน้นหมอลำพื้น หมอลำโบราณมาโดยตลอดจนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลำเรื่อง) ประจำปี พ.ศ. 2559 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมอลำอุดมศิลป์

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมองว่า หมอลำ อย่างแม่วันดีคือหมอลำที่ฟังกันเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ในอีสานรึเปล่า อาจารย์อาทิตย์ซึ่งศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมภาคอีสานให้ความเห็นตรงกันข้ามว่า วัยรุ่นยุคใหม่ก็หันมาสนใจหมอลำกันไม่น้อย

“แต่ก่อนเราจะมองว่าศิลปะพวกนี้ร้องอยู่ในหมู่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้น พอมาเห็นจริงๆ แล้ววัยรุ่นเองก็สนใจเรื่องนี้ อย่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองชอบศิลปะหมอลำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกระแสวัฒนธรรมมาแรง ถ้าเกิดมีงานหมอลำ งานบุญประเพณีที่เป็นรากเหง้าของอีสาน นักศึกษาจะชอบมากและเข้าร่วมตอลอด วัฒนธรรมไม่ได้หายไป และไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนเฒ่าคนแก่ เพียงแต่มันปรับเปลี่ยนไปอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง

“อย่างหมอลำมีการพัฒนามาตลอดตามสภาพสังคมอีสานที่ได้ปรับเปลี่ยนไป หมอลำเองไม่ได้มีกรอบมาจำกัดว่าต้องหยุดพัฒนา หรือห้ามทำแบบนั้นแบบนี้ เพราะนี่คือศิลปะชาวบ้าน ใครๆ ก็สามารถทำได้ ถ้าหมอลำยุคใหม่แต่ละคณะจะปรับ ประยุกต์ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองก็ทำได้ทั้งนั้น พอยุคสมัยเปลี่ยน คนเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน หมอลำก็ต้องเปลี่ยนไป เช่น ใช้เทคโนโลยีมาผสมผสาน มีการเปลี่ยนคอนเทนต์ไปตามยุคสมัย สมัยก่อน หมอลำ รับใช้บริบทในส่วนของพื้นบ้าน ไม่มีค่าจ้างอะไรมากมาย ยิ่งสมัยเก่าก่อนเลยหมอลำเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนอีสานไม่ได้มีการว่าจ้าง แต่ในปัจจุบันหมอลำเป็นเรื่องของอาชีพ การว่าจ้าง คณะหมอลำจึงต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องของกระแสนิยมถึงจะอยู่รอด”

หมอลำอุดมศิลป์

สำหรับหมอลำยุคใหม่ในปัจจุบันนี้อาจารย์อาทิตย์ให้ความเห็นว่าค่อนข้างฉีกจากหมอลำพื้นทั้งในเรื่องเนื้อหาและวิธีการ มีทั้งไลฟ์สด บางครั้งก็อาจจะไม่ใช่หมอลำร้อยเปอร์เซนต์ เป็นแนวการแสดงคอนเสิร์ตมากกว่า ส่วนถ้าเป็นหมอลำกลอนแบบดั้งเดิมต้องใช้เวลานาน บางคณะก็เลยใช้การแสดงละครเวทีในวรรณกรรมอีสานมาดัดแปลงทำเป็นโชว์สั้นๆ มีการร้องเพลงผสม ทำเป็นโชว์เล็กๆ ใช้เวลาสั้นๆ อาจจะร้องไม่นานเหมือนแต่ก่อน หรือถ้าเป็นหมอลำพวกรถแห่ก็จะร้องเพลง พูดคุยกับแฟนคลับ มีการเชิญศิลปินต่างๆ มาร่วมแจม เพื่อให้กระแสของวงตัวเองยังอยู่ แต่ทั้งหมดเป็นพัฒนาการที่จะทำให้แว่วสำเนียงเสียงของหมอลำยังคงดังอยู่คู่สังคมอีสานต่อไป

หมอลำอุดมศิลป์

อ้างอิง

Fact File

  • หมอลำพื้น หมอลำเรื่อง : จัดเป็นหมอลำอีสานยุคดั้งเดิม มีเพียงหมอลำ และหมอแคน ส่วนนิทานที่ใช้ลำก็เป็นนิทานวรรณคดีพื้นบ้านอีสาน เช่น เรื่องการะเกด สังข์ศิลป์ชัย ไม่ต้องมีเวทีหรือพิธีรีตรองก็สามารถเปิดการแสดงได้ โดยหมอลำจะแสดงเป็นทุกบทบาท มีผ้าขาวม้าเป็นอุปกรณ์การแสดง
  • หมอลำผีฟ้า : เป็นหมอลำที่มาพร้อมกับความเชื่อในเรื่องรักษาโรค ให้หมอลำผีฟ้าช่วยรักษา
  • หมอลำกลอน : พัฒนาต่อมาจากหมอลำพื้น มีหมอลำ 2 คน คอยลำถามโต้ตอบสลับกันทั้งเรื่องราวข่าวสาร และสารถรอบตัว หรือไม่ก็ลำเกี้ยวกัน
  • หมอลำหมู่ : เป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลมาจากลิเกภาคกลาง มีฉากใหญ่โตแต่ก็ยังอิงกับนิทานพื้นบ้านอยู่
  • หมอลำเพลิน :  หมอลำยุคใหม่เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.2510 ได้รับอิทธิพลจากวงดนตรีลูกทุ่ง มีเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดไม่จำกัด เน้นจังหวะดนตรีที่รวดเร็วสนุกสนาน

Author

ณชกนก เหล่าธนากิจ
ชื่นชอบการเดินทาง ผจญภัย ค้นหาสิ่งแปลกใหม่ มักได้รับพลังงานบวกและหาแรงบันดาลในการใช้ชีวิตจากการถ่ายรูปสถานที่ท่องเที่ยว
ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว