บราเก่าเราขอ แคมเปญที่ชวนเปลี่ยนบราเก่าเป็นพลังงานและศิลปะ
- “The Art Of Waste เปลี่ยนบราเก่าให้เป็นศิลป์” นิทรรศที่นำเสื้อชั้นในตัวเก่าที่เสื่อมสภาพ ไม่ได้ใช้แล้วมาสร้างสรรค์งานศิลปะ
- บรา เป็นไอเท็มสำคัญสำหรับผู้หญิงซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ของบราผลิตจากโพลีเมอร์ ส่งผลให้ บรา 1 ตัว ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 400 ปี
ผู้หญิงไทยหลายคนอาจจะเคยประสบปัญหาไม่รู้ว่าเสื้อชั้นในที่ไม่ใช้แล้ว หรือเสื่อมสภาพไม่รองรับสรีระได้แล้วควรจะต้องทิ้งอย่างไร บางคนแยกใส่ถังขยะแห้ง แต่บางคนก็ทิ้งรวมกับขยะเปียก ใส่ในถังขยะมูลฝอยประจำบ้าน และก็มีหลายคนอีกเช่นกันที่มีความอายจนเก็บเสื้อชั้นในเหล่านั้นไว้ไม่กล้าที่จะทิ้ง แต่ทราบหรือไม่ว่าบราที่ผู้หญิงต้องสวมใส่ทุกวันหากแยกทิ้งอย่างถูกวิธีจะสามารถลดขยะได้มหาศาล และนั่นจึงเป็นที่มาของแฮชแท็ก บราเก่าเราขอ แคมเปญที่ชวนผู้หญิงทิ้งบราอย่างถูกวิธี ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจว่าตลอด 11 ปีที่ทาง วาโก้ ได้ทำแคมเปญ วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ สามารถกำจัดบราเสื่อมสภาพที่มีผู้นำมาบริจาคมากถึง 619,000 ตัว รวมน้ำหนัก 61,900 กิโลกรัม
“บรา เป็นไอเท็มสำคัญสำหรับผู้หญิงซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ของบราผลิตจากโพลีเมอร์ ส่งผลให้ บรา 1 ตัว ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 400 ปี อีกทั้งการเผาในที่โล่งยังสร้างมลพิษและฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย ทาง วาโก้ จึงเปิดรับบริจาคบราเก่าเสื่อมสภาพทุกแบรนด์เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยร่วมกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP นำบราที่ได้รับบริจาคไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ทดแทนการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าในระบบปิดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของ TPIPP และขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงานจากฟอสซิลต่างๆ ลดผลกระทบการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงแคมเปญที่ชวนผู้หญิงมาแยกขยะจากบรา เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีแบบ Zero Waste โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาทาง วาโก้ ได้รับบริจาคบราเก่าจำนวน 130,000 ตัวรวมน้ำหนัก 13,000 กิโลกรัม และสำหรับในปี 2565 นี้วาโก้ไม่ได้มาชวนแยกขยะจากบราเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีเท่านั้น ทว่ายังได้นำบราเก่ามาสร้างเป็นงานศิลปะในชื่อ Awaken Tree โดย รศ.ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักออกแบบสิ่งทอยอดเยี่ยมแห่งปี 2560 ซึ่งศิลปินได้เอ่ยถึงความท้าทายของการทำงานศิลปะชิ้นนี้ไว้ว่า ความยากคือการที่เสื้อชั้นใน 1 ตัว ประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็กๆ หลายส่วน เช่น ตะขอ สายเสื้อใน โครง โพลีเมอร์ที่เป็นเต้า ดังนั้นขั้นตอนแรกจึงต้องค่อยๆ ถอดแยกส่วนประกอบชิ้นเล็กๆ เหล่านั้นเพื่อมาประกอบสร้างเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ที่จะทำให้เห็นว่าบราเสื่อมสภาพที่ไม่ใช้แล้วสามารถนำมาต่อยอดเป็นชิ้นงานใหม่ๆ ได้
“ความทนทานของบราเป็นโจทย์ที่นำมาใช้ในการออกแบบ Awaken Tree ที่คล้ายกับต้นคริสต์มาส มีเครื่องแขวนต่างๆ ตกแต่ง ซึ่งเครื่องแขวนเหล่านี้ทำจากชิ้นส่วนต่างๆ ของบราซึ่งทนทาน เมื่อทำเป็นชิ้นงานแล้วก็สามารถนำมาใช้ในปีต่อๆ ไปได้อีก เป็นการสื่อให้เห็นว่า หากเรารู้จักกานำมาใช้อย่างถูกวิธี บราเก่าตัวหนึ่งก็สามารถสร้างสิ่งใหม่ หรือถ้ากำจัดอย่างถูกวิธีก็กลายเป็นพลังงานได้”
สำหรับต้นไม้ Awaken Tree นี้เป็นหนึ่งในผลงานที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ “The Art Of Waste เปลี่ยนบราเก่าให้เป็นศิลป์” ร่วมกับผลงานจากดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ นะโม–ติณห์ ตันโสภณ ผู้ก่อตั้ง Post-Thesis ที่นำชิ้นส่วนต่างๆ ของบรามาประกอบสร้างเป็นงานแฟชั่นที่ร่วมสมัยมาก
และสำหรับสาวๆ คนไหนที่ต้องการมีส่วนร่วมในศิลปะจากบราชิ้นต่อไป หรือต้องการนำบราเก่ามาทิ้งเพื่อส่งต่อไปกำจัดอย่างถูกวิธี สามารถนำมาใส่กล่องรับบริจาคได้ภายในงานโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นยี่ห้อวาโก้ และเมื่อจบนิทรรศการแล้วก็ยังสามารถนำบราที่ไม่ใช้แล้วทุกยี่ห้อมาส่งต่อเข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธี และส่งได้ตลอดทั้งปี ที่ เคาน์เตอร์วาโก้ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือส่งไปรษณีย์ถึงฝ่าย CSR บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 132 ซ.เจริญราษฎร์ 7 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ 10120
Fact File
- “The Art Of Waste เปลี่ยนบราเก่าให้เป็นศิลป์” จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณโถงชั้น 1 ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 มีนาคม 2565 เวลา 10.00-19.00 น.
- ข้อมูลเพิ่มเติม www.facebook.com/wacoal.th