เยือน ย่านพระนคร กับ 8 ไฮไลต์เทศกาล รวม-มิตร-เมือง
- ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (Urban Ally) มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดตัวเทศกาล รวม-มิตร-เมือง พลิกโฉมย่านกรุงเก่าพระนครด้วยความคิดสร้างสรรค์
- เทศกาล รวม-มิตร-เมือง เป็นหนึ่งในโปรแกรมของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
การขยายพื้นที่สร้างสรรค์ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 มาสู่ ย่านพระนคร ทำให้พื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ท่าพระจันทร์ ปากคลองตลาด เสาชิงช้า บางลำพู เรื่อยไปถึงสะพานพระปกเกล้ากลับมาครึกครื้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีการวัดการเติบโตของเศรษฐกิจจากบรรดาร้านค้าเล็กๆ ในเส้นทางที่เหล่าฮ็อปเปอร์ผู้เข้าชมงานเดินผ่านว่าจะได้ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเท่าไร แต่สิ่งที่เป็นผลโดยตรงของการจัดงานครั้งนี้ก็คือ การโชว์ศักยภาพของพื้นที่ ย่านพระนคร และการรับรู้ถึงการมีอยู่ของรากเหง้าประวัติศาสตร์เมืองในบางแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมฉบับกรุงเทพฯ ดั้งเดิมที่เป็นจุดแข็งของย่านนี้ ซึ่งหลายคนอาจจะเพิ่งรู้เลยด้วยซ้ำว่าโรงหล่อพระ แหล่งทำบาตร แหล่งขายส่งสังฆทานระดับประเทศกระจุกตัวรอบเสาชิงช้า รวมทั้งช่างออกแบบรองเท้า ช่างตัดขึ้นต้นแบบกระเป๋าหนังฝีมือดีก็อยู่รวมในย่านพระนครแห่งนี้ หรืออย่างอาหารจากร้านเล็กๆ ในบางลำพูเองก็เพิ่งมีการเปิดเผยคุณค่าที่รอให้มีคนมาเพิ่มมูลค่าหลังจากงานนี้เช่นกัน
“เราตีโจทย์ความสร้างสรรค์ของ ย่านพระนคร ว่าเป็นความสร้างสรรค์ที่มีมาแต่เดิม เป็นความสร้างสรรค์ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนในย่านนี้มานาน แต่อาจจะไม่มีใครมองเห็น หรือหลงลืมไป เราก็เลยอยากจะกระจายต้นทุนนี้ออกไปไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรืออาคารเก่าปิดร้างที่บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก รู้ถึงคุณค่า เราอยากเปิดให้คนทั่วไปได้เห็นว่า ย่านพระนคร เป็นย่านที่มีต้นทุนเรื่องวิถีชีวิต ต้นทุนเรื่องคน ต้นทุนเรื่องสถาปัตยกรรม ต้นทุนเรื่องวัฒนธรรม มันคือต้นทุนดั้งเดิมของย่านที่สามารถนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดได้”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง หรือ Urban Ally บอกเล่าคีย์ของการออกแบบเส้นทางสร้างสรรค์ย่านพระนครในชื่อ เทศกาล รวม-มิตร-เมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมของ Bangkok Design Week 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ส่วนจะมีพิกัดไหนที่เป็นไฮไลต์ของ รวม-มิตร-เมือง ในฝั่งพระนครบ้างนั้น Sarakadee Lite ขอพานั่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแล้วเปิดเพลย์ลิสต์ มิตรหู Sonic Pranakorn จากนั้นก็ออกทัวร์พระนครตั้งแต่เช้าจรดค่ำกันเลย
01 ศิลปะข้อมูล : Data Art
สถานที่ : มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิลปิน : รวมศิลปิน
เวลา : 11.00-20.00 น.
นิทรรศการที่นําเสนอการแปรเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นทัศนศิลป์ ผลงานต่อยอดจากงานวิจัย โดย อาจารย์สิริพร ด่านสกุล จาก City Reinventing Lab แห่ง Urban Ally ซึ่งได้นําข้อมูลมาถ่ายทอดออกแบบให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัย 6 ชิ้น ได้แก่ Color & Memory, Recall, Instagramble Memory, Homage to the Fallen, Anemography และ Anemochore (sound effect) ทั้งหมดจัดแสดงตั้งแต่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าพระ ไปจนถึงสวนแก้ว ของมหาวิทยาลัย มีทั้งงานสำหรับชมกลางวันและงานแสงสีให้ได้เลือกชมในยามค่ำคืน
02 สะพานดอกไม้
สถานที่ : สะพานข้ามคลอง ข้างโรงเรียนราชินี
ศิลปิน : 27 JUNE Studio
เวลา : 17.00-21.00 น.
ปากคลองตลาดยามค่ำคืนคึกคักขึ้นเมื่อดอกไม้สัญลักษณ์ของย่านปากคลองตลาดถูกนำมาออกแบบจัดวางใหม่ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟ ให้ดอกไม้ได้มีความสัมพันธ์ ทักทาย โต้ตอบ กับกับผู้คนที่เดินผ่านไปมา โดยศิลปินผู้ออกแบบได้แก่ 27 JUNE Studio ซึ่งได้ทดลองสร้างสะพานดอกไม้ขึ้นมาบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่อยู่ด้านข้างโรงเรียนราชินี เพิ่มความสนุกยิ่งด้วยการให้ผู้เข้าชมสแกน QR Code พิมพ์ข้อความที่ต้องการเพื่อให้ไปปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะบนสะพานดอกไม้แห่งนี้
03 ตามรอยรส (ชาติ) ย่านบางลำพู
สถานที่ : พิพิธบางลำพู
ตามรอยรส (ชาติ) ย่านบางลำพู ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของเทศกาล รวม-มิตร-เมือง ที่ถูกจับจองที่นั่งในกิจกรรมต่างๆ จนเต็มอย่างรวดเร็ว เพราะตลอด 9 วันของการจัดงาน ที่นี่มีความหลากหลายตั้งแต่เสวนาอาหารจากย่านบางลำพู ชิมอาหารรสมือคนบางลำพู คลาสสอนทำอาหาร เวิร์คช็อปเกี่ยวกับอาหาร ชมสารคดีตามหาคุณค่าของอาหารสำรับบางลำพูไปจนถึงตลาดนัดอาหารซึ่งจัดขึ้นเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ 12-13 กุมภาพันธ์นี้
ไฮไลต์ที่หลายคนรอคอยของโปรแกรมอาหารครั้งนี้คือ “โต๊ะชิมรสชาติ” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์โดย อ.ดร. นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์อาหารและวัฒนธรรม ร่วมกับนักออกแบบ Op-portunist พาไปเสาะแสวงหารสชาติบางลำพูมาบรรจุลง Box Set ซึ่งบางเมนูอาจจะดูเหมือนง่ายๆ หากินได้ทั่วไปอย่างข้าวแช่ ขนมชั้น โรตีแกงมัสมั่น แต่เมื่ออาหารเหล่านั้นถูกจัดเสิร์ฟพร้อมเรื่องเล่าที่ชวนให้ตระหนักถึงคุณค่าของอาหารไทยริมทางราคาแสนถูก บอกเลยว่าจะทำให้มุมมองต่ออาหารข้างทางในย่านบางลำพูเปลี่ยนไป
04 Hello 2022
สถานที่ : ไปรษณียาคาร
ศิลปิน : APLD The Lighting Company และStudio Visual Assembly
เวลา : จันทร์-ศุกร์ เวลา 19:00 – 21:00 น. เสาร์-อาทิตย์ เวลา 19:00 – 22:00 น.
บริเวณเชิง สะพานพระพุทธยอดฟ้า ทางเหนือของคลองโอ่งอ่างคือที่ตั้งของ ไปรษณียาคาร ซึ่งปกติไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่ในงาน รวม-มิตร-เมือง ครั้งนี้ ทาง Urban Ally ได้ชวน APLD The Lighting Company และ Studio Visual Assembly จัดแสดงการออกแบบส่องสว่างสะท้อนความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเล่าเรื่องผ่านกาลเวลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงช่วงของยุคสมัยของพื้นที่บริเวณนี้ที่แปรเปลี่ยนจนมาถึงยุคปัจจุบัน ผ่านการแสดง 3 ฉาก 3 จุดรอบไปรษณียาคาร เริ่มจาก ฉากยุคปัจจุบัน เล่าผ่านสีของแสงขาวกระจ่าง เป็นที่นั่งบริเวณริมรั้วเชื่อมต่อสะพานลอยฟ้า ต่อด้วย ฉากสอง เน้นแสงเงาที่ส่องผ่านต้นไม้ให้รู้สึกราวกับตกอยู่ในภวังค์ และ ฉากสาม เป็นฉากหน้าของไปรษณียาคารเล่าถึงอัตลักษณ์ของอาคารตัวแทนที่ทำการโทรเลขหลังเก่าที่สร้างไว้เป็นอนุสรณ์
นอกจากนี้ในทุกคืนยังมีการแสดง Projection mapping ฉายภาพลงบนตัวอาคารผ่านคาร์แรกเตอร์แนว POP ART ในธีม Hello 2022 เล่าถึงการกลับมามีชีวิตชีวาของสถานที่ เป็นการเชื้อเชิญให้อาคารไปรษณียาคารกลับมาทำหน้าที่อีกครั้งไม่ใช่ในฐานะอาคารที่ถูกทิ้งร้างอย่างที่ผ่านมา
05 New World x Old Town Part 2
สถานที่ : ห้างนิวเวิลด์
ศิลปิน : รวมศิลปิน
เวลา : 17.00-21.00 น. (ลงทะเบียนเข้าชมล่วงหน้า)
ย้อนไปในปี พ.ศ. 2563 New World x OldTown คือชื่อกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่สามารถเปิดประตูเหล็กที่ถูกปิดตายมาหลายปีของอดีตห้างดังย่านบางลำพูอย่าง นิวเวิลด์ ขึ้นมาได้ แต่ครั้งนั้นเป็นการจัดนิทรรศการชวนให้คนในย่านค้าขายเก่าแก่ของเกาะรัตนโกสินทร์แห่งนี้มาทบทวนข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน และขยายกลับกลายเป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ ที่ดึงเอาผู้คนนับร้อยนับพันมาให้เข้ามารู้จักอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ กำหนดเทรนด์ใหม่ๆ ด้านไลฟ์สไตล์ของเมืองไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น คอนเสิร์ต โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ลิฟต์แก้ว เซเลบริตี้คนดังของเมืองกรุงต่างก็มารวมตัวกันที่ห้างนิวเวิลด์กันทั้งนั้น และนั่นก็ทำให้ย่านค้าขายโบราณอย่างบางลำพูกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยายก่อนที่จะมีการปิดตัวลงเหลือเพียงตำนานของย่านและตึกร้าง
สำหรับใน พ.ศ.2565 นิวเวิลด์ กลับมาเปิดประตูต้อนรับผู้คนอีกครั้งในนิทรรศการ New World x Old Town Part 2 “The Reflection From the Light Source” อันเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ประชาคมบางลำพู และ เกสรลำพู เสน่ห์บางลำพู, HUI Team Design, Saturate, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กลุ่มแสงปลากบ, L&E Lighting & Equipment PCL – Thailand, Lightspace-TH, Mosaic Eins และ สนใจ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนที่คนนอกรับรู้เกี่ยวกับนิวเวิลด์และย่านบางลำพู ไม่ว่าจะเป็นสินค้าดังจากย่านบางลำพู เสียงที่สะท้อนชีวิตของย่านบางลำพู ความหลากหลายทางเชื้อชาติของย่านบางลำพู รวมทั้งกลับไปดูจุดที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของนิวเวิลด์ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล
06 เสียงพระนคร Sonic Phranakorn
สถานที่ : รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มูฟมี (Muvmi)
ศิลปิน : Hear & Found
เวลา : 11.00-20.00 น.
พื้นที่สร้างสรรค์ของย่านพระนครในเทศกาล รวม-มิตร-เมือง นั้นกระจายกันครบทุกมุมของเกาะรัตนโกสินทร์ ใครที่เดินเท้าไม่ไหว การกระจายรายได้สู่ตุ๊กตุ๊กๆ ที่จอดอยู่รอบเกาะคืออีกหนึ่งตัวเลือก และพิเศษกับการจับมือกับ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มูฟมี (Muvmi) ที่นอกจากจะเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวกแล้ว ระหว่างการเดินทางในย่านพระนครยังมีเพลงจากเพลย์ลิสต์ “มิตรหู – Music On The Move” ที่จะชวนไปรู้จักย่านเมืองเก่าในมุมใหม่ผ่านเสียงดนตรีที่เกิดจากการตั้งคำถามถึงเสียงโดยรอบ (Soundscape) ของเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนไปพร้อมทั้งนำเสนอเสียงที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ผ่านดนตรีประกอบ โดยผู้โดยสารสามารถเรียกรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า Muvmi เพื่อเดินทางชมงานหรือย่านเมืองเก่าได้ โดยรถแต่ละคันจะมีเพลงที่แตกต่างไป ได้แก่
เพลงที่ 1 “Reverse (เคลื่อนไหวด้วยความช้าและละมุน)” เล่าถึงเสียงความสนุกสนานของย่านข้าวสาร บางลำพู พระอาทิตย์ ในบรรยากาศ Nightlife อันอึกทึกคึกโครมจากเพลงและการเต้นรำ แต่ทว่าตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ย่านนี้กลับกลายเป็นย่านที่เงียบ…กว่าปกติ
เพลงที่ 2 “Revive (เคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะ ระยิบระยิบ)” เล่าถึงเสียงที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวกรุงเทพฯ ย่านบ้านหม้อ ปากคลองตลาด ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีเอกลักษณ์ มีการค้าขายเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง มีทั้งร้านขายดอกไม้ ร้านขายเครื่องเสียง ไปจนถึงร้านอัญมณี กลายเป็นความคึกคักและขวักไขว่ สอดแทรกด้วย “เสียงของคน” ทั้งช่างฝีมือและแม่ค้าพ่อค้าที่อยู่คู่กับย่านมามากกว่า 1 ชั่วอายุ
เพลงที่ 3 “Revisit (เคลื่อนไหวซ้ำๆ แต่ทุกครั้งคือรสชาติใหม่)” เล่าถึงเสียงของย่านสามแพร่ง เสาชิงช้า ซึ่งนอกจากจะโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมตึกแถวที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและยุโรปแล้ว สองย่านนี้ยังโด่งดังด้านอาหาร หลากหลายตั้งแต่ร้านเก่าแก่คู่ย่าน ร้านสตรีทฟู้ด ไปจนถึงร้านคาเฟ่ใหม่ๆ จนทำให้โซนที่รุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์นี้ กลายเป็นจุดปักหมุดของนักกิน เพลง Revisit ถ่ายทอดจังหวะการเดินฮ็อปปิงจากร้านนั้นสู่ร้านนี้ ด้วยกรู๊ฟดนตรีแบบไทยๆ ที่ผสมผสานกลิ่นอายความเป็นเรโทร เปรียบเสมือนกับความรู้สึกที่เวลาคิดถึงย่านเมืองเก่า
07 Future Paradise
สถานที่ : โรงพิมพ์บํารุงนุกูลกิจ
ศิลปิน : The Design and Objects Association (D&O)
เวลา : 11.00-20.00 น.
นิทรรศการที่เกิดจากกลุ่มนักออกแบบชาวไทย The Design and Objects Association (D&O) กว่า 20 แบรนด์ได้ชวนกันมาขบคิดถึงเฟอร์นิเจอร์ในยุคอนาคต ซึ่งภาพแรกหลายคนอาจจะมองภาพความล้ำของเทคโนโลยีและวัสดุ ทว่าเมื่อแต่ละแบรนด์ได้ตกตะกอนความคิด อนาคตของพวกเขาแม้จะมีดีไซน์ล้ำขนาดไหนก็ยังโหยหาอดีตและรากเหง้าตัวตน นั่นจึงทำให้ผู้ชมได้เห็นการผสมผสานระหว่างวัสดุร่วมสมัยและเทคนิคหัตถกรรมท้องถิ่น และวัสดุในท้องถิ่นที่สวยเท่ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งนี่ก็คือลายซ็นต์ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทย
08 Printery Awakening
สถานที่ : โรงพิมพ์บํารุงนุกูลกิจ
ศิลปิน : SULIB , ก้องเดช หวานจริง และ ณัฐวุฒิ มีทรัพย์ทอง
เวลา : เฉพาะเสาร์ อาทิตย์ เวลา 19.00 / 19.45 / 20.30 / 21.15 น.
โรงพิมพ์บํารุงนุกูลกิจ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์เก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับมาสว่างไสวอีกครั้งโดยมี Fos Lighting Design Studio รับหน้าที่ออกแบบแสงสว่างเพื่อสะท้อนมิติของประวัติศาสตร์ให้กับอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยมีพนักงานชำนาญการพิมพ์ร่วมร้อยชีวิต ในยามกลางวันที่นี่มีนิทรรศการขนาดย่อม “หนังสือจากโรงพิมพ์ : Publishing and the Published” บอกเล่าประวัติศาสตร์โรงพิมพ์ผ่านหนังสือเก่าอายุนับร้อยปีที่เคยตีพิมพ์จากโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมาร่วมจัดแสดง ซึ่งหนังสือเหล่านี้เก็บรักษาไว้ในสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัย ศิลปากร ส่วนไฮไลต์ในยามกลางคืนของที่นี่คือ Printery Awakening การฉายแสง Projection mapping ลงบนโครงสร้างด้านนอกของอาคารออกแบบโดย SULIB , ก้องเดช หวานจริง และ ณัฐวุฒิ มีทรัพย์ทอง
สำหรับประวัติศาสตร์ของ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะโรงพิมพ์ที่รับทั้งงานราชการและงานเอกชนของคนทั่วไป เป็นโรงพิมพ์มาตรฐานขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และมีพนักงานการพิมพ์เกือบร้อยชีวิต ผลงานพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นหนังสืองานศพ หนังสือแบบเรียน รวมทั้งหนังสือของหลวง เช่น ราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น และผลงานที่สำคัญสุด คือ การพิมพ์หนังสือโดยเสด็จพระราชกุศลในงานต่างๆ รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์
การหลงเหลืออยู่ของอาคารโรงพิมพ์ขนาดใหญ่อย่างโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจบอกเล่าความรุ่งเรืองของวงการสิ่งพิมพ์ในสยามช่วงรัชกาลที่ 5 ที่มาพร้อมกับการเริ่มต้นของระบบการศึกษาไทยที่เข้าสู่ความสากลและเป็นยุคเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์รายวัน มีการเกิดขึ้นของโรงพิมพ์ทั้งของราชการ เอกชน ของคนไทย คนจีน ฝรั่ง มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรงพิมพ์มหันตโทษโรงพิมพ์กรมไปรษณีย์โทรเลขสยาม โรงพิมพ์สกุลพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงพิมพ์ศุภมิตรบำรุง โรงพิมพ์สารนคร โรงพิมพ์บ้านนายสิน โรงพิมพ์นายเทพ โรงพิมพ์อักษรนิติ์ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ โรงพิมพ์แมกฟาแลนด์ รวมทั้งโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจแห่งนี้
Fact File
- ละเอียดเพิ่มเติมเทศกาล รวม-มิตร-เมือง UrbanAlly.org และ facebook.com/urbanally.su
- ติดตามความเคลื่อนไหวของ Bangkok Design Week ได้ทาง www.bangkokdesignweek.com